xs
xsm
sm
md
lg

ทปอ. จับมือภาคเอกชนหนุนผู้นำมหาวิทยาลัย เร่งปรับตัวตามโลกและก้าวทันดิจิทัลที่ไม่หยุดนิ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธาน ทปอ. ชี้ผู้นำมหาวิทยาลัยในยุคดิจิทัลต้องก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงเพื่อพลิกโฉมสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวัฒนธรรมองค์กร รวมถึงรูปแบบการทำงานโดยใช้เครื่องมือดิจิทัลมากขึ้น โดยติดกระดุมเม็ดแรกจากพิมพ์เขียวองค์กรเพื่อมองเห็นภาพรวมของมหาวิทยาลัย ขณะที่ตัวแทนภาคเอกชนแนะต้องฟังเสียงและปรับตัวตามผู้บริโภคในโลกที่ไม่หยุดนิ่ง พร้อมรับมือกับมาตรฐานและการชี้วัดระดับสากล

ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “Agile Leadership towards Digital University” เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุมกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจัดโดยสถาบันคลังสมองของชาติ และโครงการมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล เพื่อให้เข้าใจถึง Agile Mindset ซึ่งเป็นแนวคิดการบริหารจัดการโลกแห่งการทำงานที่เน้นความคล่องตัว ว่องไว มีความยืดหยุ่นสูง ที่นำไปใช้ในการปฏิบัติจริง รวมถึงนำเสนอพิมพ์เขียวการดำเนินงานในระดับมหาวิทยาลัย และ/หรือระดับคณะ ตลอดจนการกำหนดบทบาท ทีมงาน Agile และการจัดการแผนการดำเนินงานที่สำคัญต่าง ๆ รวมถึงวิธีการติดตามการดำเนินงานยุคใหม่
ประธาน ทปอ. กล่าวว่า ผู้นำมหาวิทยาลัยในยุคดิจิทัลไม่สามารถอยู่เฉยได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงเข้ามาเสมอแต่ไม่ใช่เรื่องง่ายของสถาบันการศึกษาที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ ถ้าเดินไปคนเดียวก็คงจะช้า งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้จึงช่วยให้เราได้เรียนทางลัดและก้าวข้ามปัญหาไปได้ ทั้งนี้โลกปัจจุบันมีความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่ทำให้โลกไม่เหมือนเดิมในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยี อันเป็นผลจากความก้าวหน้าของการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล จึงเป็นความท้าทายที่สถาบันการศึกษาต้องเผชิญในยุคที่มีจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยลง มีการแข่งขันของธุรกิจการศึกษาข้ามชาติด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ผู้เรียนในยุคปัจจุบันมาพร้อมกับทักษะด้านดิจิทัล องค์กรธุรกิจบางแห่งเริ่มให้ความสำคัญต่อประสบการณ์ทำงานมากกว่าวุฒิการศึกษา “มหาวิทยาลัยจึงต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและก้าวไปสู่องค์กรดิจิทัลผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล โดยปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นองค์กรดิจิทัล รวมถึงปรับเปลี่ยนกระบวนการและขั้นตอนการทำงาน เลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม และพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลแก่บุคลากร”

ผู้นำมหาวิทยาลัยในยุคดิจิทัลจะอยู่ยากขึ้น เพราะจะต้องบริหารจัดการและแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อนมากขึ้น รู้จักคิดเชิงยุทธศาสตร์เพื่อบรรลุเป้าหมายภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด รู้จักยืดหยุ่นและขยับตัวได้รวดเร็ว รวมถึงสร้างเครือข่ายเพื่อก้าวข้ามโครงสร้างสังคมที่ซับซ้อนมากกว่าเดิม และเปิดรับนวัตกรรมเพราะโลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ผู้นำมหาวิทยาลัยจะต้องสร้างความคล่องตัวและยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานโดยใช้เครื่องมือดิจิทัลมากขึ้น มีทักษะด้านดิจิทัล สร้างการรับรู้และการสื่อสาร ทำให้เกิดผู้เรียนรู้ตลอดเวลาและกล้าทดลอง รวมทั้งสามารถบริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
ด้าน อ.ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี ผู้ดูแลโครงการมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า ผู้นำจะต้องมีความสามารถในการตัดสินใจทุกสถานการณ์ที่มีผลต่อคนหมู่มาก โดยจะต้องติดกระดุมเม็ดแรกด้วยการทำพิมพ์เขียวองค์กร เพื่อปรับแนวคิดและพลิกโฉมองค์กรให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงยุคใหม่ สร้างความรู้สึกร่วม และมี Vision Builder ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและกำหนดทิศทางงานแต่ละด้านอย่างมีสมดุลภายใต้สภาพแวดล้อมใหม่ที่ไม่นิ่ง มุ่งสู่ความยั่งยืนโดยเน้นความสมดุลในการขับเคลื่อนคุณค่าขององค์กร ประโยชน์ของพิมพ์เขียวดังกล่าวจะช่วยให้จัดหมวดธุรกิจอย่างชัดเจน กำหนดบทบาทของเจ้าหน้าที่ได้อย่างเป็นระบบ และมองเห็นภาพรวมขององค์กร ทั้งนี้บริบทสำคัญที่ผู้นำจะต้องพิจารณา คือ สภาพสังคมและสภาพแวดล้อม ทิศทางโลกและทิศทางประเทศ กฎหมายและกฎระเบียบ พฤติกรรมและวัฒนธรรมองค์กร ทักษะและเทคโนโลยี ตลอดจนความต้องการของตลาดและสภาพเศรษฐกิจ

ส่วนมุมมองของภาคเอกชน คุณภัคปาตี ล้วนไพศาลนนท์ ผู้จัดการฝ่ายแผนและกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เห็นว่าผู้นำจะต้องรู้จักปรับตัวท่ามกลางความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่หยุดนิ่ง ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่เกิดโควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดความสำเร็จที่เร็วขึ้น และเป็นโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดธุรกิจใหม่ ๆ จึงต้องฟังเสียงของผู้บริโภคและดำเนินงานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น ดังเช่น ปตท.ที่ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์อันเป็นผลจากการปรับองค์กรเพื่อมุ่งสู่ธุรกิจใหม่ เช่น ยา โปรตีนจากพืช รวมถึงปรับวิธีคิดและพัฒนาทักษะกำลังคนให้พร้อมเปลี่ยนแปลงไปกับองค์กรและตอบโจทย์ธุรกิจได้มากที่สุด มีทีมทำงานที่ปรับตัวและยืดหยุ่น ผลิตผลงานได้เร็ว มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ กล้าที่จะทำในสิ่งต่าง ๆ รวมถึงทำโครงการสตาร์ทอัพเล็ก ๆ เพื่อสร้างคนสายพันธุ์ใหม่ให้เติบโตในธุรกิจ

ขณะที่ ดร.ทัชนันท์ กังวานตระกูล ประธานคณะกรรมการ บริษัท ไอเซ็ม จำกัด ให้แนวคิดเรื่องผู้นำกับการรับมือกับมาตรฐานและการชี้วัดระดับสากล ว่าเราต้องทำในสิ่งที่ใช้และคุยกับคนอื่นรู้เรื่อง โดยทำในสิ่งที่โลกต้องการ เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์ ความปลอดภัยทางดิจิทัล มาตรฐานปัญญาประดิษฐ์และข้อมูลขนาดใหญ่ การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ คาร์บอนเครดิต ซึ่งมีมาตรฐาน แนวปฏิบัติ การกำกับดูแล และกฎหมายต่าง ๆ ควบคุมที่จะต้องปฏิบัติตามเพื่อสร้างความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และการทำงานร่วมกัน เช่น PDPA SDGs ESG (Environmental, Social and Governance) หากสามารถจัดทำมาตรฐานและการชี้วัดระดับสากลได้คู่ค้าก็อยากจะเจรจาด้วย นอกจากนี้ผู้นำมหาวิทยาลัยจะต้องสามารถจูงใจแก่ผู้อื่น สามารถขับเคลื่อนผู้คนและองค์กรมุ่งไปยังเป้าหมายร่วมกัน รวมถึงใช้ทักษะของตนเองนำองค์กรให้ผ่านช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ในการทำงาน สามารถบริหารจัดการระบบนิเวศทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย












กำลังโหลดความคิดเห็น