นักวิชาการ เผยผลสำรวจ 75 ประเทศทั่วโลก พบนโยบายแบนบุหรี่ไฟฟ้า เป็นมาตรการปกป้องเยาวชนที่ดีสุด อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าน้อยกว่า แนะเพิ่มประสิทธิภาพบังคับใช้กฎหมายห้ามนำเข้าห้ามขายให้เคร่งครัด โดยเฉพาะปัญหาลักลอบขายในออนไลน์
เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ผศ.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า บทความจาก Scientifc Reports ธันวาคม 2565 ที่ได้รายงานการสำรวจสถานการณ์ยาสูบของเยาวชนทั่วโลกครั้งล่าสุด ในกลุ่มเยาวชนอายุ 13–15 ปี ที่กำลังศึกษาในโรงเรียน 75 ประเทศ ระหว่าง ปี 2557–2562 พบว่า ใน 13 ประเทศ เยาวชนมากกว่า 80% มีการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปยุโรป โดยโปแลนด์มีการรับรู้สูงที่สุด 95.8% ขณะที่มากกว่า 10% ของเยาวชนใน 30 ประเทศ มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยอิตาลีใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 55.1%
การศึกษานี้ได้วิเคราะห์ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ประกอบด้วย อายุ เพศ รายได้และสถานะการกำกับดูแลบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศ พบว่า ทวีปยุโรปรับรู้และใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูงที่สุด 74.6% และ 34.5% ประเทศที่มีรายได้สูงก็รับรู้และใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูงที่สุด 83.6% และ 39.4% ด้วยเช่นกัน โดยอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบันสูงขึ้นตามลำดับ เป็นที่น่าสนใจที่เยาวชนในประเทศที่มีนโยบายจำกัดการใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยจำกัดเฉพาะสารนิโคตินหรือสารบางชนิด มีอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าประเทศที่ใช้นโยบายอื่นประมาณ 1.8 เท่า
ขณะที่ประเทศที่มีการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า (ban of e-cigarettes) มีอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าน้อยกว่าประเทศที่ไม่มีนโยบายนี้ประมาณ 0.6 เท่า สอดคล้องกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนในประเทศที่ห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าจะต่ำกว่า ประเทศที่ใช้มาตรการอื่นซึ่งอ่อนกว่า
ผศ.นพ.วิชช์ กล่าวว่า จะเห็นได้ว่านโยบายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า เป็นมาตรการดีที่สุด ที่สามารถช่วยลดการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนลงได้ ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าชัดเจนที่ดีมาก จาก ‘มาตรการห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า’ เพื่อปกป้องเยาวชนไทย แต่สิ่งที่ต้องพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง โดยเฉพาะต้องจัดการการลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าในช่องทางออนไลน์ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขนะนี้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมโดยตรง