xs
xsm
sm
md
lg

CDC ยันร่วมไทย ยกระดับเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ ย้ำต้องฉีดบูสต์วัคซีนโควิด แม้แนวโน้มดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"อนุทิน" นำทีมทูตสหรัฐฯ และผอ.CDC เยี่ยมชมสถาบันบำราศฯ ถอดบทเรียนสู้โรคอุบัติใหม่ ในโอกาสครบรอบสัมพันธ์ 2 ประเทศ 190 ปี ระลึก 20 ปีโรคซาร์ส เดินหน้าสร้างความร่วมมือเฝ้าระวังโรคในอนาคต ทั้งคนสู่คนและสัตว์สู่คน CDC ยันต้องฉีดบูสเตอร์วัคซีนโควิด โดยเฉพาะอายุ 65 ปีขึ้นไป แม้แนวโน้มการระบาดดีขึ้น

เมื่อวันที่ 14 มี.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังนำนายโรเบิร์ต เอฟ.โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย พญ.โรเชล วาเลนสกี ผอ.ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (CDC) และคณะฯ เยี่ยมชมสถาบันบำราศนราดูร ว่า ไทยและสหรัฐฯ มีความร่วมมือด้านสุขภาพมานานถึง 43 ปี มีการแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ และข้อมูลที่หลากหลายเกี่ยวกับการป้องกันควบคุมโรค โดยเฉพาะช่วงโควิด 19 ไม่เพียงแต่พัฒนาขีดความสามารถการป้องกันควบคุมโรคในระดับประเทศ ยังขยายไประดับภูมิภาคและระดับโลกด้วย และเนื่องในโอกาสฉลองความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ครบรอบ 190 ปี สธ.ไทย โดยสถาบันบำราศนราดูร จึงเชิญเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ผอ.ศูนย์ CDC และคณะฯ เยี่ยมชมห้องพักผู้ป่วยที่ได้พัฒนาขึ้นเมื่อ นพ.คาร์โล เออบานนี แพทย์องค์การอนามัยโลกคนแรกที่ประกาศเตือนภัยต่อสาธารณะให้เตรียมรับมือกับโรคซาร์ส ก่อนที่จะติดเชื้อและเข้ารับการรักษาที่สถาบันบำราศฯ เป็นผู้ป่วยรายแรกของไทย และเสียชีวิตในปี 2003 รวมถึงเพื่อระลึกถึงความสัมพันธ์ต่อวงการสาธารณสุข ถอดบทเรียนควบคุมการติดเชื้อของไทย เช่น การรักษาผู้ป่วยรายแรกของโควิด 19 เตรียมความพร้อมตอบโต้โรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในอนาคต และการสานต่อความร่วมมือเพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพทั่วโลก


นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค กล่าวว่า ทั้ง 2 ประเทศมีความร่วมมือครอบคลุมหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือ CDC กับ สธ.ไทยตลอดหลายทศวรรษ ช่วยเสริมสร้างความมั่นคง เสมอภาค เข้าถึงบริการสุขภาพ จึงตั้งสำนักงานขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งนอกสหรัฐฯ ที่ไทย ตัวอย่างความสำเร็จ เช่น ปี 2559 CDC สนับสนุนช่วยให้ไทยเป็นประเทศแรกที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกว่า สามารถยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้สำเร็จ หรือปี 2564 ร่วมวิจัยให้เกิดยาต้านไวรัสก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวีชนิดใหม่ที่มีประสิทธิผล และช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้คนปลอดภัยจากโควิด สนับสนุนไทยเป็นผู้นำติดตามผู้สัมผัสเชื้อ ดำเนินมาตรการควบคุมต่างๆ ใน กทม. สนับสนุนการตรวจเลือดผู้ที่อยู่ในกลุ่มวิกฤต พัฒนาเครือข่ายตรวจประเมินประสิทธิผลวัคซีนโควิดและวัคซีนไข้หวัดใหญ่

"ผลความสำเร็จหลายเรื่อง เด็กที่มีความเสี่ยงจึงสามารถเติบโตขึ้นโดยมีสุขภาพที่แข็งแรง ครอบครัวเข้าถึงยาช่วยชีวิต พ่อแม่ไปทำงาน ปู่ยาตายายเลี้ยงดูบุตรหลานได้ หลายล้านคนมีสุขภาพแข็งแรงและมีความสุขกับกิจวัตรประจำวันเพราะความร่วมมือนี้ ในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ 190 ปี เราไม่ได้มองเพียงความสำเร็จในอดีต แต่ยังมองไปถึงอนาคตเพื่อหาแนวทางใหม่ๆ ในการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คน" นายโรเบิร์ตกล่าว


ด้าน พญ.โรเชลกล่าวว่า ในวาาระครบรอบ 20 ปีการเกิดโรคซาร์ส สถาบันบำราศฯ มีบทบาทสำคัญในการตอบโต้โรคซาร์สในไทย ขณะรักษา นพ.คาร์โล ซึ่งเป็นคนแรกที่ระบุว่าซาร์สเป็นโรคใหม่แพร่กระจายง่าย โดยขอให้ระลึกถึง นพ.คาร์โลและทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากโรคดังกล่าวและเสียชีวิต ระลึกถึงบุคลากรที่เสี่ยงชีวิตรักษาผู้ป่วย และบทเรียนที่ได้จากการระบาด เช่น ระบบเฝ้าระวังเพื่อค้นหาภัยคุกคามด้านสาธารณสุข แนวปฏิบัติควบคุมการติดเชื้อ เพื่อปกป้องผู้ป่วยและผู้ดูแลรักษา สร้างศักยภาพในการตอบโต้อย่างมีประสิทธิผล เพื่อควบคุมการระบาดอย่งรวดเร็วก่อนเป็นอันตรายร้ายแรง วันนี้ตั้งตารอเยี่ยมชมหอผู้ป่วยพิเศษที่สร้างขึ้นในสถาบันบำราศฯ เพื่อดูแลผู้ป่วยโรคติดต่อที่แพร่กระจายง่าย ซึ่งจัดขึ้นให้มีหลังดูแล นพ.คาร์โล และอีกเรื่องคือความสำคัญของการสื่อสารกับสาธารณชนที่เกี่ยวกับการระบาด เพื่อที่จะปกป้องตนเองและคนที่รักและชุมชนไม่ให้รับผลกระทบได้ ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียเป็นจุดศูนย์กลางของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นไวรัสนิปาห์ ซาร์ส ไข้หวัดนก รวมถึงโควิด CDC และ สธ.ทำงานร่วมกันหลายปี เช่น อบรมผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาภาคสนาม เสริมศักยภาพห้องปฏิบัติการและสอบสวนโรค ก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินที่ทันสมัย ไม่เพียงช่วยไทยตอบโต้การระบาดของโรคติดเชื้อในไทยอย่างมีประสิทธิผล แต่ยังสร้างสักยภาพของชาติสมาชิกอาเซียนและประเทศอื่นๆ ด้วย

"เราต้องยกระดับมาตรการความมั่นคงด้านสุขภาพยิ่งขึ้นต่อไป เพื่อเตรียมรับสถานการณ์วิกฤตด้านสุขภาพระดับโลกในอนาคต ยืนยันที่จะร่วมงานกับไทยและอาเซียน ตั้งแต่ป้องกันและควบคุมโรค เช่น มาลาเรีย เอชไอวี ไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัสอื่นๆ และภัยคุกคามด้านสาธารณสุขต่างๆ โดยเราไม่อาจปกป้องประเทศใดประเทศหนึ่งได้ หากไม่ปกป้องทุกประเทศไปพร้อมกัน" พญ.โรเชลกล่าว

เมื่อถามถึงสถานการณ์โรคโควิด 19 และการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ พญ.โรเชลกล่าวว่า แม้ตัวเลขติดเชื้อและเสียชีวิตจะน้อยลง เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันมากขึ้นทั้งจากวัคซีนและการติดเชื้อ แม้จะมีแนวโน้มที่ดี แต่อยากให้ทุกคนรับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ต่อไป อย่างวัคซีนชนิด Bivalent โดยไปรับที่ รพ. ซึ่งเมื่อใกล้ฤดูหนาวก็มีโอกาสติดเชื้อเพิ่มขึ้น คนก็จะมารับบริการมากขึ้น โดยขอให้คนอายุ 65 ปีขึ้นไปเข้ามารับบูสเตอร์โดส โดยการพัมฯาวัคซีนมีการเดินหน้าตลอดเวลา ไม่เฉพาะแค่โควิด แต่เป็นไวรัสตระกูลโคโรนาทั้งหมด เหมือนพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สำหรับในอนาคตเราต้องเฝ้าระวังภัยต่างๆ โดยเสริมศักยภาพห้องปฏิบัติ โรคตดเชื้อจากคนสู่คนและสัตว์สู่คน




กำลังโหลดความคิดเห็น