รมว.การอุดมศึกษาฯ ปลุกกระแสทุ่งสง ดัน "ฟื้นใจเมือง" ยืนหนึ่งสินค้าจากทุนวัฒนธรรมสู่ตลาดชุมชน สร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น
เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิด “มหกรรมฟื้นใจเมือง ณ ทุ่งสง” ที่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งงานนี้ได้จัดขึ้นโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่ และร่วมกันฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมให้เกิดเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก กล่าวในการเปิดงานครั้งนี้ว่า การสร้าง "ตลาดสินค้าวัฒนธรรม" ต้องจัดอย่างน้อย 50 - 75 ครั้ง ถ้ามีคนมาซื้อมาขายเพิ่มขึ้น ถึงจะยั่งยืน แต่ทุ่งสงทำมาแล้วกว่า 219 ครั้ง ต้องขอชื่นชมการทำงานของคนในพื้นที่และจังหวัด "ฟื้นใจเมือง" เป็นโครงการที่เข้ามาส่งเสริมให้คนทุ่งสงเข้าใจตัวเองมากขึ้น เข้าใจว่าสำคัญอย่างไร มีรากเหง้าอย่างไร ต้องฟื้นใจเมืองขึ้นมาให้คนนครศรีธรรมราชได้ภูมิใจในอดีต ศรัทธาในปัจจุบัน และเชื่อมั่นต่อไปยังอนาคต อ.ทุ่งสง มีอารยธรรม มีลักษณะพิเศษโดดเด่นและเป็นตัวของตัวเอง ที่ผ่านมามักเป็นการจัดกิจกรรมตามแบบ event ถ้าไม่มีงบประมาณมา ชาวบ้านก็ไม่อยากทำ แต่กระทรวง อว.เป็นกระทรวงแห่งความรู้ วิจัยและปัญญา เราจะไม่ทำแค่ event "ตลาดฟื้นใจเมือง" เป็นตลาดวัฒนธรรม เราจะเปลี่ยน mindset ของชาวทุ่งสงให้พึ่งพาตัวเองได้ เชื่อมั่นในตนเอง
รมว.อว. กล่าวต่อว่า ในต่างประเทศศิลปินที่เป็นมืออาชีพจะมีค่าแรงสูงมาก ส่วนในประเทศไทยเรามีชาวบ้าน เกษตรกรที่มีความเป็นศิลปินมือสมัครเล่น แต่มีฝีมือเทียบเท่าศิลปินมืออาชีพในต่างประเทศ เขามีค่าแรงถูกมาก เราต้องเร่งสร้างเศรษฐกิจไทยให้เป็น "ศิลปะ อารยะ สุนทรียะ" โดยเราต้องฟื้นของเก่าในชุมชน ท้องถิ่นที่มาจากฐานเดิม เพราะในประเทศไทยเรามีทุนทางวัฒนธรรมอยู่มาก ประกอบกับปัจจุบันโลกของเราเปลี่ยนไปมาก เมื่อก่อนศิลปะ อารยะและสุนทรียะของเอเชียขายไม่ได้ แต่ตอนนี้โลกมีหลายขั้ววัฒนธรรม มีหลายขั้วรสนิยม ฝรั่งหันมาชอบอาหารไทย ศิลปะไทย นวดไทย ทำให้ศิลปะ อารยะและสุนทรียะของเรากินได้ กระทรวง อว.ของเรามีวิทยาการที่จะช่วยต่อยอดสิ่งเหล่านี้ให้ไปต่อได้แบบยั่งยืน งานวิจัยนี้เป็นตัวอย่างผลงานวิจัยที่ไม่ต้องทำบนกระดาษ แต่มันกินได้ เป็นวิจัยที่มีความปิติยินดี เพราะพัฒนาพื้นที่และดึงคนในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมได้จริง ซึ่งนั่นเป็นหัวใจของการวิจัย และถ้าเป็นไปได้ เราตัองนำสิ่งที่ทำแล้วประสบความสำเร็จมาเขียนเป็นตำรา แล้วส่งออกไปให้โลกได้รู้ และได้เอาไปใช้ประโยชน์
ด้าน ดร.ลีลาภรณ์ บัวสาย ประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อนวิทยสถานธัชภูมิ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับงานนี้หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ให้ทุนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 จุดตั้งต้นของงานนี้คือ นำทุนทางวัฒนธรรมออกมาเป็นรายได้ จะช่วยให้มีการฟื้นวัฒนธรรมต่างๆ ให้กลับมา และงานนี้เป็นต้นแบบของผลงานวิจัย ที่อยากจะให้ขยายไปทั่วประเทศ แต่ต้องไปอย่างมีคุณภาพ เป้าหมายคือสร้าง "เศรษฐกิจท้องถิ่น" สร้างรายได้ให้กับเจ้าของพื้นที่ เช่น "ยาหนม" คือกาละแมที่ห่อด้วยใบจาก ซึ่งรายได้จะเริ่มตั้งแต่คนห่อใบจาก คนรีดใบจาก รายได้ล้วนตกอยู่กับเจ้าของทรัพยากรซึ่งเป็นคนในพื้นที่ทั้งสิ้น ซึ่งรายได้นั้นไม่น้อย โดยรวมเป็นจำนวน กว่า 100 ล้านบาท
โดยในงานมีการจัดกิจกรรมพิเศษมากมาย อาทิ ขบวนพาเหรดทองสูง Fancy Masks ขบวนกลองยาวครึกครื้นฟื้นใจเมือง ที่ชาวบ้านเชื่อกันว่าหุ่นเชิดทองสูงมีความศักดิ์สิทธิ์ จะคอยปกปักรักษาคนในชุมชนให้มีความสงบสุข นิทรรศการภาพถ่ายทางประวัติศาสตร์ พร้อมภาพเก่าหาชมได้ยากของเมือง นิทรรศการผลงานของเด็กและเยาวชน การแสดงผลงานด้านศิลปะ รวมถึง Light-up ไฟประดับ ปลุกชีวิตให้กับอาคารบ้านเรือนตลอดพื้นที่ย่านวัฒนธรรม การออกร้านจำหน่ายสินค้า ของผู้ค้าซึ่งเป็นคนในพื้นที่กว่า 150 ร้านค้า