xs
xsm
sm
md
lg

ครั้งแรกในไทย!! เปิดเวทีประชุมวิชาการสุขภาวะของคนข้ามเพศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566 ที่ รร.แมนดาริน กรุงเทพฯ นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดการประชุมสุขภาวะของคนข้ามเพศ “ข้ามเพศมีสุข” ครั้งที่ 1 ว่า ปัจจุบันแม้ไทย ขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่ยอมรับเรื่องความแตกต่างหลากหลายทางเพศ แต่ก็ยังมีการถูกเลือกปฏิบัติด้วยความเชื่อและทัศนคติแง่ลบ รวมถึงมิติทางสุขภาพ สถานพยาบาลที่มีเชี่ยวชาญเรื่องความหลากหลายทางเพศยังมีจำกัด ทำให้เกิดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการ จากข้อมูลการศึกษาในต่างประเทศพบว่า ประชากรที่มีความหลากหลายทางเพศ เสี่ยงมีปัญหาสุขภาพ เช่น กลุ่มชายรักชาย ชายรักสองเพศ และหญิงข้ามเพศ พบความเสี่ยงสูงในการได้รับเชื้อ HIV, มะเร็งทางทวารหนัก และโรคตับอักเสบ A และ B ส่วนหญิงรักหญิง และหญิงรักสองเพศ เสี่ยงเป็นโรคอ้วนสูง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับโรคไม่ติดต่อ (NCDs) อื่นๆ รวมทั้งในบุคคลข้ามเพศที่มีความต้องการเปลี่ยนแปลงร่างกายเพื่อให้เป็นเพศที่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง ส่วนใหญ่จะมีการใช้ฮอร์โมน ทำให้เกิดอันตรายจาการใช้ฮอร์โมนเกินขนาด ใช้ผิดประเภท และใช้อย่างผิดวิธี โดยเฉพาะจากการซื้อหาตามท้องตลาด โดยไม่มีแพทย์แนะนำ
 


“สสส. มุ่งหวังลดความเหลื่อมล้ำทางด้านสุขภาพในกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ สนับสนุน โครงการ “ส่งเสริมสุขภาวะและลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนข้ามเพศในประเทศไทย” จึงอยากเชิญชวนคนทำงานเรื่องสุขภาวะของคนข้ามเพศ คนข้ามเพศ ทั้งภาคประชาสังคม หน่วยงานภาคีผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ทั้งภาครัฐและเอกชน มาร่วมกันออกแบบการสร้างระบบบริการด้านสุขภาวะแบบองค์รวม ที่เป็นธรรมและเข้าถึงได้ของบุคคลข้ามเพศในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ทำงาน หรือชีวิตของคนข้ามเพศ จะช่วยเปิดมุมมอง พัฒนาบริการและการเข้าถึงอย่างได้มาตรฐานและเป็นมิตร รวมทั้งสร้างความเข้าใจด้านสุขภาพอย่างเท่าเทียมมากขึ้น” นายชาติวุฒิ กล่าว


นางชนาทิพย์ มารมย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามเจตนารมณ์การดำเนินงานของ สปสช. เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อนำความเห็นต่างๆ มาขับเคลื่อนในระบบหลักประกันสุขภาพ ทั้งในรูปแบบของการให้ความรู้คุ้มครองสิทธิ์ ช่วยให้เข้าถึงสิทธิ์ และไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิ์ ซึ่งในส่วนของเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ แม้จะเพิ่งร่วมงานกันอย่างจริงจัง ในปี 2566 นี้ แต่ที่ผ่านมาเคยทำงานร่วมกันผ่านเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี จึงเชื่อว่าเมื่อทำงานร่วมกันในฐานะภาคีอีกด้านหนึ่ง จะช่วยรวบรวมความเห็นในแง่มุมสุขภาพและบริการ ที่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศต้องการนำมาเสนอเป็นสิทธิประโยชน์ในอนาคตได้ ทั้งเรื่องการเข้าถึงยาฮอร์โมนบางชนิด ดีกว่าไปซื้อหามารับประทานเอง แล้วเกิดอันตราย หรือแม้แต่การผ่าตัดแปลงเพศ เรื่องเหล่านี้ก็จะได้ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือกันต่อไป


คุณณชเล บุญญาภิสมภาร ตัวแทนคณะทำงานจัดงานประชุมสุขภาวะของคนข้ามเพศ ข้ามเพศมีสุขครั้งที่ 1 กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการรวมเสียงของคนในชุมชนคนข้ามเพศ ภาคีเครือข่าย ภาคประชาสังคม ภาครัฐ และผู้ให้บริการสุขภาพกับคนข้ามเพศ ที่เชื่อว่า “สุขภาพที่เกี่ยวกับการข้ามเพศเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นสำหรับคนข้ามเพศ” มาร่วมกันส่งเสียงให้คนกำหนดนโยบายให้ความสำคัญกับสุขภาวะของคนข้ามเพศ โดยงานประชุมนี้เปิดพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และถ่ายทอดสำหรับภาคีจากชุมชนคนข้ามเพศ คนทำงาน และผู้ให้บริการสุขภาพได้มาฟังเจ้าของชุดประสบการณ์ตรง เพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนในการพัฒนาบริการสุขภาพที่เกี่ยวกับการข้ามเพศ และลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการเหล่านั้นให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงในประเทศไทย จุดสำคัญของงานประชุมข้ามเพศมีสุขคือ การฉายภาพความร่วมมือจากภาคีหลายฝ่ายที่มีเป้าหมายเพื่อการหนุนเสริม และสนับสนุนบริการสุขภาพที่เกี่ยวกับการข้ามเพศเป็นบริการที่เข้าถึงได้ง่าย มีคุณภาพ ไม่เลือกปฏิบัติ และครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย
















กำลังโหลดความคิดเห็น