สสส.ร่วมกรมพลศึกษา เปิดตัวหลักสูตร-คู่มือ สอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กพิเศษบกพร่องสติปัญญา ระดับประถม เสนอ ศธ. ใช้ส่งเสริมสุขภาวะเด็กพิเศษในโรงเรียนทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 15 มี.ค. นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวภายหลังเปิดตัวหลักสูตรกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ระดับประถมศึกษา (ประเภทความบกพร่องทางสติปัญญา) ว่า ปัจจุบันไทยมีคนพิการประมาณ 2 ล้านคน จำนวนนี้จบระดับอุดมศึกษาไม่ถึง 2% อีกประมาณ 80% จบเพียงชั้นประถมศึกษา เพราะมีอุปสรรคเรื่องการเรียนรู้และขาดทักษะการเข้าสังคม หรือสถานศึกษามีสภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิต เช่น ถูกเพื่อนล้อเพื่อนแกล้ง ครูผู้สอนย่อยความรู้ให้สอดคล้องกับการเรียนสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษไม่ได้ สสส.และกรมพลศึกษาจึงจัดทำหลักสูตรผู้ฝึกสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษขึ้น เป็นนวัตกรรมที่ช่วยครูพลศึกษานำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ สู่การมีสุขภาวะดี 4 มิติ คือ กาย จิต ปัญญา และสังคม
“เด็กทุกคนต้องได้รับการมีกิจกรรมทางกายเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหน ถือเป็นการหนุนเสริมให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษ มีสุขภาวะที่ดีเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ในโรงเรียน” นางภรณี กล่าว
ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบันการเรียนพลศึกษาในโรงเรียนลดลง จึงอยากผลักดันให้เกิดแนวทางการเรียนการสอนวิชาพลศึกษา ในโรงเรียนระดับประถมศึกษาอย่างถูกต้อง เพราะเป็นช่วงวัยที่จำเป็นต้องใช้จิตวิทยาพัฒนาการ หลักสูตรดังกล่าวจะเป็นต้นแบบในการส่งเสริมพัฒนาครูพลศึกษาทั่วประเทศต่อไป เพราะสถานการณ์เด็กพิเศษในโรงเรียนปัจจุบันมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าในอดีต สังคมและผู้ปกครองยอมรับมากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องทำต่อเนื่องคือ การสร้างความรู้ความเข้าใจกับครูว่า เด็กทั่วไปสามารถทำอะไรได้ และเด็กพิเศษที่มีความบกพร่องทางร่างกาย สามารถเรียนรู้ได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อสอนการมีกิจกรรมทางกายได้เหมาะตามศักยภาพของเด็กแต่ละกลุ่ม เชื่อว่าเมื่อเราส่งเสริมให้ครูในพื้นที่นำร่อง เช่น จ.อุบลราชธานี ทำความเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น จะสามารถขยายผลไปยังภูมิภาคอื่นๆ และสร้างประโยชน์ให้กับเด็กพิเศษทั่วประเทศได้ต่อไป
ศ.เจริญ กระบวนรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา กล่าวว่า หลักสูตรนี้ช่วยลดปัญหาสังคมและภาระครอบครัว ลดภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ โรงเรียนและงบประมาณ เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขับเคลื่อนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะรูปแบบการสอน แม้วิธีสั่งการคือวิธีการสอนเด็กที่ง่ายที่สุด แต่พบว่าเป็นวิธีการที่ยับยั้งการพัฒนาสมองมากที่สุด การสอนเด็กด้วยข้อมูลและลงมือปฏิบัติ Learning By Doing จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ สู่การพัฒนาด้วยตนเองได้ ยิ่งเด็กพิเศษหรือมีความบกพร่องทางสติปัญญา จำเป็นที่ต้องมีข้อมูลเหมาะสม เพราะการรับข้อมูลอาจช้ากว่าเด็กอื่นๆ การสอนหรือฝึกให้ทำซ้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าอาจจะต้องใช้เวลายาวนานกว่าเด็กทั่วไป รวมถึงรูปแบบการสอนและวิธีการถ่ายทอด ต้องทำให้เป็นกิจกรรมที่เด็กทุกคนเรียนด้วยกันได้ ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันเชื่อว่าเด็กกลุ่มนี้จะมีความสามารถเทียบเท่าเด็กทุกคน