xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 3 ปัจจัยคิดให้ดี ก่อนตัดสินใจเลือกวิธีบำบัดทดแทนไต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สปสช. แนะผู้ป่วยไตวายรายใหม่ คุยกับแพทย์ พิจารณา 3 ปัจจัยหลัก ก่อนเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสม ทั้งล้างไตทางช่องท้อง ฟอกเลือด และผ่าตัด ชี้แต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียต่างกัน ถ้าเลือกไม่เหมาะสมอาจเกิดผลกระทบสุขภาพ

เมื่อวันที่ 13 มี.ค. นพ.ชุติเดช ตาบองครักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี กล่าวว่า ไทยมีผู้ที่อยู่ในภาวะไตเสื่อมเกือบ 8 ล้านคน เข้าสู่การบำบัดทดแทนไต 1.5 แสนคน มีผู้ป่วยรายใหม่ที่ต้องเข้าสู่การบำบัดทดแทนไตปีละ 2 หมื่นคน ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงมาก ทั้งนี้ บอร์ด สปสช.มีนโยบายให้ผู้ป่วยบัตรทองเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตได้ พิจารณาร่วมกับแพทย์ผู้รักษา พบมีผู้ป่วยที่เลือกใช้เครื่องไตเทียมกว่า 50% ของผู้ป่วยรายใหม่


นพ.ชุติเดชกล่าวว่า การบำบัดทดแทนไตแต่ละวิธีมีข้อดีข้อด้อยต่างกัน ควรพิจารณาเลือกวิธีที่เหมาะสมกับตัวเอง หากเลือกวิธีที่ไม่เหมาะสมอาจเกิดผลกระทบกับสุขภาพได้ ปัจจุบันไทยมี 3 วิธี คือ 1.ผ่าตัดปลูกถ่ายไต เป็นวิธีการที่ดีที่สุด แต่ต้องรอรับบริจาคไต 2.ล้างไตทางช่องท้อง (PD) จะถูกวางสายเข้าทางหน้าท้อง ปล่อยน้ำยาเข้าไป 2 ลิตร ทำวันละ 4 ครั้ง ข้อดีล้างของเสียทุกวัน ไม่ต้องเดินทาง อยู่บ้านทำเองได้ แต่ต้องมีทีมผู้ดูแล หากไปไหนมาไหนต้องพกน้ำยาไปให้พอใช้งาน ค่อนข้างกลัวเรื่องติดเชื้อ ปัจจุบันมีเครื่องล้างไตอัตโนมัติ APD ทำช่วงกลางคืนก็สะดวกขึ้น สปสช.สนับสนุนค่าใช้จ่าย


และ 3.ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) จะต้องทำเส้นเลือดสำหรับดึงเลือดออกมาฟอกในเครื่องฟอกไต ใช้เวลาฟอกครั้งละ 4 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2-4 ครั้ง ข้อดีไม่ต้องทำเอง แต่ต้องไปฟอกที่ รพ. ทำให้ลำบากเดินทาง มีโอกาสความดันตก ฯลฯ โดยประสิทธิผลล้างไตช่องท้องและฟอกเลือดไม่ต่างกันมาก ผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องอัตรารอดชีวิตระยะ 10 ปีอยู่ที่ 15% ฟอกเลือดเกือบ 20% ผ่าตัดปลูกถ่ายไตสูงถึง 40% สิ่งที่สำคัญคือให้ความรู้กับคนไข้แล้วเลือกวิธีที่เหมาะสม

ทั้งนี้ การพิจารณาเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสมมี 3 ปัจจัยคือ 1. ปัจจัยทางคลินิกของผู้ป่วย เช่น อายุยิ่งมากความเสี่ยงต่อการฟอกเลือดจะยิ่งสูง เพราะต้องดึงเลือดออกมาข้างนอก ทำให้มีโอกาสความดันต่ำ หัวใจขาดเลือด สมองขาดเลือด พิจารณาโรคร่วม เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต โรคหัวใจ หรืออยู่ในระยะสุดท้าย เช่น โรคมะเร็ง ตับแข็ง หากมีก็เหมาะกับการล้างไตทางหน้าท้องมากกว่า 2. ปัจจัยร่วมมิติอื่นๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ การเดินทาง เพราะหากเลือกวิธีการฟอกเลือดก็ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายทางอ้อม คนไข้ที่มีสถานะทางเศรษฐกิจไม่ค่อยดีก็จะมีปัญหา และ

และ 3. ความพร้อมของญาติ เช่น หากเลือกวิธีการฟอกเลือดก็ต้องให้ญาติขับรถไปส่งเพราะคนไข้ขับรถเองไม่ได้ บางคนขับมาเองแต่ฟอกเลือดเสร็จรู้สึกจะเป็นลม ขับรถกลับไม่ได้ เป็นต้น




กำลังโหลดความคิดเห็น