xs
xsm
sm
md
lg

“ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” กิจกรรมดี ๆ เสริมสร้างทักษะและการเรียนรู้ของเด็กไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ออกสตาร์ทแล้ว สำหรับกิจกรรม “ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” ปี 2566 โดย สสส. และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่พร้อมแชร์พื้นที่สำหรับเรียนรู้และใช้ชีวิตในช่วงปิดเทอมใหญ่และวันว่าง ชวนน้อง ๆ เยาวชนเข้าเลือกกิจกรรมสร้างสรรค์ผ่านทางเว็บไซต์ ปิดเทอมสร้างสรรค์.com ที่มีให้เลือกมากกว่า 5,000 กิจกรรม พร้อมต่อยอดสู่ “เมืองแห่งการเรียนรู้” โดยมี 4 จังหวัดใน 4 ภูมิภาคเป็นจังหวัดนำร่อง...

ปิดเทอมนี้ทำอะไรดีนะ?
เชื่อแน่ว่า น้อง ๆ เยาวชน ตลอดจนพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยน่าจะเกิดคำถามแบบนี้ในช่วงที่เด็ก ๆ หรือลูก ๆ ปิดเทอมใหญ่ซึ่งจะทำให้มีเวลาว่างกว่าสองเดือน

แต่เชื่อสิว่า ปิดเทอมใหญ่คราวนี้จะแตกต่างจากครั้งที่ผ่านมา ถ้าน้อง ๆ ได้รู้จักกับกิจกรรม “ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” ที่มีกิจกรรมดี ๆ มากมายให้เข้าร่วม ทั้งสนุกและได้ความรู้ เสริมสร้างทักษะ ฝึกอาชีพ เรียกว่าปิดเทอมครั้งนี้มีคุณค่าและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแน่นอน

โดยกิจกรรม “ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” นี้ เกิดขึ้นมาจากความตั้งใจของผู้ใหญ่ใจดีอย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ซึ่งประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้ง 4 ภาค ที่อยากจุดประกายให้น้อง ๆ เด็กและเยาวชนได้ใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ในช่วงวันวันหยุดและช่วงปิดเทอมใหญ่


เพราะช่วงปิดเทอม และวันหยุด วันว่าง ซึ่งรวมกันแล้วสูงถึง 150 วัน/ปี เด็กและเยาวชนไทยต้องเผชิญภาวะเสี่ยงต่าง ๆ มากมาย โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าปี 2565 มีเด็กเสียชีวิตราว 800 คน โดย 1 ใน 3 เสียชีวิตในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน เดือน มี.ค. – พ.ค สาเหตุการตายอันดับหนึ่งคือการจมน้ำ ขณะที่ข้อมูลศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก พบเด็กบาดเจ็บจากสนามเด็กเล่นที่ไม่ได้มาตรฐานมากถึงปีละ 34,000 คน

แน่นอนว่า หนึ่งในปัญหาที่น่าเป็นห่วงก็คือ ข้อจำกัดเรื่องจำนวนและคุณภาพแหล่งเรียนรู้ ทำให้เด็กไทยจำนวนมากไม่เคยไปแหล่งเรียนรู้หลายประเภท ทั้งศูนย์ฝึกอาชีพ ห้องสมุด สนามกีฬา เหตุผลหลักคือไกลบ้าน สสส. จึงสานพลังภาคี ริเริ่มโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ ตั้งแต่ปี 2561 และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดแพลตฟอร์ม happyschoolbreak.com รวบรวมข้อมูล เชื่อมร้อยกิจกรรมสำหรับเด็กหลากหลายช่วงวัย จากหน่วยงาน และเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงกิจกรรมได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ จากการให้ข้อมูลโดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุถึงผลสำรวจที่ สสส. ได้จัดทำโดยการทำแบบสำรวจเด็กและเยาวชนจำนวน 2 หมื่นคน พบว่า สถานที่ที่เด็ก ๆ จะไปในช่วงวันว่าง อันดับหนึ่งคือ ห้างสรรพสินค้าและตลาดนัด และเมื่อถามว่าอยากได้อะไร เด็ก ๆ ตอบว่าศูนย์ฝึกอาชีพ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ โดยบอกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยมี

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“ด้วยเหตุนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราจึงทำหน้าที่เป็นตัวประสานกลาง ผ่านเครือข่ายและแพลตฟอร์ม องค์กรหลายร้อยองค์กร ถูกชักชวนมา และองค์กรเหล่านี้ก็ไปชวนองค์กรอื่น ๆ เข้ามาเพิ่ม เข้ามาในแพลตฟอร์ม ปิดเทอมสร้างสรรค์.com ซึ่งหลายองค์กรเขามีพื้นที่สำหรับเด็ก ๆ อยู่ เพียงแต่เขามีความจำกัดในการสื่อสารไปถึงเด็ก ๆ เพราะฉะนั้น แพลตฟอร์มนี้ก็จะทำให้องค์กรและเด็ก ๆ มาเจอกันแล้วแมตชิ่งกันตามความสนใจของแต่ละคน ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าจะเป็นการสร้างโอกาสมหาศาลของการที่เด็กจะใช้วันว่างของตัวเองที่มีเป็นร้อยวันให้เป็นประโยชน์ แล้วเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญไม่แพ้สิ่งที่เราหวังให้เด็กเรียนในระบบการศึกษาอีกด้วย”

เมื่อพูดถึงการเรียนรู้ ดร. สุปรีดา ย้ำว่า “การเรียนรู้” นั้นใหญ่กว่า “การศึกษา” เพราะสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่และตลอดชีวิต ทั้งนี้ นอกจากระบบการศึกษาซึ่งเป็นระบบหลัก เรายังมีพื้นที่และมีเวลานอกเหนือจากการศึกษาไม่น้อยเลย และที่สำคัญ น่าสังเกตว่า บ่อยครั้ง เด็ก ๆ เรียนรู้ในช่วงเวลาวันว่างของตัวเอง ดีกว่าเรียนในห้องเรียนของตัวเองด้วยซ้ำ เพราะเขาได้ไปเรียน ไปศึกษา หาประสบการณ์ ในสิ่งที่เขาสนใจจริง ๆ

“โลกยุคนี้ การเรียนรู้ยิ่งง่ายขึ้น และเราก็ได้เรียนรู้ว่า ผู้นำระดับโลกไม่น้อยเลยที่ไม่ได้ใช้วิชาที่เรียนในห้องเรียนเท่าไหร่ แต่สิ่งที่เรียนรู้นอกห้องเรียนกลับกลายเป็นอาชีพหลักของพวกเขา ตัวอย่างของเด็ก ๆ ที่มาในงานปิดเทอมสร้างสรรค์ฯ ไม่น้อยเลยนะครับทำเงินเป็นแสนเป็นล้านไปแล้วจากสิ่งที่เขาได้เรียนรู้นอกห้องเรียน เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้การเรียนรู้รวดเร็วและไม่จำเป็นต้องพึ่งพาห้องเรียนเท่านั้น”


ด้วยความตั้งใจที่จะก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างอย่างสร้างสรรค์และใช้วันว่างให้เกิดประโยชน์สำหรับน้อง ๆ เยาวชน ในปี 2566 นี้ สสส. จึงได้สานพลังภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ ต่อยอดสู่ “เมืองแห่งการเรียนรู้” 4 ภูมิภาค โดยมี 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ อุตรดิตถ์ กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา และ ยะลา พร้อมทั้งมีหน่วยจัดการ ประสานงานและขับเคลื่อนกิจกรรมในพื้นที่ มีฐานข้อมูลแหล่งเรียนรู้ เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์รองรับเด็กและเยาวชนทั่วจังหวัด และมีอีก 25 จังหวัดเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนด้วย

“นอกจากนี้ เรายังได้ร่วมกับภาคีนวัตกรรมซึ่งพัฒนาแอปพลิเคชันให้เยาวชนที่ต้องการหางานพาร์ทไทม์ หลังเลิกเรียนและวันหยุดอีกมากกว่า 1,000 ตำแหน่ง สำหรับปีนี้ สสส.ตั้งเป้าหมายมีภาคีเครือข่ายร่วมเปิดพื้นที่ สร้างกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ ไม่น้อยกว่า 500 องค์กร รวม 5,000 กิจกรรมที่เข้าถึงเด็กและเยาวชนได้โดยตรงไม่น้อยกว่า 200,000 คนทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม เราอยากให้เด็กทั่วประเทศได้เข้าถึงกิจกรรมสร้างสรรค์ช่วงปิดเทอมและวันว่างจึงหวังว่าโครงการนี้จะถูกยกระดับเป็นนโยบายแห่งชาติที่มีเจ้าภาพหลักดำเนินงานต่อเนื่องและครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ” ดร. สุปรีดา ให้ข้อมูล

สำหรับจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน 4 จังหวัดนำร่อง “เมืองแห่งการเรียนรู้” ต้องบอกว่า มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ทางจังหวัดได้สานพลังกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้ง มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ (มรภ.อต.) และเครือข่ายภาคประชาสังคม รัฐ เอกชน ร่วมกันขับเคลื่อนเทศกาล “อุตรดิตถ์ติดยิ้ม” มาอย่างต่อเนื่อง โดยมี สสส. ให้การสนับสนุน นำไปสู่การเกิดพื้นที่เรียนรู้ภายในจังหวัดสูงถึง 105 พื้นที่ รวม 180 กิจกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การทำขนมสำหรับเด็ก ว่ายน้ำ ศิลปะ และ Cover Dance เป็นต้น

นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์
เพราะเล็งเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ระบุว่า ทางจังหวัดกำลังร่วมมือกับ มรภ.อต. เพื่อหนุนเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยตอนนี้อยู่ระหว่างผลิตหลักสูตรที่หลากหลายรูปแบบ ตอบสนองความต้องการประชาชนในพื้นที่ทุกช่วงวัย สามารถเลือกเรียนได้ตามความต้องการ ทุกที่ ทุกเวลา และสามารถเก็บสะสมไว้ในคลังหน่วยกิตได้ ทั้งนี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ ประกาศเป้าหมายสมัครสมาชิก “เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ของยูเนสโก้ ภายในปีนี้

“สิ่งที่เราให้ความสำคัญ คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีสองเรื่องที่เมืองของเราให้ความสำคัญก็คือ เมืองสุขภาวะของคนทุกช่วงวัย และเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะเรามองว่า เมืองของเราจะเข้มแข็ง ก็ต้องเริ่มจากศักยภาพของคนในเมืองของเราซึ่งมีประชากรประมาณ 4 แสน 4 หมื่นกว่าคน จำแนกตามโครงสร้าง อาจจะมีผู้สูงวัยเยอะขึ้น แต่ว่าเขาก็สามารถเรียนรู้ได้ทุกช่วงอายุ เราก็พยายามส่งเสริม สนับสนุน ปักธง เพิ่มพื้นที่ในการเรียนรู้รองรับความต้องการของเขาให้ได้” พ่อเมืองอุตรดิตถ์ กล่าวย้ำ

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ขณะที่ในส่วนของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร ก็กล่าวได้ว่า การเปิดพื้นที่เรียนรู้และสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ กทม. ให้ความสำคัญ โดยนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กทม. ได้มีการขับเคลื่อนงานด้านเยาวชนในหลากหลายมิติ มีวาระเทศกาลการอ่านและการเรียนรู้ โดยเฉพาะเรื่องพื้นที่เรียนรู้ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการรวบรวมพื้นที่ทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน กว่า 200 แห่งทั่วกรุงเทพ เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกเพศ ทุกวัย และ กทม. ก็เตรียมพร้อมที่จะสมัครเป็นสมาชิกเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก้ด้วยเช่นกัน

“จริง ๆ แล้ว กทม. มีแหล่งเรียนรู้ที่ทุกคนพร้อมให้ความช่วยเหลืออยู่มาก แล้วเราก็มีต้นทุนเดิมอยู่ด้วย เช่น มีห้องสมุด 34 แห่ง มีบ้านหนังสือที่เป็นคอนเทนเนอร์ 160 กว่าที่ และยังมีศูนย์เยาวชน ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เราก็รวมมาแล้ว ได้ประมาณ 200 กว่าที่ แต่ในลิสต์ยังมีอีกเกือบพันที่ ที่เราคิดว่าน่าจะเพิ่มขยายผลไปได้ คือความสนใจของเด็ก ๆ ก็มีหลากหลาย บางคนชอบไปสวนสาธารณะ บางคนไปลานกีฬา ตอนนี้เราจะต้องมา Pot Match เพื่อดูว่าเด็ก ๆ เขาอยู่ที่ไหนกันเยอะ ลานกีฬา สวนสาธารณะ เป็นต้น แล้วเราค่อยไปดูว่าจะเพิ่มแหล่งเรียนรู้บนพื้นที่เหล่านี้ได้อย่างไร ทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ”

รองผู้ว่าฯ กทม. ยกตัวอย่างว่า โรงเรียนซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้ว ถ้าในช่วงวันหยุดของแต่ละปีที่มีอยู่ราว ๆ 150 วัน หากเปิดพื้นที่ในโรงเรียนให้เด็ก ๆ สามารถมาใช้ชีวิตได้ เรียนรู้ได้ กับคุณครูหรือจิตอาสา ก็จะเป็นการดี ยกตัวอย่างโปรแกรม Saturday School ที่ทำและเห็นผลไปก่อนหน้านี้แล้ว

นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา
แม้จะเป็นเมืองเล็ก ๆ แต่ความตั้งใจและมุ่งมั่นนั้นยิ่งใหญ่ในแง่ของการเรียนรู้และพัฒนา สำหรับจังหวัดยะลา ซึ่งจากการเปิดเผยข้อมูลโดยนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ระบุว่า เทศบาลยะลาให้ความสำคัญกับเรื่องเด็กและเยาวชน มีการสนับสนุนงานหลายด้าน ทั้งการศึกษา สร้างอาชีพ ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม พหุวัฒนธรรม โดยงานล่าสุด เทศบาลได้นำชุดของมุสลิมไปสู่เวทีโลก ด้วยการจัดแสดงในงาน “ลอนดอนแฟชั่นวีค”

“ในส่วนเทศบาลยะลา เราได้มีการเปิดพื้นที่เรียนรู้หลายแห่ง หลายรูปแบบ รองรับเด็กและเยาวชนทั้งในเทศบาลและพื้นที่ใกล้เคียง สร้าง TK PARK แล้ว 2 แห่ง ปัจจุบันกำลังสนับสนุนให้มี TK PARK 4 มุมเมืองในเทศบาลยะลา และคาดว่าจะสมัครเป็นสมาชิกเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก้ ภายในปีนี้เช่นกัน” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวย้ำความตั้งใจ

อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีเพียงแค่หน่วยงานภาครัฐเท่านั้นที่พร้อมขับเคลื่อนพื้นที่การเรียนรู้และสร้างสรรค์เพื่อสร้างช่วงเวลาอัศจรรย์ให้กับน้อง ๆ เด็กและเยาวชนในช่วงวันหยุด แต่อีกหลากหลายหน่วยงานก็พร้อมเป็นกำลังสำคัญในด้านนี้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ซึ่ง ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการ อพวช. ระบุว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจมากที่ได้เข้ามาร่วมในแพลตฟอร์มนี้ที่ สสส. สร้างขึ้น โดย อพวช.ยินดีที่จะทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ อย่างเต็มกำลัง ทั้งในกรุงเทพฯ และ ต่างจังหวัด

ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการ อพวช.
“ในช่วงปิดเทอมนี้ อพวช. ได้เตรียมกิจกรรมรองรับเยาวชน ผู้ปกครอง ให้มาใช้เวลาว่างทำกิจกรรมร่วมกัน โดย อพวช. มีพื้นที่ให้บริการที่มีความหลากหลายรองรับความสนใจผู้เข้าชมได้ทุกช่วงวัย เช่น พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ของเราที่มีเป้าหมายอยากให้เด็กและเยาวชนให้เรียนรู้ว่า วิทยาศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้น อย่างเช่น การมีผมยาวสลวย ต้องดูแลยังไง วิทยาศาสตร์มีคำตอบให้ หรือคนที่เต้นคัฟเวอร์แดนซ์ได้ ร่างกายคุณต้องแข็งแรงระดับหนึ่งนะ ต้องพักเท่าไหร่ ต้องกินอะไร พวกนี้คือวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ควรจะแทรกอยู่ในทุก ๆ กิจกรรม และทำให้วิทยาศาสตร์มันง่ายและสนุก” ผู้อำนวยการ อพวช. กล่าวด้วยรอยยิ้ม

ขณะที่อีกหนึ่งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอย่างองค์การการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ EGAT ก็เข้ามาร่วมในแพลตฟอร์มนี้ด้วย ซึ่งหลายคนอาจนึกสงสัยว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เกี่ยวข้องอย่างไรกับการเรียนรู้ ในเรื่องนี้ นางสาวตติยา สาครพันธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์องค์การการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตของพวกเรา แต่ยังขาดความเข้าใจอยู่เยอะ เนื่องจากไฟฟ้าเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ EGAT จึงคิดว่าอยากจะนำเรื่องนี้มาให้เด็ก ๆ เยาวชนได้เข้าใจ ซึ่งเมื่อมีความเข้าใจ เด็ก ๆ อาจจะเกิดแรงบันดาลใจอะไรขึ้นมาก็ได้ที่จะสร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต

“เมื่อก่อน เวลาพูดถึงเขื่อนหรือโรงไฟฟ้า เรามักจะมองว่ามันคือพื้นที่ที่ต้องเคร่งครัดเรื่องความปลอดภัย แต่พอมาถึงวันนี้ เราเห็นว่า เขื่อนหรือโรงไฟฟ้า มันคือแหล่งเรียนรู้ที่เป็นของจริง ทำให้ได้ไปเรียนรู้และเห็นของจริงตั้งอยู่ด้วยกันเลย ตอนนี้ EGAT มีศูนย์การเรียนรู้อยู่กับโรงไฟฟ้าหรือเขื่อนแล้ว 8 ที่ ซึ่งแต่ละที่ก็จะมีเรื่องราวแตกต่างกันไป โดยจุดประสงค์ คือเราอยากให้ศูนย์เรียนรู้ของเราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ให้ชุมชนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของศูนย์เรียนรู้ของเรา กับโรงไฟฟ้าของเรา ทั้งนี้นอกจากเรื่องราวการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงต่าง ๆ แล้ว เรายังมีเรื่องราวของชุมชนนั้น ๆ อยู่ในศูนย์ด้วย” นางสาวตติยา ให้รายละเอียด


อีกหนึ่งหน่วยงานที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ เพราะให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของน้อง ๆ เยาวชนถึงขั้นมีโครงการที่ทำต่อเนื่องมานานกว่า 13 ปีแล้ว และล่าสุดก็ได้เข้ามาร่วมในแพลตฟอร์มของ สสส. ซึ่ง นางสาวมาริสา จงคงคาวุฒิ หัวหน้ากิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เล่าให้ฟังว่า จากปรัชญาของทีทีบี ที่ว่า Make REAL Change นั้นไม่ได้มีเป้าหมายแค่ในเชิงธุรกิจเท่านั้น แต่ยังมีความหมายต่อสังคมด้วย

“เราอยากจะ Make REAL Change ให้กับสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยาวชน คีย์เวิร์ดเพื่อการเปลี่ยนชุมชนยั่งยืนหรือเยาวชนของเรา คือการสอนจับปลาแทนการให้ปลา ดังนั้น โครงการซีเอสอาร์ของเรา ที่เข้าสู่ปีที่ 14 แล้วในปีนี้ เรามีโครงการหลักชื่อว่า ไฟฟ้า แต่เป็นไฟฟ้าในมุมของการจุดประกายเยาวชนและชุมชน ไฟก็หมายถึงพลังที่ซ่อนอยู่ในตัวเด็ก ฟ้าคือสีแห่งการให้ของอาสาสมัครทีทีบี ซึ่งตอนนี้เรามีศูนย์เรียนรู้ไฟฟ้ารวม 5 แห่ง กรุงเทพ 3 แห่ง คือที่ประชาอุทิศ ถนนจันทน์ บางกอกน้อย ส่วนปริมณฑลอยู่ที่สมุทรปราการและนนทบุรี”

นางสาวมาริสา กล่าวเพิ่มเติมว่า ทีทีบีต้องการที่จะให้องค์ความรู้แก่เด็กและเยาวชน โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือวัยรุ่นช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ คือ 12 – 17 ปี ซึ่งโครงการไฟฟ้าดังกล่าวนี้เป็นพื้นที่ที่จุดประกายให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และค้นพบศักยภาพของตัวเองผ่านการสอนทักษะทางศิลปะและทักษะชีวิต โดยเป็นการสอนฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย


จากทั้งหมดที่กล่าวมา ต้องบอกว่า น่าดีใจแทนน้อง ๆ เด็กและเยาวชนจริง ๆ ที่มีผู้ใหญ่ใจดีพร้อมเปิดพื้นที่เรียนรู้เพื่อให้ทุกคนได้ใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์และเกิดประโยชน์ ซึ่งในมุมมองของ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เห็นว่า การลงทุนลงแรงเพื่อสร้างเด็ก ๆ เยาวชนนั้น เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด

“ไม่มีการลงทุนไหนที่จะคุ้มค่าไปกว่าการลงทุนในเด็กและเยาวชน มันเหมือนเราเริ่มต้นตั้งแต่การสร้างฮาร์ดแวร์เลย ถ้าเราไม่ได้ฮาร์ดแวร์ที่ดี วันข้างหน้า จะเติมซอฟต์แวร์อีกเท่าไหร่ ก็ไม่ค่อยเห็นผล เพราะฉะนั้น เด็กและเยาวชนเป็นทั้งฮาร์ดแวร์ เป็นทั้ง Operation System ที่ดี ที่เป็นฐานสำคัญ เมื่อฐานแข็งแกร่งแล้ว ในอนาคตจะเติมซอฟต์แวร์อะไรเข้าไปก็มีคุณค่า

“ดังนั้น วันนี้ ทั้งภาครัฐ ราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ภาคท้องถิ่น ภาคเอกชน ชุมชนต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งชมรมผู้สูงอายุที่ทำขนมเก่ง ทำก๋วยเตี๋ยวอร่อย เป็นต้น ก็เข้ามาร่วมในแพลตฟอร์มนี้ได้หมด หัวใจสำคัญคือ เราอยากจะชวนทุกคนมาสร้างแพลตฟอร์มนี้ มาเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มนี้ด้วยกัน เราเริ่มมาหลายปี แต่หยุดชะงักไปช่วงโควิด ถ้าปีนี้เรากลับมาสานต่อแล้วเดินต่อไปเรื่อย ๆ ขยายหน่วยงานที่เข้ามาร่วมให้กว้างขวางไปเรื่อย ๆ ผมว่า เราจะสร้างการขับเคลื่อนใหญ่ ให้เด็กและเยาวชนของเราเป็นฐานสำคัญต่อไปได้ครับ” ดร. สุปรีดา กล่าวทิ้งท้าย

รู้แบบนี้แล้วจะช้าอยู่ไย น้อง ๆ เยาวชน ตลอดจนพ่อแม่ผู้ปกครองที่สนใจจะให้ลูก ๆ ได้ใช้วันว่างให้เกิดประโยชน์ กดเข้าไปที่เว็บไซต์ปิดเทอมสร้างสรรค์ https://happyschoolbreak.com/ ที่มีกิจกรรมมากมายให้น้อง ๆ ได้เข้าร่วมตามความสนใจ รับรองได้เลยว่า ปิดเทอมนี้จะมีแต่กิจกรรมดี ๆ สนุกและสร้างสรรค์ ซึ่งจะทำให้น้อง ๆ ได้พบกับความอัศจรรย์ของวันว่างอย่างแน่นอน










กำลังโหลดความคิดเห็น