ศูนย์พิษรามาฯ เผยมียาโพแทสเซียมไอโอไดด์ ใช้ป้องกันพิษซีเซียมได้ ส่งนยาพรัสเซียนบลูใช้รักษาหลังรับสาร สธ.ชี้ยังไม่จำเป็นต้องรีบนำเข้าหรือสำรอง ยังไม่พบผู้ป่วย หากจำเป็น ปส.ประสานหามาได้ อย.พร้อมอนุญาต จ่อขยายตรวจสุขภาพครอบครัว 70 คนงาน
เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยาและหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า พรัสเซียนบลู (Prussian blue) เป็นหนึ่งในยากำพร้า ใช้รักษาพิษซีเซียม–137 ที่เข้าสู่ร่างกาย ไม่ให้ดูดซึมสารพิษนั้น แต่ไม่ได้ใช้กรณีสัมผัสซีเซียม 137 นอกร่างกาย ซึ่งประเทศไทยมีสำรองพรัสเซียนบลูไว้กว่า 20 ปี ตอนนี้หมดอายุแล้ว แต่จากเหตุการณ์ท่อบรรจุซีเซียม–137 หายไป จึงเป็นที่มาที่เราต้องคิดว่า จะต้องมีการสำรองเอาไว้บ้าง แม้ยังไม่จำเป็นต้องใช้เลยก็ตาม ส่วนควรจะมีไว้เท่าไร อยู่ที่การประเมินความเสี่ยง ตนไม่สามารถบอกได้ ต้องใช้ข้อมูลวิชาการพอสมควร แต่จากการคุยกับ อย.กำลังเตรียมการ ส่วนตัวมองว่าควรมี แต่ไม่ต้องเยอะมาก และไม่ต้องมีด่วนขนาดนั้น เรายังมีเวลาในการเตรียมตัว เบื้องต้นทราบว่ายาพรัสเซียนบลู แบบเมดิคัลเกรด มีอยู่ที่เยอรมนี
เมื่อถามถึงยาตัวอื่นที่ใช้รักษาพิษซีเซียม ศ.นพ.วินัย กล่าวว่า ตอนนี้เรายังมียาอีกตัวหนึ่งที่ใช้ได้คือ ยาโพแทสเซียมไอโอไดด์ที่มีอยู่แล้ว เนื่องจากสิ่งหนึ่งในร่างกายที่จะไวต่อสารพิษหรือซีเซียม คือ “ไทรอยด์” ดังนั้นหากคนที่สัมผัสเราจะให้กินโพแทสเซียมไอโอไดด์ เพื่อป้องกันการเกิดโรคไทรอยด์ เหมือนกับเหตุการณ์ฟูกุชิมะระเบิด อาสาสมัครคนไทยที่ไปช่วยเหลือครั้งนั้น เราก็ให้กินโพแทสเซียมไอโอไดด์ป้องกันตัวเอง นอกจากนี้ ยังนำมาใช้กรณีงานรังสีรักษาด้วย จำนวนที่มีอยู่ขณะนี้จึงเพียงพอ
ถามต่อว่ามีโพแทสเซียมไอโอไดด์แล้ว ยังจำเป็นต้องสำรองพรัสเซียนบลูหรือไม่ ศ.นพ.วินัย กล่าวว่า มองว่ายังจำเป็น เพราะยา 2 ตัวนี้มีกลไกการทำงานคนละแบบ ซึ่งโพแทสเซียมไอโอไดด์จะกินก่อนสัมผัส เช่นเมื่อต้องเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงกัมมันตรังสี เพื่อไม่ให้เข้าไปทำลายอวัยวะร่างกาย ส่วนพรัสเซียนบลูใช้เมื่อสัมผัส หรือรับสารเข้าร่างกายแล้ว เช่น เผลอกินอาหารที่มีซีเซียมเข้าไป เพื่อช่วยไม่ให้ร่างกายดูดซึม
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ยาพรัสเซียนบลู ไทยเคยมีสำรองไว้ที่ รพ.รามาธิบดี แต่ไม่เคยใช้เพราะไม่ใช่โรคที่พบบ่อย ทำให้ยาหมดอายุ จึงไม่มีการสั่งเข้ามาสำรองเพิ่ม เหมือนโรคอื่นๆ ถ้าต้องใช้น้อย ก็จะไม่มีการสำรองไว้ แต่ขณะนี้ รพ.นพรัตนราชธานี ร่วมกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ประเมินสถานการณ์และความจำเป็นของการนำเข้ายา ว่ายังไม่มีความจำเป็น เนื่องจากยังไม่พบผู้ที่มีอาการป่วย แต่ ปส. มีความร่วมมือกับนานาชาติในการช่วยเหลือเรื่องนี้ หากมีความจำเป็นก็สามารถประสานหายาได้ ขณะเดียวกัน รพ.นพรัตนฯ ก็ได้วางระบบการนำเข้ากับ อย. ไว้แล้ว
ส่วนการปิดโรงหลอมเหล็กและตรวจสุขภาพคนงานรวม 70 คน ยังไม่พบผู้ที่มีอาการป่วยเข้าข่ายได้รับกัมมันตรังสีซีเซียม โดยวันนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรีและ ปส.ได้ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพคนงานทุกคนรวมถึงครอบครัว เพื่อเป็นข้อมูลด้านสุขภาพในระยะยาว เช่น การเปลี่ยนแปลงของเซลล์เม็ดเลือดขาว
ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. กล่าวว่า อย. ได้คุยกับกรมการแพทย์เรื่องการนำเข้ายาพรัสเซียนบลูแล้ว ซึ่งจะมีข้อมูลการอนุญาตเดิมที่เคยนำเข้ามาแล้ว หากครั้งนี้มีความจำเป็น อย. ก็สามารถพิจารณาเรื่องการอนุญาตได้ทันที โดยใช้เวลาไม่นาน