สธ.ปรับเกณฑ์ลดหวานเหลือ 5% ขยายเพิ่มในกลุ่มฉลาก "ทางเลือกสุขภาพ" ให้เป็นมาตรฐานเดียว กับ "หวานน้อยสั่งได้" เผยแนวโน้มคุ้นชินลดหวานมันเค็มเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการปรับตัว เก็บภาษีความหวานช่วยมีสินค้าสุขภาพมากขึ้น
เมื่อวันที่ 28 มี.ค. นพ.เธียรชัย สุวรรณเพ็ญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดงานมหกรรม “ประเทศไทย หวานแค่ไหนพอ” ว่า สธ.มีนโยบายลดการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็มของคนไทย โดยเฉพาะการติดหวานให้น้อยลง ที่ผ่านมา นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สธ.ได้ประกาศนโยบาย “หวานน้อยสั่งได้” มอบให้กรมอนามัยขับเคลื่อน เพื่อลดปริมาณความหวานของร้านเครื่องดื่มชงลงเหลือร้อยละ 5 ส่งผลให้ขณะนี้มีภาคธุรกิจแฟรนไชส์เครื่องดื่มรายใหญ่เข้าร่วมนโยบาย “หวานน้อยสั่งได้” จำนวน 27 แบรนด์ รวมทั้งร้านค้าในท้องถิ่น (Local brand) ทั่วประเทศ อีกจำนวน 2,355 ร้าน นอกจากนี้ อย.ที่กำกับ ดูแล และส่งเสริมให้มีอาหารมีคุณภาพ ปลอดภัย มีคุณค่าและสมประโยชน์เพื่อสุขภาพที่ดี ได้สนับสนุนส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” ปัจจุบันมีจำนวน 14 กลุ่มอาหาร รวม 2,749 ผลิตภัณฑ์ จาก 444 บริษัท
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยโดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เนื่องจากพฤติกรรมเสี่ยง เช่น บริโภคอาหาร การปฏิบัติตน การออกกำลังกาย เป็นต้น จากข้อมูลด้านพฤติกรรมการบริโภคอาหารของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560–2562 พบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลทราย 2.5–2.6 ล้านตันต่อปี และ ปี 2562 คนไทยดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเฉลี่ย 3 แก้วต่อวัน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ นอกจากนี้ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ยังคงเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่ง ทั้งจำนวนการเสียชีวิตและภาระโรคโดยรวม โดยปี 2559-2563 ไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้น โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นสาเหตุการตาย 3 อันดับแรก ได้แก่ โรคมะเร็งทุกประเภท โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือด อัตราการเสียชีวิตเท่ากับ 123.3 , 47.1 และ 31.8 ต่อประชากรแสนคน สาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่หวาน มัน เค็มมากเกินเกณฑ์ ขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น
“กรมอนามัยจัดงานมหกรรมประเทศไทย หวานแค่ไหนพอ เพื่อเตรียมปรับเกณฑ์ความหวานของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มของประเทศไทยให้เป็นเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน โดยปรับลดเกณฑ์ความหวานของฉลากทางเลือกสุขภาพจากร้อยละ 6 ให้เป็นร้อยละ 5 เท่ากับหวานน้อยสั่งได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมปรับตัว ประชาชนจะได้ทราบเกณฑ์ความหวานที่ดีต่อสุขภาพของตนเอง” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
เมื่อถามถึงการเริ่มเก็บภาษีความหวานระยะที่ 3 ที่จะเริ่มในวันที่ 1 เม.ย.นี้ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า การเก็บภาษีความหวานที่ผ่านมาผู้ประกอบการก็ได้ปรับตัว จะเห็นได้ว่ามีสินค้าที่เป็นทางเลือกสุขภาพมากขึ้น มียอดการจำหน่ายมากขึ้น การบังคับใช้กฎหมายนี้เราไม่ได้หวังรายได้จากภาษี แต่หวังว่าประชาชนจะมีทางเลือก และมีสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันคนไทยเริ่มคุ้นลิ้น คุ้นชินกับรสชาติที่หวาน มัน เค็มลดลงแล้ว
“แรกๆ อาจมีความกังวลว่าสูตรหวานน้อยคนจะบริโภคน้อยลง แต่พบว่าหลังๆ เวลาเข้าร้านไป พนักงานจะถามว่ารับหวานกี่เปอร์เซ็นต์ หรือไม่หวานเลย ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ระยะถัดไป สธ. จะต้องสนับสนุนด้านความรู้ให้ประชาชนมากขึ้น สร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการมากขึ้น เพื่อให้สินค้าสูตรหวานน้อยจำหน่ายได้ สร้างความร่วมมือชุมชน อย่างโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ ทั้งนี้ เราบริโภคลดหวาน แต่ไม่ลดคำหวานใส่กัน ชีวิตเรายังคงมีความหวานได้ เพื่อให้สังคมโดยรวมมีความสุข” นพ.สุวรรณชัย กล่าว