สบส.เผยยังพบป่วย "พยาธิใบไม้ตับ" มากกว่า 5% ในพื้นที่เสี่ยงสูง ลุยนำร่อง 30 จังหวัดลดอัตราป่วย รวมถึงมะเร็งท่อน้ำดี ติวเข้ม อสม. ประชาชน ลดตายลง 2 ใน 3 ในปี 2578
เมื่อวันที่ 10 มี.ค. นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ปี 2560 ไทยพบอุบัติการณ์โรคมะเร็งท่อน้ำดี 14.6 ต่อประชากร 1 แสนคนต่อปี สาเหตุสำคัญเกิดจากการติดพยาธิใบไม้ในตับ จากวิถีชีวิตดั้งเดิมที่ชอบกินปลาน้ำจืดดิบ โดยพยาธิใบไม้ในตับเพิ่มความเสี่ยงประมาณ 6-7 เท่าต่อการเป็นมะเร็งท่อน้ำดี ปีงบประมาณ 2565 มีประชาชนติดพยาธิใบไม้ตับมากกว่าร้อยละ 5 ในบางส่วนของพื้นที่เสี่ยงสูง โดยภาคอีสานพบผู้เป็นมะเร็งท่อน้ำดีสูงที่สุดในไทย
นพ.สุระกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดำเนินโครงการปลอดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในปี 2566 โดย สบส.รับผิดชอบการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีแก่ อสม. ประชาชน และส่งเสริมให้เกิดการเฝ้าระวังเตือนภัยพฤติกรรมเสี่ยงโดยเฉพาะการกินปลาน้ำจืดดิบ เป้าหมาย 525 ตำบลในพื้นที่ 30 จังหวัด มุ่งลดอัตราการติดพยาธิใบไม้ตับในพื้นที่ให้เหลือน้อยกว่าร้อยละ 2 ก่อนขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559-2568 คือ อัตราความชุกของโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในคนและในปลาไม่เกินร้อยละ 1 และอัตราเสียชีวิตลดลง 2 ใน 3 ในปี 2578
นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า สบส.ได้ขับเคลื่อนโครงการตำบลวิถีใหม่ปลอดภัยจากพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในพื้นที่เสี่ยงที่มีอัตราการติดเชื้อสูง ร่วมกับศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพ 7 แห่ง และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 30 จังหวัด เพิ่มขีดความสามารถ อสม. สนับสนุนชุดความรู้และสื่อเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชน และใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนเฝ้าระวังเตือนภัยพฤติกรรมเสี่ยงของคนในชุมชน ขับเคลื่อนตำบลจัดการคุณภาพชีวิตปลอดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี มีเป้าหมายเกิดต้นแบบชุมชนที่ประชาชนมีความตระหนักรู้และมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและเตือนภัยพฤติกรรมเสี่ยง ควบคุมป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ