xs
xsm
sm
md
lg

"พรัสเซียนบลู" รักษา "พิษซีเซียม" เข้าร่างกาย มีผลข้างเคียงอย่าซื้อใช้เอง เผย 2 วิธีเช็กฝุ่นแดงใช่ตัวที่หายหรือไม่ ยันไม่กระจาย 1 พัน กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์พิษรามาฯ เผย 2 วิธีตรวจสอบ "ซีเซียม" ที่ถูกหลอมเป็นตัวเดียวกับตัวที่หายหรือไม่ เผยซีเซียม 137 ที่หายไปมีปริมาณ 505 ไมโครกรัม รุนแรงน้อยกว่าเคสเชอร์โนบิล 56.7 ล้านเท่า ฟูกุชิมะ 11 ล้านเท่า แจงซีเซียมไม่อยู่ในเหล็กที่หลอม แต่เป็นไอและฝุ่น ยันไม่ฟุ้งกระจาย 1 พันกิโลเมตร แนะตรวจเฝ้าระวังอย่างน้อย 1 ปี ส่วน "พรัสเซียนบลู" ใช้รักษาพิษซีเซียมได้จริง เฉพาะรับเข้าไปในร่างกาย รักษาสัมผัสภายนอกไม่ได้ อย่าซื้อใช้เอง เพราะเป็นเกรดใช้เขียนภาพ

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่สุโขเพลส  ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยาและหัวหน้าภาควิชากอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี พร้อมด้วย รศ.พญ.สาทริยา ตระกูลศรีชัย ศูนย์พิษวิทยาและภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และ ผศ.ดร.กฤศณัฏฐ์ เชื่อมสามัคคี ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ร่วมกันแถลงข่าว ซีเซียมกับยาต้านพิษ พรัสเซียนบลู


ผศ.ดร.กฤศณัฏฐ์ กล่าวว่า ตามปกติซีเซียม 137 มีการใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและใช้ใน รพ. โดยในโรงงานอุตสาหกรรมนำมาใช้วัดระดับขี้เถ้า วัดระดับสิ่งต่างๆ หรือการวัดความหนาของกระดาษหรือเหล็ก ซึ่งกรณีซีเซียมที่หายไปจากแถลงของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ความแรงรังสีอยู่ที่ 41.4 mCi จากเดิม 80 mCi เนื่องจากเวลาผ่านไปเกือบ 30 ปี ก็ลดลงครึ่งหนึ่งตามค่าครึ่งชีวิต หากแปลงเป็นค่าน้ำหนักอยู่ที่ 0.000505 กรัม หรือ 505ไมโครกรัม หากเปรียบกับเหตุการณ์ที่เคยเกิด เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล วันที่ 26 เม.ย.2529 ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม 27 กิโลกรัม ก็ต่างกัน 56.7 ล้านเท่า ส่วนกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ วันที่ 11 มี.ค. 2554 ก็ต่างกัน 11 ล้านเท่า ส่วนกรณีเทียบกับเหตุการณ์โคบอลต์ 60 ที่สมุทรปราการ ปี 2543 ความแรงรังสีที่เกิดจากการผ่าตัววัสดุห่อหุ่มข้างนอก ก็รุนแรงกว่าครั้งนี้ 1 พันเท่า โดยในแง่ของตัวพลังงานโคบอลต์ 60 รักษามะเร็งมีพลังมากกว่าซีเซียมประมาณ 2 เท่า ทำให้เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

สำหรับซีเซียม 137 มีจุดเดือดต่ำกว่าเหล็ก คือจุดเดือด 671 องศาเซลเซียม เมือ่เกิดการหลอมซีเซียมจึงระเหยเป็นไอ ไม่อยู่ในแผ่นเหล็กที่หลอมออกมา แต่ซีเซียมจะระเหยเป็นไอและฝุ่นในห้องหลอม การล้างห้องหลอมหรือไอและฝุ่นไม่ถูกจัดเก็บในระบบปิด ก็มีโอกาสปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมหรือปลิวไปในอากาศ ซึ่งเท่าที่ทราบกรณีนี้มีการเก็บฝุ่นของการหลอมในห้องระบบปิด โอกาสฝุ่นจะหลุดรอดออกมาปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมมีค่อนข้างน้อย ดังนั้น ที่กังวลเรื่องซีเซียมรั่วไหลมาข้างนอก ชาวบ้านประชาชนโดยรอบหรือคนทำงานในโรงงานโรงหลอม จะสูดเอาไอฝุ่นซีเซียมเข้าไป เราจึงต้องเฝ้าระวัง คนทำงานอยู่ในโรงหลอม เพราะมีโอกาสสูงที่รับไอซีเซียม 137 ส่วนรอบโรงงานที่มีการวัดปริมาณรังสีจาก ปส. 5-6 จุด ปัจจุบันปริมาณที่วัดได้ยังเทียบเท่ากับปริมาณรังสีพื้นหลังหรือปริมาณรังสีที่เรารับทั่วไปในธรรมชาติอยู่แล้ว คือ 0.02-0.05 อาจจะยังไม่ต้องกังวลมาก


ส่วนที่ถามว่าซีเซียม 137 ที่ถูกหลอม เป็นตัวที่หายไปหรือไม่ อาจต้องใช้ระยะเวลาและวิธีการเฉพาะพิสูจน์ ต้องใช้ความรู้ทางนิติวิทยาศาสตร์และทางเคมี มี 2 วิธีใหญ่ๆ พิสูจน์ คือ 1.การรวบรวมฝุ่นที่เกิดขึ้น วัดปริมาณรังสีในฝุ่น แล้วทำให้สามารถคาดการณ์ปริมาณรังสีเริ่มต้นได้ ซึ่งตอนนี้กำลังรวบรวมฝุ่นกลับมา และ 2.จากการสอบถามนักเคมีจะใช้วิธีการหาปริมาณตัวซีเซียม 137 ที่ออกมาจากตัวสารกัมมันตรังสี ฝุ่นที่โรงงานหลอม เปรียบเทียบกับซีเซียมที่เป็นสารคงตัวในธรรมชาติ ดูว่าเกิดการสลายตัวมานานเท่าไรแล้ว คำนวณเป็นสารกัมมันตรังสีว่าใช่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ระหว่างรอกระบวนการพิสูจน์ ยังแนะนำให้ประชาชนในพื้นที่หรือจังหวัดข้างเคียงเฝ้าสังเกตวัสดุต้องสงสัย หากเจอวัสดุคล้ายให้แจ้งสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สายด่วน 1296 ปิดกั้นบริเวณที่เจอ เนื่องจากรังสีเหมือนคลื่นวิทยุหรือโทรทัศน์ ไม่สามารถสัมผัสได้ ต้องเอาเครื่องมือมาวัด รังสีก็เช่นกัน จะมีเจ้าหน้าที่เอาอุปกรณ์วัดรังสีมาช่วยสำรวจและเก็บวัสดุนั้นต่อไป ประชาชนที่อยู่ใกล้โรงหลอมเหล็ก สามารถปฏิบัติตนได้ตามปกติ

ด้าน รศ.พญ.สาทริยา กล่าวว่า ซีเซียม 137 เป็นสารกัมมันตรังสี มีค่าครึ่งชีวิต 30 ปี สลายตัวจะปล่อยรังสีเบตาและแกมมา เมื่อรับซีเซียม 137 ส่งผลต่อร่างกาย แต่ผลขึ้นกับปริมาณหรือขนาดที่รับ ระยะเวลา หรือบริเวณของร่างกาย มีทั้งผลระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นมีผลเฉพาะที่ เช่น ผิวหนังมีผื่นแดง คันบวม ตุ่มน้ำหรือแผลขึ้นได้ อาจมีผมหรือขนร่วงได้ ส่งผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกายโดยฉับพลัน คือ กลุ่มอาการที่เกิดจากการรับปริมาณรังสีสูงฉับพลัน จะเกิดอาการหลายระบบ มีอาการนำ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว จากนั้นอาการจะหายไปชั่วคราว 1-3 สัปดาห์ จากนั้นจะมีอาการระบบต่างๆ 3 ระบบ คือ ระบบโลหิต มีผลไขกระดูกทำให้เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดงต่ำลง ระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้อาเจียน และระบบประสาท ซึม ชัก สับสน ขึ้นกับความรุนแรงที่ได้รับ ส่วนผลระยะยาว คือ มีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้ สำหรับการเฝ้าระวังรอบโรงงาน เชื่อว่า รพ.บริเวณดังกล่าวและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีมาตรการตรวจ ว่าจะตรวจอะไรบ้าง ความถี่เท่าไร รพ.มีแนวทางปฏิบัติอยู่แล้ว ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง


รศ.พญ.สาทริยา กล่าวว่า ส่วนที่มีการกล่าวถึงผลวิจัย "พรัสเซียนบลู" ในการแก้พิษซีเซียมนั้น พรัสเซียนบลูเป็นสารให้สีน้ำเงินใช้ในการเขียนภาพ ถูกนำมาใช้เป็นยาต้านพิษสำหรับภาวะพิษที่เกิดจากซีเซียม ข้อบ่งชี้หลักของพรัสเซียนบลู คือ คนไข้ปนเปื้อนซีเซียม 137 เฉพาะที่อยู่ในร่างกายคนไข้เท่านั้น เช่น จากการกินเข้าไปหรือสูดเอาไอเข้าไป หากเปื้อนผิวหนัง เสื้อผ้า ไม่ช่วยในการรักษา โดยพรัสเซียนบลูจะช่วยลดการดูดซึมซีเซียมจากทางเดินอาหาร ลดการดูดซึมเข้าร่างกาย แต่ก็มีผลข้างเคียง ทำให้ท้องผูก ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ เยื่อบุ อุจจาระ หรือฟันอาจเปลี่ยนสีไปได้ ถ้าหยุดใช้ผลข้างเคียงก็น่าจะหายไป แต่การจะใช้พรัสเซียนบลูจะต้องมีระดับรังสีที่มาก จึงต้องตรวจวัดปริมาณรังสีในร่างกายว่ามีขนาดเท่าไร ถ้าต้องใช้ผู้ป่วยจะต้องมีปริมาณสูง มีขนาดยาให้ต่อวัน ซึ่งการกินจำนวนวันขึ้นกับปริมาณรังสีในร่างกาย อาจจะไม่ใช่แค่ 5-7 วัน ขึ้นกับผู้ป่วยในแต่ละคน ส่วนคนที่กลัวว่าจะรับซีเซียมแล้วจะเอามากินป้องกันก็ไม่แนะนำเช่นกัน สำหรับพรัสเซียนบลูที่ใช้ในการรักษษ จะเป็นเกรดที่ใช้ผลิตเป็นยาใช้ในมนุษย์ ไม่มีการปนเปื้อน แต่ที่ใช้เขียนสีจะเป็นคนละเกรดอาจมีการปนเปื้อน และพรัสเซียนบลูต้องใช้ภายใต้การรักษาของแพทย์เป็นหลัก


ศ.นพ.วินัยกล่าวว่า พรัสเซียนบลูเป็นยาต้านพิษโลหะหนักบางตัวด้วย ซึ่ง 20 กว่าปีที่แล้ว ศูนย์พิษวิทยามีสต๊อกไว้บ้าง แต่ไม่เคยได้ใช้ก็หมดอายุไป ขณะนี้ประเทศเรายังไม่มียาพรัสเซียนบลูที่ใช้ แต่ทาง อย.ได้เริ่มพยายามจัดซื้อเข้ามาแล้วเพื่อให้มีอยู่ เป็นการเตรียมพร้อม ซึ่งจากสถานการณ์ตอนนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ ส่วนการจัดหายาต้านพิษที่ใช้น้อย ตามปกติเรามีกระบวนการร่วม อภ. สปสช. สำรองยาต้านพิษ ส่วนการใช้พรัสเซียนบลูรักษาใช้ได้ในทุกสิทธิการรักษา ทั้งนี้ ย้ำว่าไม่แนะนำให้ซื้อพรัสเซียนบลูมาใช้เอง เพราะแม้จะเป็นพรัสเซียนบลูเหมือนกัน แต่คนละเกรด ความบริสุทธิ์ของเนื้อยามากน้อยต่างกัน เอาไว้เป็นสีก็ไม่ต้องบริสุทธิ์มาก แต่ที่ใช้เป็นยาต้องมีการพิสูจน์ตรวจสอบว่ามีปริมาณที่ถูกต้องในแต่ละเม็ดไม่มีสารปนเปื้อนอื่นที่อันตราย

ถามว่าต้องตรวจซ้ำในคนและสิ่งแวดล้อมนานแค่ไหนจึงมั่นใจว่าปลอดภัย ผศ.ดร.กฤศณัฏฐ์กล่าวว่า จะมีการตรวจติดตามในพื้นที่อีกระยะ อย่างน้อยอาจต้องเป็นปี เพราะซีเซียม 137 ค่าครึ่งชีวิต 30 ปี จะมีวิธีการในการตรวจที่มีความละเอียดมากขึ้น เช่น ในแหล่งน้ำ แทนที่เอาน้ำมาตรวจ ก็มีวิธีการตรวจที่คาดการณ์ปริมาณรังสีมากขึ้น เช่น ตะกอนใต้แหล่งน้ำหรือชั้นดินที่อยู่ลึกลงไป เพื่อทราบปริมาณรังสี คิดว่าควรต้องติดตามไปเพื่อให้มั่นใจทั้งกับประชาชนทั่วประเทศและคนในพื้นที่ว่าไม่มีผลกระทบเพิ่มเติม ส่วนกรณีมีข้อมูลว่าฝุ่นซีเซียมแพร่กระจายกว่า 1 พันกิโลเมตรก็ไม่เป็นจริง เพราะปริมาณซีเซียมในครั้งนี้น้อยมาก ประมาณ 505ไมโครกรัม จะถูกเจือจางในธรรมชาติ เวลาลมพัด ฝุ่นโลหะน้ำหนักมากกว่าฝุ่นทั่วไป หรือ PM 2.5 จึงปลิวไม่ไกล แต่กรณีฟูกุชิมะลงไปในน้ำทะเล และกรณีเชอร์โนบิลปริมาณมหาศาลมากถึง 27 กิโลกรัมและเกิดการระเบิด การฟุ้งกระจายจึงมากกว่าในไทย

ถามถึงกรณีผู้คนไม่กล้ากินผักผลไม้จากพื้นที่นี้เพราะปนเปื้อน ผศ.ดร.กฤศณัฏฐ์กล่าวว่า ในผลไม้ ในนมที่ดื่ม ข้าวที่เรารับประทาน มีสารกัมมันตรังสีในธรรมชาติอยู่แล้ว ปริมาณรังสีพื้นหลังที่เรารับตามธรรมชาติ ทั้งนี้ กระบวนการพวกนี้ต้องใช้เวลา รังสีสู่ดิน น้ำ ไปสู่ผลไม้ หากปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมตัวเลขปัจจุบัน ปริมาณที่เกิดเหตุในครั้งนี้ 41.4 mCI ไม่มีโอกาสทำให้ผลไม้ในพื้นที่ เช่น ทุเรียนปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีตัวนี้ มั่นใจได้ รับประทานอาหารจากพื้นที่ได้

ถามถึงกรณีฝุ่นซีเซียมในบิ๊กแบ็กที่ขนไป จ.ระยอง ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเสี่ยงรับรังสีด้วยหรือไม่ และการขนย้ายกลับต้องระวังอย่างไร ผศ.ดร.กฤษณัฏฐ์กล่าวว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งเชื่อว่ารวมอยู่ในการตรวจสุขภาพทั้ง 70 คนแล้ว สำหรับการขนส่งกลับมานั้นขอเพียงแค่อยู่ในระบบปิด ที่ไม่ทำให้เกิดการฟุ้งกระจาย การป้องกันตามปกติเราใช้ตะกั่วในการป้องกันการสัมผัสรังสีในทางการแพทย์ แต่กรณีนี้อยู่ในถุงบิ๊กแบ็ก การขนส่งใช้เพียงระบบปิดที่กั้นก็เพียงพอ จริงๆ พลาสติกก็สามารถกันได้ ดังนั้น รถยนต์บริเวณโดยรอบการขนส่งก็ไม่ได้รับผลกระทบ


กำลังโหลดความคิดเห็น