xs
xsm
sm
md
lg

จิตแพทย์เผย สารวัตรคลั่งมีอาการปฏิเสธการรักษา อาจเกิดจาก 3 ปัจจัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จิตแพทย์ชี้สารวัตรคลั่งมีอาการปฏิเสธรักษา อาจเกิดจาก 3 ปัจจัย ทั้งการตีตราผู้ป่วย ป่วยแต่ไม่รู้ตัว เข้าใจว่ารักษาจิตเวชจะขาดอิสระ ย้ำ ยาบ้า กัญชา เสริมให้อาการทางจิตรุนแรง ส่วนตรวจสุขภาพจิตคนถือครองอาวุธ ต้องใช้จิตแพทย์มาก พ่วงตรวจประวัติพฤติกรรมความรุนแรง

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ศ.นพ.มานิต ศรีสุรภานนท์ ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีเหตุการณ์สารวัตรคลั่งใช้อาวุธปืนกราดยิงอยู่ในบ้านย่านสายไหม ว่า หลังจากรับตัวไปรักษาใน รพ. มีการแสดงออกที่มีลักษณะคล้ายปฏิเสธการรักษา อาจเกิดจาก 1. การตีตราในสังคมที่ไม่มีใครอยากถูกตีตราว่าเป็นคนป่วยทางจิต ไม่เหมือนกับการเจ็บป่วยโรคทางกาย ที่คนมักให้ความเห็นใจและสงสาร ทั้งที่จริงแล้วโรคทางใจ ต้องการความช่วยเหลือและรักษาไม่แตกต่างกัน 2.ไม่รู้ตัวว่าป่วย ไม่รู้ว่าตัวเองไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมอารมณ์ของตนเอง ต้องอาศัยคนรอบข้างร่วมสังเกต และ 3. เข้าใจว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาทางจิตเวช จะขาดอิสระ ไม่เหมือนกับการรักษาโรคทางกาย จึงอยากให้สังคมเข้าใจเรื่องของผู้ป่วยทางจิตเวช เพราะบ่อยครั้งที่ถูกตีตรา ทำให้ขาดความเข้าใจเรื่องกระบวนการรักษา

ถามถึงกรณีการตั้งข้อสังเกตพบอุปกรณ์การเสพกัญชา ใกล้กับที่นอนของสารวัตรคนดังกล่าว ศ.นพ.มานิตกล่าวว่า ผู้ก่อเหตุรายนี้จะเสพกัญชาหรือไม่ ไม่อาจตอบได้ แต่ต้องทำความเข้าใจว่า เมื่อมีอาการทางจิต และมีการใช้สารเสพติดร่วม ยิ่งส่งผลให้อาการรุนแรงมากขึ้น โดยสารเสพติดที่ก่อให้เกิดอาการทางจิตเวช ได้แก่ แอมเฟตามีน (ยาบ้า) และกัญชา ส่วนข่าวที่ว่า ผู้ก่อเหตุมีอาการนอนไม่หลับ จึงสันนิษฐานว่า อาจใช้เพื่อบรรเทาอาการ อยากทำความเข้าใจว่า ในการรักษาอาการ ทั้งวิตกกังวลหรือนอนไม่หลับ จิตแพทย์จะไม่แนะนำให้มีการใช้สารเสพติดอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเหล้าหรือกัญชา ส่วนฤทธิ์ของกัญชาในร่างกายจะอยู่นานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับบุคคล แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาก็ต้องรับยาเพื่อถอดฤทธิ์เหล่านี้ออกทันที จะรอให้หมดเองไม่ได้ เพราะจะเป็นปัญหาในกระบวนการรักษา และภาระของแพทย์ หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง

ส่วนทำไมผู้ถือครองอาวุธปืน มักก่อนเหตุรุนแรงและมีอาการป่วย ศ.นพ.มานิต กล่าวว่า ในส่วนนี้ มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาทั้งการตรวจสอบสภาพจิตใจก่อนที่จะมีการอนุญาตให้ถือครองอาวุธปืน แต่ต้องยอมรับว่ามีความยุ่งยาก เนื่องจากกลไกการตรวจสอบสภาพจิตใจไม่ง่าย และไม่สามารถทำเสร็จแบบรวดเร็วทันที ต้องใช้เวลา หากผู้ถือครองอาวุธมีนับแสนคน ต้องใช้บุคลากรหรือจิตแพทย์จำนวนมากในการตรวจสอบ และที่สำคัญการตรวจสุขภาพทางจิต ยังต้องเชื่อมโยงร่วมกับการตรวจค้นประวัติของผู้ถือครองอาวุธด้วย ว่ามีพฤติกรรมชอบก่อเหตุ หรือ กระทำความรุนแรงบ่อยครั้งหรือไม่ ทุกอย่างต้องใช้เม็ดเงินในการลงทุนและทำแบบต่อเนื่อง ต้องชั่งน้ำหนักว่า ภาครัฐเห็นด้วยหรือไม่ เพราะหากนำจิตแพทย์มาช่วยกันตรวจสุขภาพจิต ผู้ถือครองอาวุธปืนกันหมด ก็อาจละเลยการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น