xs
xsm
sm
md
lg

แม่ทำงาน จะใช้เวลาส่งเสริมลูกให้มีพัฒนาการสมวัยได้อย่างไร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้หญิงไทยกว่าครึ่งทำงานนอกบ้าน ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าในปี 2564 ร้อยละ 58 ของผู้หญิงทำงานอยู่ในปัจจุบัน และหากแต่งงานและมีลูก ผู้หญิงหลายคนก็ต้องรับบทเป็นแม่ทำงาน สิ่งที่คุณแม่หลายคนกังวลคือ จะทำหน้าที่ทั้งสองอย่างนี้ให้ดีที่สุดได้อย่างไร จะรับผิดชอบในงานที่ทำอย่างไรให้เต็มที่ และในขณะเดียวกัน จะมีเวลาเพียงพอในการเลี้ยงลูกให้ดี ให้มีพัฒนาการสมวัย ได้อย่างไร หากคุณแม่ต้องทำงาน เวลาที่ใช้กับลูกย่อมมีน้อยกว่าคุณแม่ที่ไม่ต้องทำงาน ตรงนี้คุณแม่ทำงานสบายใจได้ เพราะงานวิจัยพบว่า เวลาที่มี “คุณภาพ” คือปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อพัฒนาการของลูก ถึงแม้ “ปริมาณ” จะน้อยลงก็ตาม

รองศาสตราจารย์ ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงงานวิจัยที่เกี่ยวกับการใช้เวลาของแม่ต่อพัฒนาการของลูกในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแบ่งการใช้เวลาของคุณแม่กับลูกเป็น 3 ประเภทตามกิจกรรมที่ทำ ได้แก่ ประเภทแรก คือกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ (Education Time) เช่น การอ่านหนังสือด้วยกัน การทำการบ้าน การสอนการบ้าน หรือการทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ต่างๆ ประเภทที่สอง คือกิจกรรมที่มีโครงสร้าง (Structured Activities) เช่น การทำงานศิลปะ การเล่นกีฬา การเล่นดนตรี หรือการเต้น และท้ายสุด คือกิจกรรมที่ไม่มีโครงสร้าง (Unstructured Activities) เช่น การดูทีวี การฟังเพลง หรือการใช้เวลาสำหรับกิจวัตรประจำวัน

จากการศึกษานี้ พบว่าสองกิจกรรมแรกเท่านั้นที่ส่งผลต่อพัฒนาการของลูก เวลาที่ใช้เพื่อการเรียนรู้ มีผลต่อความสามารถด้านภาษา ทักษะการแก้ปัญหา และการมีพฤติกรรมที่ดีของเด็ก ส่วนเวลาที่ใช้สำหรับกิจกรรมที่มีโครงสร้าง มีผลต่อการมีพฤติกรรมที่ดี ในขณะที่เวลาที่ใช้ในการทำกิจกรรมที่ไม่มีโครงสร้าง ไม่ได้มีผลในการส่งเสริมพัฒนาการของลูก นั่นเป็นเพราะกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้และกิจกรรมที่มีโครงสร้าง มักจะเป็นกิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ดูแลและเด็กสูง มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีโอกาสการได้ประสบและแก้ไขปัญหา จึงเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างทั้งความสัมพันธ์ในครอบครัว และทำให้ลูกได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ในขณะที่กิจกรรมที่ไม่มีโครงสร้าง มักมีปฏิสัมพันธ์หรือการพูดคุยกันค่อนข้างน้อย
สำหรับคุณแม่ที่ต้องทำงานงานวิจัยนี้ พบว่าถึงแม้จำนวนชั่วโมงการทำงานที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้จำนวนชั่วโมงที่สามารถใช้กับลูกลดลง แต่จำนวนชั่วโมงที่ลดลงนั้น ส่วนมากเป็นเวลาที่ใช้สำหรับกิจกรรมที่ไม่มีโครงสร้าง ไม่ใช่ชั่วโมงสำหรับกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ หรือกิจกรรมที่มีโครงสร้าง นั่นหมายความว่า หากคุณแม่มีเวลาอยู่กับลูกอย่างจำกัด คุณแม่มักพยายามชดเชย “ปริมาณ” เวลาที่ลดลง ด้วยเวลาที่มี “คุณภาพ” จึงทำให้งานวิจัยนี้พบว่า การทำงานของแม่ไม่ส่งผลลบต่อพัฒนาการหรือพฤติกรรมของลูก

ช่วงเวลาที่ลูกอยู่ในวัยเด็ก เป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับพัฒนาการด้านสติปัญญาและพฤติกรรม การใช้เวลาสำหรับการศึกษาสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ จะส่งผลดีต่อทั้งพัฒนาการด้านภาษา ความสามารถในการแก้ปัญหา และพฤติกรรม ในขณะที่สำหรับเด็กที่อายุมากกว่า 6 ขวบ การใช้เวลาเพื่อการศึกษามีผลต่อพัฒนาการด้านภาษา และทักษะการแก้ปัญหา แต่ไม่มีผลต่อด้านพฤติกรรม ในขณะที่เวลาสำหรับกิจกรรมที่มีโครงสร้าง เพิ่มพฤติกรรมที่ดีและลดพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูกอายุมากกว่า 6 ขวบได้อย่างชัดเจน

ดังนั้น หากคุณแม่มีเวลาที่จำกัด ควรจัดสรรเวลาที่เน้นกิจกรรมที่เสริมสร้างการเรียนรู้ และกิจกรรมที่มีโครงสร้าง มีเวลาอ่านหนังสือด้วยกัน ช่วยทำการบ้าน ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น ศิลปะ ดนตรี กีฬา และกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ จะทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีทั้งด้านสติปัญญา และด้านพฤติกรรม ในงานวิจัยชิ้นนี้ คุณแม่ทำงานใช้เวลาโดยเฉลี่ยเพียง 3 ชั่วโมงครึ่งต่อสัปดาห์ในการทำกิจกรรมที่เสริมสร้างการเรียนรู้ และราว 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในการทำกิจกรรมที่มีโครงสร้าง จะเห็นได้ว่า จำนวนชั่วโมงนั้นไม่ได้เยอะมากต่อสัปดาห์ แต่ลูกยังคงมีพัฒนาการทั้งด้านสติปัญญาและพฤติกรรมที่ดีได้

สำหรับคุณแม่ทำงาน คุณพ่อมีบทบาทสำคัญในการใช้เวลากับลูกไม่แพ้กัน จะพบความสัมพันธ์ของลักษณะการใช้เวลาของคุณพ่อกับลูกในทิศทางเดียวกันกับระหว่างคุณแม่กับลูกนั่นคือ เมื่อพ่อใช้เวลากับลูกสำหรับกิจกรรมที่เสริมสร้างการเรียนรู้ และกิจกรรมที่มีโครงสร้าง ลูกจะมีแนวโน้มมีผลลัพธ์พัฒนาการในทุกด้านดีขึ้นเช่นกัน ดังนั้น หากคุณพ่อและคุณแม่ร่วมกันวางแผนการใช้เวลากับลูกอย่างมีคุณภาพ การมีเวลาที่จำกัด จะไม่เป็นข้อจำกัดอีกต่อไป

อ้างอิง
1.สำนักงานสถิติแห่งชาติ. การทำงานของสตรีในประเทศไทย พ.ศ.2564
2.Hsin A, Felfe C. When does time matter? maternal employment, children's time with parents, and child development. Demography. 2014;51(5):1867-94. Epub 2014/10/05. doi: 10.1007/s13524-014-0334-5. PubMed PMID: 25280840; PubMed Central PMCID: PMCPMC4860719.




กำลังโหลดความคิดเห็น