xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทย์ถ่ายทอดการผลิตชุดตรวจ "วัณโรค" ให้เอกชน เพิ่มเข้าถึง เผยรู้ผลเร็ว 2 ชม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมวิทย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตชุดทดสอบวัณโรคให้เอกชน จำหน่ายเชิงพาณิชย์ ช่วยเพอ่มการเข้าถึงของ รพ. ลุยค้นหาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็ว แม่นยำ รู้ผลเร็วใน 2 ชม.

เมื่อวันที่ 14 มี.ค. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นายนนทศักดิ์ ประยูรเธียร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เออีซี เฮลธ์แคร์ จำกัด ร่วมลงนามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชุดทดสอบวัณโรค DMSc-TB FastAmp (TB-LAMP)


นพ.ศุภกิจกล่าวว่า วัณโรค (TB) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis ส่วนใหญ่มักเกิดที่ปอด ร้อยละ 80 แพร่เชื้อได้ง่าย แต่อาจพบวัณโรคนอกปอดได้ เช่น เยื่อหุ้มปอด ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลัง ข้อต่อ ช่องท้อง ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาท เป็นต้น ไทยมีอุบัติการณ์ผู้ป่วยวัณโรค 150 ต่อ 1 แสนประชากรหรือปีละ 105,000 คน สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยกินยาครบตามที่แพทย์สั่ง อย่าหยุดกินยาเองเด็ดขาด ไปพบแพทย์ตามนัดจนกว่าแพทย์จะสั่งหยุดยา เพื่อป้องกันเชื้อวัณโรคดื้อยา

ทั้งนี้การค้นหาผู้ป่วยเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการยุติปัญหาวัณโรคของประเทศ กรมฯ จึงพัฒนาชุดทดสอบ DMSc-TB FastAmp (TB-LAMP) ตรวจหาเชื้อกลุ่มวัณโรค ด้วยเทคนิค LAMP เป็นการตรวจดีเอ็นเอของเชื้อวัณโรคจากตัวอย่างเสมหะ โดยเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรม วิธีตรวจง่าย แม่นยำสูง อ่านผลรวดเร็วด้วยตาเปล่า รู้ผลใน 2 ชั่วโมง ทำได้ในห้องปฏิบัติการ รพ.ทั่วไป สปสช.บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ จ่ายค่าบริการ 200 บาทต่อคน แต่น้ำยาที่จำหน่ายในท้องตลาดมีราคาประมาณ 300 บาท ปัจจุบันมี รพ.ต่างๆ ในประเทศ สามารถใช้ชุดตรวจด้วยชุดทดสอบนี้มากกว่า 40 แห่ง ส่งผลดีในการค้นหาผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรค หรือกลุ่มเป้าหมายในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง คนที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค


"เนื่องจากกรมฯ ไม่สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้ จึงถ่ายทอดเทคโนโลยีให้บริษัทเอกชนผลิตในเชิงพาณิชย์ จะช่วยให้สถานพยาบาลเข้าถึงได้ง่าย ในราคาที่เหมาะสมภายใต้การดูแลของกรมฯ เพิ่มช่องทางให้บริการ เพื่อประโยชน์ต่อคนที่สงสัยว่าเป็นวัณโรคจะได้รับการตรวจที่เร็วขึ้น ค้นหาและนำเข้าสู่ระบบการรักษาที่รวดเร็ว เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนการควบคุมและป้องกันวัณโรคให้ลดน้อยลงเรื่อยๆ" นพ.ศุภกิจกล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น