หมอห่วงคนรุ่นใหม่ ไม่ยอมหลับ ไม่ยอมนอน ในยุคโซเชียล ทำพักผ่อนไม่พอ รู้สึกไม่สดชื่น สมาธิสั้น ระวังเส้นเลือดสมอง-หัวใจ ย้ำใช้เตียงเพื่อนอนเท่านั้น ใช้มือถือบนเตียงกระทบคุณภาพการนอน
เมื่อวันที่ 10 มี.ค. พญ.เปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์ปอด สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวถึงการนอนหลับ เนื่องในวันนอนหลับโลก 10 มี.ค. ว่า การนอนหลับที่เพียงพอ มีคุณภาพการนอนหลับที่ดี มีความสำคัญต่อสุขภาพอย่างมาก เพราะทำให้ร่างกายได้พักผ่อน ระบบไหลเวียนของเลือดดี ความจำดี สมาธิดี แต่ปัจจุบันนอกจากปัญหาการนอนไม่หลับที่พบมากในผู้สูงอายุกว่า 30-40% หรือคนที่มีโรคประจำตัวบางอย่างทำให้คุณภาพการนอนไม่ดี ยังพบว่า บางส่วนมีปัญหา “ไม่ยอมหลับ ไม่ยอมนอน” ซึ่งพบมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก
พญ.เปี่ยมลาภ กล่าวว่า การนอนหลับเป็นการพักผ่อนร่างกายให้มีพลัง รู้สึกชดชื่นในวันถัดไป หากไม่ยอมหลับไม่ยอมนอน จะทำให้ไม่สดชื่น เพลีย วิงเวียนศีรษะ ทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดี สมาธิสั้นลง ส่วนจะสะสมทำให้เกิดโรคอะไรในอนาคตคงชี้ไม่ได้ 100% แต่มีโอกาสทำให้มาพบแพทย์ด้วยปัญหาวิงเวียนศีรษะ กระทบกับระบบการไหลเวียนของหลอด เส้นเลือดมีปัญหา ปัญหาเส้นเลือดหัวใจ มีปัญหาไต เมื่ออายุมากขึ้น
สำหรับคำแนะนำให้มีคุณภาพการนอนที่ดีทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะทำให้ความจำดี สมาธิดี ต้องกำหนดให้ชัดว่าเตียงมีไว้นอนเท่านั้น ไม่ควรทำกิจกรรมที่ทำให้หลับยาก ควรออกกำลังกายทุกวัน จะทำให้หลับได้ดีขึ้น แต่ไม่ควรออกกำลังกายใกล้เวลาเข้านอน ห้องต้องมืด ลด แสง สี เสียง ที่รบกวนการนอน
“ข้อกำหนดคุณภาพการนอนที่ดีข้อหนึ่งคือ ต้องอยู่ในที่ค่อนข้างมืด สงบ หากมีการใช้สายตา ใช้อินเทอร์เน็ตตลอดเวลา จะเกิดสิ่งกระตุ้นตลอด การเอามือถือวางข้างตัว มีเสียงปรี๊ดขึ้นมาทีหนึ่งก็สะดุ้งตื่น ทำให้คุณภาพการนอนที่ไม่ดี จึงมีคำแนะนำการใช้เตียง ว่า เตียงมีหน้าที่สำหรับนอนเป็นหลัก ไม่แนะนำให้ขึ้นเตียงแล้วเอามือถือ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ขึ้นไปอ่าน เพราะกระตุ้นให้หลับยาก ใช้เตียงเมื่อง่วงและต้องการนอนเท่านั้น” พญ.เปี่ยมลาภ กล่าว