รพ.สงขลา พัฒนาแบบประเมิน "สัญญาณเตือน" ก่อนผู้ป่วยอาการทรุดเข้าสู่ภาวะวิกฤต ช่วยดักจับอาการผิดปกติ ดูแล เฝ้าระวัง ช่วยเหลือผู้ป่วยรวดเร็ว ลดการเสียชีวิต
เมื่อวันที่ 23 มี.ค. นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ประธานคณะกรรมการ MIU กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ปี 2564 รพ.สงขลามีผู้ป่วยในที่อาการทรุดลงและต้องช่วยฟื้นคืนชีพ 95 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 894 ราย ย้ายเข้ารับการรักษาห้องผู้ป่วยหนัก 396 ราย และมีผู้เสียชีวิต 751 ราย พบว่า มีความเกี่ยวข้องกับการประเมินสัญญาณชีพและการเฝ้าระวังสัญญาณเตือนเข้าสู่ภาวะวิกฤต จึงมีการทำวิจัยเพื่อพัฒนาการเฝ้าระวังสัญญาณเตือนเข้าสู่ภาวะวิกฤต พัฒนาแนวทางปฏิบัติและพัฒนาสมรรถนะพยาบาลระดับปฏิบัติ ให้ดูแลผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดอุบัติการณ์อาการทรุดและเสียชีวิตโดยไม่คาดคิด
นพ.รุ่งเรืองกล่าวว่า จากการศึกษาสถานการณ์และวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยจากการทบทวนเวชระเบียนผู้ป่วยทรุด 10 แฟ้ม สนทนากลุ่มหัวหน้าหอผู้ป่วยและพยาบาลวิชาชีพแกนนำ รวม 35 คน และทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแนวปฏิบัติ พร้อมประเมินผลในพยาบาลวิชาชีพกลุ่มตัวอย่าง 150 คน และผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงก่อนและหลังพัฒนา 200 คน พบว่า หากไม่มีการใช้เครื่องมือเฝ้าระวังสัญญาณเตือนเข้าสู่ภาวะวิกฤต สมรรถนะการเฝ้าระวังภาวะวิกฤตไม่เพียงพอ ดักจับปัญหาล่าช้า ส่งผลให้รายงานแพทย์ล่าช้า แต่เมื่อใช้แบบประเมินสัญญาณเตือนก่อนเข้าสู่ภาวะวิกฤต ซึ่งออกแบบสำหรับใช้กับผู้ป่วย 2 ช่วงอายุ คือ มากกว่า 15 ปี และ 1 เดือน – 15 ปี สมรรถนะการดูแลผู้ป่วยเสี่ยงสูงของผู้ให้บริการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ส่วนผู้รับบริการพบจำนวนอุบัติการณ์ทรุดลงอย่างไม่คาดคิดน้อยลงกว่าก่อนพัฒนาทุกอุบัติการณ์
“แบบประเมินสัญญาณเตือนเข้าสู่ภาวะวิกฤตที่ รพ.สงขลาพัฒนาขึ้น ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังอาการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วย เพราะช่วยตรวจจับอาการผิดปกติได้รวดเร็ว ทำให้ช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงที สามารถนำไปขยายผลในหน่วยบริการต่างๆ จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น” นพ.รุ่งเรืองกล่าว