xs
xsm
sm
md
lg

ดุสิตลุยจัดระเบียบตลาดข้างกระทรวงศึกษาธิการและหน้าตลาดเทวราช กวดขันผู้ค้าตั้งวางสิ่งของในขอบเขตเน้นย้ำรักษาความสะอาดพื้นที่ทำการค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าบริเวณข้างกระทรวงศึกษาธิการ ถนนพิษณุโลก และบริเวณหน้าตลาดเทวราช ด้านถนนพิษณุโลก ถนนสามเสน ถนนลูกหลวง เขตดุสิต กวดขันผู้ค้าตั้งวางสิ่งของในขอบเขตเน้นย้ำรักษาความสะอาดพื้นที่ทำการค้า

วันนี้ (14 มี.ค.) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าบริเวณข้างกระทรวงศึกษาธิการ ถนนพิษณุโลก และบริเวณหน้าตลาดเทวราช ด้านถนนพิษณุโลก ถนนสามเสน ถนนลูกหลวง เขตดุสิต

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีจุดหาบเร่-แผงลอย ทั้งที่ได้รับอนุญาต และไม่ได้รับอนุญาต ทั้งหมด 792 จุด มีผู้ค้าประมาณ 21,168 ราย ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร ได้รับการร้องเรียนว่ามีผู้ค้าหาบเร่-แผงลอยบางราย ตั้งวางแผงค้าไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย รวมถึงจุดที่อยู่ในพื้นที่เขตดุสิต ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ประชาชนใช้เส้นทางในการเดินทางสัญจรจำนวนมาก สำนักเทศกิจร่วมกับสำนักงานเขตดุสิต ได้หารือร่วมกันในการจัดระเบียบผู้ค้าในจุดดังกล่าว ซึ่งมีแผงค้าประมาณ 133 แผง มีการตั้งวางขายสินค้าตั้งแต่เช้าจนถึงบ่าย 3 โมง มีประชาชนที่ใช้ทางเท้าในการสัญจรบริเวณดังกล่าว มองว่าหาบเร่-แผงลอยที่ตั้งวางอยู่ ไม่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และบางครั้งมีการเทน้ำหรือทิ้งขยะลงบนพื้นผิวจราจร โดยเขตฯ ได้เรียกผู้ค้าประมาณ 100 กว่าราย มาพูดคุยหารือเกี่ยวกับเรื่องการจัดระเบียบ การรักษาความสะอาดบนพื้นผิวจราจรและทางเท้า หลังจากได้มีการพูดคุยกันแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ จึงได้มีการลงพื้นที่สำรวจอีกครั้ง โดยภายรวมแล้วพบว่าในรอบนี้ดีกว่าครั้งก่อน แต่เนื่องจากยังมีผู้อีกค้าบางส่วน ที่ยังไม่ได้พูดคุยกับทางเขตฯ ทำให้ในบางจุดยังมีความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่บ้าง จึงต้องมีการพูดคุยกับผู้ค้ารายอื่นๆ อีกครั้ง เพื่อหาแนวทางร่วมกันในเรื่องการค้าขาย ประเด็นแรกคือ การกีดขวางทางสัญจรของประชาชน ทำอย่างไรให้ประชาชนที่ใช้ทางเท้าในการสัญจร ได้รับความสะดวกและปลอดภัย ประเด็นที่สองคือ ผู้ค้าที่ทำการค้า ต้องมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และอยู่ในกฎเกณฑ์ที่ทางเขตฯ และสำนักเทศกิจ เป็นผู้ออกคำสั่งในการปฏิบัติ โดยเฉพาะการเทน้ำหรือสิ่งปฏิกูลลงบนผิวจราจรและทางเท้า

“ในช่วงนี้เป็นช่วงที่อยู่ระหว่างการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย เพื่อให้ผู้ค้าได้ปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง โดยกรุงเทพมหานครได้สำรวจและจัดหาสถานที่ เพื่อให้ผู้ค้าได้มีพื้นที่ทำการค้าขายอย่างถาวร สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ได้มีการสำรวจพบว่ามีพื้นที่เอกชน ซึ่งพร้อมรองรับผู้ค้าประมาณ 105 แห่ง สามารถรองรับผู้ค้าได้ประมาณ 10,000 ราย แต่ต้องยอมรับว่า ถ้าหากมีการเข้าไปค้าขายในพื้นที่เอกชน จะต้องมีค่าเช่าสถานที่ประมาณ 150-300 บาทต่อวัน มีต้นทุนพอสมควร ซึ่งแตกต่างกับพื้นที่สาธารณะที่จะเสียค่าเช่าน้อยกว่าพื้นที่เอกชน” รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าว

ทั้งนี้ สำนักงานเขตดุสิต ดำเนินการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าบริเวณข้างกระทรวงศึกษาธิการ ถนนพิษณุโลก ตั้งแต่ป้ายรถประจำทางถึงประตูทางออกคุรุสภา มีผู้ค้า 223 ราย จัดทำแผงค้าขนาด 1.2 x 1.5 เมตร จำนวน 133 แผงค้า ผู้ค้าสลับวันทำการค้าขาย ประกอบด้วย ผู้ค้าแนวใน ช่วงที่ 1 ตั้งแต่ป้ายรถประจำทางถึงประตูทางออกคุรุสภา (ด้านธนาคารกรุงไทย) ถนนพิษณุโลก ความยาว 50 เมตร จำนวน 35 แผงค้า ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. ช่วงที่ 2 ประตูทางออกคุรุสภา (ด้านธนาคารกรุงไทย) ถึงประตูทางออกสำนักงานคลัง (คุรุสภา) ถนนพิษณุโลก ความยาว 45 เมตร จำนวน 32 แผงค้า ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. ผู้ค้าแนวนอก ช่วงที่ 1 ตั้งแต่ป้ายรถประจำทางถึงประตูทางออกคุรุสภา (ด้านธนาคารกรุงไทย) ถนนพิษณุโลก ความยาว 50 เมตร จำนวน 35 แผงค้า ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. ช่วงที่ 2 ประตูทางออกคุรุสภา (ด้านธนาคารกรุงไทย) ถึงประตูทางออกสำนักงานคลัง (คุรุสภา) ถนนพิษณุโลก ความยาว 45 เมตร จำนวน 31 แผงค้า ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. โดยเขตฯ จัดระเบียบให้ผู้ค้าทำการค้าขายที่จุดเดิม กำชับไม่ให้ตั้งวางสิ่งของกีดขวางทางเดิน มีการเว้นช่องว่างทางเข้าออกระหว่างแผงค้า ไม่ให้มีการต่อหรือแขวน เก็บอุปกรณ์ทุกครั้งและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน นอกจากนี้เขตฯ ได้ขีดสีตีเส้นขาวกำหนดขอบเขตการตั้งวางแผงค้าให้มีความชัดเจน จัดเจ้าหน้าเทศกิจลงพื้นที่ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อย

นอกจากนี้ เขตฯ ได้ดำเนินการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าหน้าตลาดเทวราช ด้านถนนพิษณุโลก ตั้งแต่หน้าบ้านเลขที่ 32 ถึงหน้าบ้านเลขที่ 354/20 ความยาว 39 เมตร จำนวน 23 แผงค้า ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น.ด้านถนนสามเสน ตั้งแต่หน้าบ้านเลขที่ 354/19 ถึงหน้าบ้านเลขที่ 354/2 ความยาว 93 เมตร จำนวน 42 แผงค้า ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ด้านถนนลูกหลวง ตั้งแต่หน้าบ้านเลขที่ 354/1 ถึงประตูทางเข้าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ความยาว 93 เมตร จำนวน 24 แผงค้า ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. โดยเขตฯ ได้จัดระเบียบให้ผู้ค้าทำการค้าขายที่จุดเดิม ด้านถนนพิษณุโลก กำชับไม่ให้มีการตั้งวางโต๊ะ เก้าอี้ ในแถวที่ 2 เพื่อไม่ให้กีดขวางทางเดิน ด้านถนนสามเสน ขยับแผงค้าช่วงทางข้ามทางม้าลาย เพื่อไม่ให้กีดขวางทางสัญจรของประชาชน และเว้นพื้นที่แนวระยะป้ายรถประจำทางให้เพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งขีดสีตีเส้นขาวกำหนดขอบเขตการตั้งวางให้ชัดเจนขึ้น ด้านถนนสามเสนตัดถนนลูกหลวง ขยับแผงค้าผลไม้ช่วงทางข้ามทางม้าลาย เพื่อไม่ให้กีดขวางทางเดิน พร้อมขีดสีตีเส้นขาวกำหนดขอบเขตการตั้งวางสิ่งให้ชัดเจนขึ้น มีการเว้นทางเข้าออกระหว่างแผงค้า กวดขันไม่ให้มีการตอกหรือแขวน และเก็บอุปกรณ์และทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน จัดเจ้าหน้าเทศกิจลงพื้นที่ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อย

“การค้าขายบนทางเท้า ไม่ใช่เป็นการค้าขายโดยถาวร ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าผู้ค้าที่ค้าขายบนทางเท้า จะขายได้ถึงเมื่อไหร่ เวลาใด แต่ในขณะเดียวกัน หากมีผู้ค้าที่อยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับการผ่อนผัน และผู้ค้านั้นได้กระทำฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ สำนักงานเขตและสำนักเทศกิจ สามารถบอกยกเลิกไม่ให้ทำการค้าขาย ส่วนในกรณีผู้ค้าที่ไม่ได้รับอนุญาต จะไม่สามารถทำการค้าขายได้อยู่แล้ว การที่จะได้รับอนุญาตให้ทำการค้านั้น ต้องมีกระบวนการและขั้นตอน ตั้งแต่สำนักงานเขต สำนักเทศกิจ คณะกรรมการกรุงเทพมหานคร มีการพิจารณาและส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับการอนุญาต ซึ่งหลังได้รับการอนุญาตแล้ว จึงจะถือว่าทำการค้าขายอย่างถูกต้อง ถ้ายังไม่ได้รับการอนุญาต ถือว่าผู้ค้านั้นยังทำการค้าอย่างไม่ถูกต้อง ที่สำคัญต้องให้ประชาชนที่ใช้ทางเท้าในการเดินทางสัญจรได้รับประโยชน์สูงสุด และไม่ก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัย” รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวในตอนท้าย

ในการนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นางสาวรุจิรา อารินทร์ ผู้อำนวยการเขตดุสิต พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตดุสิต สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล




















กำลังโหลดความคิดเห็น