xs
xsm
sm
md
lg

เตือน "สูงวัย" นอนไม่พอ ระวัง "ซึมเศร้า-สมองเสื่อม-อ้วน" แนะ 10 วิธีช่วยหลับดี ครบ 7-9 ชม./วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เตือนผู้สูงอายุนอนไม่พอ ระวังโรคอ้วน เบาหวาน ความดัน ซึมเศร้า สมองเสื่อม แนะ 10 วิธีช่วยนอนหลับดี ให้ได้ 7-9 ชม./วัน ช่วยป้องกันโรค ซ่อมแซมร่างกาย

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การนอนหลับที่เพียงพอและสม่ำเสมอ สำคัญต่อการรักษาสุขภาพ ทำให้ร่างกายได้พักผ่อน ซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยตั้งแต่ทารกในครรภ์ เด็กปฐมวัย และเด็กวัยเรียน ส่งผลต่อารเจริญเติบโตพัฒนาการของร่างกายและสมอง ส่วนในวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และวัยผู้สูงอายุ มีผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันสุขภาพและโรคประจำตัว การนอนหลับไม่เพียงพอ หรือโรคของการนอนหลับเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อปัญหาสุขภาพ โรคประจำตัว ภาวะภูมิต้านทานต่ำ และเพิ่มความโอกาสเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

กลุ่มผู้สูงอายุ ควรนอนพักผ่อนวันละ 7-9 ชั่วโมง จะทำร่างกายมีการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ป้องกันเกิดโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต อ้วน ซึมเศร้า สมองเสื่อม โดยหลัก 10 ประการ เพื่อสุขอนามัยการนอนหลับที่ดี คือ 1. เข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน 2.รับแสงแดดในตอนเช้าอย่างน้อย 30 นาที 3) ไม่นอนในเวลากลางวัน ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ไม่ควรเกิน 30 นาที 4.ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรออกกำลังกาย ก่อนนอน 2 ชั่วโมง 5.หลีกเลี่ยงคาเฟอีน และอาหารมื้อหนักอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนนอน

6.งดการดื่มแอลกอฮอล์ และ สูบบุหรี่ อย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนนอน 7.นอนเตียงนอนที่สบาย 8.ควรผ่อนคลายเพื่อลดความวิตกกังวล 9.ควรใช้ห้องนอนเพื่อการนอนเท่านั้น ไม่เล่นโทรศัพท์มือถือ หรือกินอาหารบนเตียงนอน และ 10. หากนอนไม่หลับภายใน 30 นาที ควรลุกไปทำกิจกรรมอื่นๆ แล้วกลับมานอนใหม่อีกครั้ง

กลุ่มวัยอื่นๆ ควรนอนให้เพียงพอ เพื่อมีสุขอนามัยการนอนหลับที่ดี โดยทารกแรกเกิด อายุ 0-3 เดือน วันละ 14-17 ชั่วโมง เด็กทารก อายุ 4-11 เดือน วันละ 12-16 ชั่วโมง เด็กหัดเดิน อายุ 1-2 ปี วันละ 11-14 ชั่วโมง เด็กก่อนวัยเรียน อายุ 3-4 ปี วันละ 10-13 ชั่วโมง เด็กวัยเรียน อายุ 6-13 ปี วันละ 9-11 ชั่วโมง วัยรุ่น อายุ 14-17 ปี วันละ 8-10 ชั่วโมง วัยผู้ใหญ่ วันละ 7-9 ชั่วโมง และสตรีมีครรภ์ วันละ 7-9 ชั่วโมง


กำลังโหลดความคิดเห็น