หากพูดถึงเรื่องปัญหา “ขยะมูลฝอย” ต้องบอกเป็นปัญหาเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน และ ‘กรุงเทพมหานคร’ ถือได้ว่าเป็นเมืองที่มีปริมาณขยะมูลฝอยเกิดขึ้นต่อวันมากที่สุดในประเทศไทย
โดยจากข้อมูลมีรายงานว่า ‘กรุงเทพฯ’ มีขยะมูลฝอยกว่า 12,000 ตันต่อวัน หรือคิดเป็น 18% ของขยะที่เกิดขึ้นทั้งประเทศ หรือโดยเฉลี่ยแล้วคนกรุงเทพฯ ผลิตขยะคิดเป็นวันละ 1-1.5 กิโลกรัม ต่อคน หรือ ปีละ 800 กิโลกรัม ต่อคน หรือเกือบ 1 ตัน เลยทีเดียว
อีกทั้งปัจจุบัน กทม. ยังต้องใช้งบประมาณในการกำจัดขยะอยู่ที่ราว 7-8 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากทีเดียวเมื่อเทียบกับงบประมาณด้านสาธารณสุขที่อยู่ที่ 6 พัน ล้านบาท และด้านการศึกษาอยู่ที่ 4 พันล้านบาท
ด้วยเหตุนี้เองสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กรุงเทพมหาคร (กทม), สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สมาคมโรงแรมไทย, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด มหาชน, คนไทย 4.0 รวมไปถึงองค์กรภาคีทุกภาคส่วนกว่า 100 องค์กร ได้เข้าร่วมแสดงเจตจำนงขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทางผ่านกิจกรรม ‘BKK ZERO WASTE’ ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม เพื่อส่งเสริมให้องค์กร หน่วยงาน สาธารณชน ตระหนักถึงปัญหาขยะ พร้อมมีส่วนร่วมในการลดการสร้างขยะและคัดแยกขยะที่ต้นทาง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาขยะอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
‘BKK ZERO WASTE’ เป็นการต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ได้เดินหน้านำร่อง 3 เขต ได้แก่ เขตพญาไท เขตปทุมวัน และ เขตหนองแขม มีด้วยกันทั้งหมด 3 เฟส และครั้งนี้ถือเป็นเฟสที่ 2 ที่ได้ขอความร่วมมือองค์กรขนาดกลางและขนาดใหญ่ เช่น ตลาด ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ออฟฟิศ วัด โรงเรียน เป็นต้น ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2566 เป็นต้นมา ก็ได้มีหน่วยงานเข้าร่วมทั่วทั้ง 50 เขต ในกรุงเทพฯ ประมาณกว่า 700 องค์กร
ลด-คัด-แยกขยะตั้งแต่ต้นทาง
ลดงบประมาณเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
นาย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงเรื่องปัญหาขยะมูลฝอย และความเป็นมาของ ‘BKK ZERO WASTE’ ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม ว่า ครั้งนี้เป็นเฟสที่ 2 โดยแคมเปญนี้ได้รับความร่วมจากทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ช่วยประสานภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทำให้มีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมจำนวนมาก
“BKK Zero Waste อยู่ในเฟสที่ 2 แล้ว ซึ่งเรามีหัวเรี่ยวหัวแรงคือทาง สสส. ที่ช่วยประสานเรื่องภาคีเครือข่าย โดย BKK ZERO WASTE เป็นไอเดียที่เราได้มาจากโครงการ จุฬาฯ Zero Waste เรานำต้นแบบจากจุฬาฯ มาทำ BKK Zero Waste”
“เพราะว่าขยะเป็นเรื่องใหญ่ของกรุงเทพมหานคร เราใช้งบประมาณจำนวนมากในการจัดการขยะ ที่ผ่านมา กทม.ใช้เงินในการเก็บขยะต่อปี ประมาณเกือบ 8 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงิน 2 เท่าของงบการศึกษา ซึ่งหากสามารถลดงบประมาณในส่วนนี้ได้ จะทำให้มีงบประมาณไปใช้จัดการปัญหาในด้านอื่น ๆ ได้”
ผู้ว่าฯ กทม. ยังได้กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้การจัดการปัญหาขยะยังเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น เพราะสามารถลดการผลิตขยะ นำขยะกลับมาใช้ใหม่ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการกำจัดขยะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำ และทุกคนต้องร่วมมือกัน ถ้าเรามีการฝึกแยกขยะ มีการจัดการขยะให้ดี ทำตรงนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สุดท้ายก็จะพัฒนาไปสู่เมืองที่ยั่งยืนขึ้น
“ผมมองว่าสิ่งนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของกรุงเทพฯ และอาจสามารถต่อผลไปได้ทั่วทั้งประเทศ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
โดย “BKK ZERO WASTE” ประกอบไปด้วย 3 เฟส
– เฟส 1 คือ ขอความร่วมมือจากประชาชนทั่วไป ให้แยกขยะเปียกและขยะแห้งออกจากกัน โดยได้มีการเริ่มนำร่องที่ 3 เขต ได้แก่ เขตพญาไท หนองแขม และปทุมวัน
– เฟส 2 คือ ขอความร่วมมือจากองค์กรขนาดกลางและขนาดใหญ่ เนื่องจากขยะส่วนใหญ่มาจากองค์กรขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ตลาด ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ออฟฟิศ วัด ซึ่งในปี พ.ศ. 2566 มีหน่วยงานกว่า 700 องค์กร ใน 50 เขต ที่เข้าร่วมคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง (ปัจจุบันแคมเปญอยู่ในเฟสที่ 2)
– เฟส 3 คือ ขอความร่วมมือนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่มีความสนใจอยากแยกขยะด้วยตนเอง โดยจะมีการส่งเสริมให้ความรู้ที่สำนักงานเขตกทม. ห้างสรรพสินค้า และปั๊มน้ำมัน
เฟส 1 นำร่องพื้นที่ 3 เขต
มีเป้าหมาย 4 ประเด็น
ด้าน รศ.พันธวัศ สัมพันธ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ ร่วมโครงการจัดการขยะที่ต้นทางกับกรุงเทพมหานคร และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พัฒนาเขตนำร่องจัดการขยะมูลฝอยที่ต้นทางอย่างยั่งยืน 3 เขต คือ เขตพญาไท เขตปทุมวัน และเขตหนองแขม โดยโครงการนี้มีเป้าหมาย 4 ประเด็น คือ การพัฒนา การสร้าง การส่งเสริม และการสนับสนุน
“สำหรับ ด้านการพัฒนา คือ พัฒนาในรูปแบบการจัดการขยะที่ต้นทางในโครงการ “ไม่เทรวม” ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลในแต่ละพื้นที่ ด้านการสร้าง คือ สร้างระบบฐานข้อมูล (Database) ให้กับพื้นที่นำร่องทั้ง 3 เขต ด้านการส่งเสริม คือ ดูแลพื้นที่รวม 84 แหล่ง เช่น วัด โรงเรียน โรงแรม ชุมชน อาคารสำนักงาน บ้านเรือนต่าง ๆ ให้สามารถลดขยะต้นทางได้ไม่น้อยกว่า 20% และสุดท้าย คือ ด้านการสนับสนุน ในเรื่องของการจัดการขยะอินทรีย์ โดยใช้หนอนแมลงทหารดำ ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม”
ทั้งนี้ ทางทีมงานทุกฝ่าย สสส. กทม. ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ มีความคาดหวังว่ารูปแบบการบริหารจัดการการลดขยะที่ต้นทางในลักษณะของการไม่เทรวมจะช่วยกระตุ้นองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลดขยะตั้งแต่ต้นทางกันมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยลดงบประมาณให้กับกรุงเทพมหานครในการจัดการขยะที่ปลายทาง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระบบจัดการขยะต่อไป
ปัจจุบันต่อยอดเฟสที่ 2
เน้นองค์กรขนาดกลางและขนาดใหญ่
นาย พรพรม วิกิตเศษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปริมาณขยะของกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ.2565 มีเฉลี่ย 8.9 พันตันต่อวันหรือว่า 3.2 ล้านตันต่อปี ซึ่ง 55% เป็นขยะอินทรีย์ที่มีการจัดการได้ไม่ครบถ้วน จึงเป็นความตั้งใจของโครงการไม่เทรวมที่เปิดตัวนำร่อง 3 เขต คือ เขตพญาไท เขตปทุมวัน และเขตหนองแขม โดยมีหลักคิดง่าย ๆ คือ ให้ประชาชนทั่วไปแยกขยะเปียกกับขยะแห้งออกจากกัน
“เราได้เริ่มจากส่วนที่ยากที่สุดคือประชาชน โดยเราต้องขอความร่วมมือเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ได้มีเรื่องของกฎระเบียบ กฎหมายใด ๆ มาบังคับ ซึ่งการขอความร่วมมือก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนด้วย เราต้องทำให้ประชาชนเข้าใจตรงกันว่าหากคุณแยกขยะมา และรายงานกับทางสำนักงานเขตให้ทราบก็จะมีการเก็บอย่างถูกวิธี จะมีรถขยะมาเก็บแยกอย่างแน่นอน หรือมีการเข้าไปส่งเสริมให้เขาจัดการขยะโดยเฉพาะขยะเปียกอย่างถูกวิธี ณ แหล่งกำเนิด หรือ ณ ที่อยู่อาศัยเขา”
“โดยเฟส 1 ได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี ซึ่งมีผลมากคือสถานประกอบการ จึงต่อยอดในเฟสที่ 2 ซึ่งจะเป็นส่วนขององค์กรขนาดกลางและขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นตลาด ห้างสรรพสินค้า โรงแรม สำนักงาน ออฟฟิศ วัด ศาสนสถาน ฯลฯ เพื่อให้สถานประกอบการเหล่านี้ร่วมมือช่วยลดการผลิตขยะ คัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ตรงนี้ก็จะช่วยเรื่องของปัญหาการจัดการขยะและลดต้นทุนในการจัดการขยะของกทม.ได้เป็นอย่างดี ซึ่งต้นทุนเหล่านี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ เช่น เรื่องการศึกษา เรื่องสาธารณสุข ฯลฯ ได้ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะส่งเสริมให้องค์กรทั่วกรุงเทพฯ ได้มีการต่อยอดไปเป็น Zero Waste ลดขยะและนำขยะไปใช้ประโยชน์เพื่อกรุงเทพมหานครที่น่าอยู่” ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
สสส.โซ่ข้อกลางเชื่อมประสานภาคีเครือข่ายต่าง ๆ
เพราะปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมเป็น 1 ใน 7 ประเด็นหลักที่ตั้งใจดำเนินการ
นาย สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้กล่าวว่าทาง สสส. มีความมุ่งมั่นในพันธกิจเดียวกัน ส่วนบทบาทหน้าที่ของ สสส. คือ เป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยสนับสนุน เป็นเสมือนโซ่ข้อกลาง ที่จะเชื่อมประสานในงานที่ต้องการความร่วมมือเกินกว่า 1 ภาคส่วน และปัญหาเรื่องมลพิษสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งใน 7 ประเด็นหลักที่ สสส. ตั้งใจจะดำเนินการ เพราะมีส่วนกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
“เราตระหนักเรื่องนี้กันมานานแล้ว เพราะปัญหานี้มีผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด ขยะไม่เพียงแค่ส่งกลิ่นเน่าเหม็นเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรื่องสารพิษ มลพิษ สารตกค้าง ไล่ไปจนถึงเรื่องของขยะพลาสติก ซึ่งจากข้อมูลเราเคยเป็นชาติที่ปล่อยพลาสติกลงทะเลอันดับที่ 6 ของโลก ไมโครพลาสติกเข้าไปอยู่ในปลา อาหารทะเล เข้าไปอยู่ในอินทรีย์ต่าง ๆ และกลับมาสู่คนเราอีกรอบหนึ่งโดยที่เรากินเข้าไป ส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าการตายด้วยมะเร็ง ปีละ 7-8 แสนคน สิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษมีส่วนสักเท่าไหร่”
“การลดปัญหาขยะต้องทำกันตั้งแต่ต้นน้ำ ลดสิ่งที่ไม่ควรเป็นขยะลง จนถึงขยะที่เกิดขึ้นแล้วก็ต้องแยกเพื่อให้กระบวนการกลางน้ำ ปลายน้ำ ทำงานได้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกันมหาศาลเลยครับ ต้องบอกว่าเรามีความมุ่งมั่นในพันธกิจเดียวกัน ทาง สสส. มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะประสานภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นจริงในมหานครของประเทศไทย”
“โครงการไม่เทรวม สสส. ได้ร่วมกับภาควิชาการ โดยสถาบันวิจัยสภาวะสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการประสานหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งโรงเรียน วัด หรือภาคเอกชน เพื่อขอความร่วมมือดำเนินโครงการอย่างเข้าใจและถูกต้องตามหลักวิชาการ ที่ผ่านมาเราได้ทดลองกับ 3 เขตนำร่องแล้วว่านโยบายดังกล่าวสามารถทำได้จริง และสามารถขยายไปได้ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะเป็นต้นแบบให้แก่เทศบาลทั่วประเทศได้นำไปใช้ในการพัฒนาต่อไป”
ร่วมสร้างกรุงเทพฯ สู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาร่วมดูแลโลก
คุณมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย ได้กล่าวว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของโลก ที่มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศเกิน 25 ล้านคน เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่ กทม. มีโครงการดี ๆ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ยั่งยืนทางด้านการท่องเที่ยว
“กรุงเทพมหานครเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับต้น ๆ ของโลกเลยก็ว่าได้ มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากมายเกิน 25 ล้านคน และนักท่องเที่ยวก็ได้สร้างขยะให้กับโรงแรมให้กับกรุงเทพฯ เยอะมาก โดยเฉลี่ยคนละ 1 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งหากลองนึกภาพโรงแรมได้มีการจัดเลี้ยงจำนวนมาก อาหารส่วนเกินเหลือเยอะ ถ้าเราสามารถคัดแยกได้ตั้งแต่ต้นทาง เราก็จะมีความสบายใจได้ว่าปลายทางจะมีการกำจัดขยะอย่างถูกต้อง”
“ในฐานะตัวแทนดีใจมาก ๆ เลยที่ทาง กทม. มีโครงการดี ๆ แบบนี้ อยากให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ยั่งยืนทางด้านการท่องเที่ยว สิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี สามารถที่จะเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวประเทศไทย เที่ยวกรุงเทพฯ ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเชื่อว่านักท่องเที่ยวก็จะรู้สึกดีที่เขาได้มีส่วนในการรับผิดชอบ ทำให้โลกเราดีขึ้น มาช่วยกันทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ปลอดขยะในอนาคต อยากให้ทุกคนร่วมมือกัน เริ่มที่ต้นทางตั้งแต่วันนี้ค่ะ”
เรียนรู้ประสบการณ์จัดการขยะที่ต้นทาง
จากตัวอย่างองค์กรภาคีต้นแบบ
ทั้งนี้ผู้แทนจากองค์กรภาคีต้นแบบ 5 กลุ่ม ได้แก่ วัด (วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร), โรงเรียน (โรงเรียนบ้านลำต้นกล้วย เขตหนองจอก), ชุมชน (ชุมชนเกาะกลาง เขตคลองเตย) อาคารสำนักงาน (มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์) และโรงแรม (โรงแรมศิวาเทล) ยังได้ร่วมแบ่งปันความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์แนวทางการจัดการขยะในพื้นที่ของตนเองด้วย
ยกตัวอย่าง ผู้แทนคณะทำงานศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะครบวงจรชุมชนเกาะกลาง เขตคลองเตย คุณจุไรรัตน์ เครือพิมาย ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์การจัดการขยะในชุมชนว่า เกาะกลาง คลองเตย เป็นชุมชนขนาดเล็กที่อยู่ติดกับสถานีสูบน้ำพระโขนง เป็นชุมชนที่รถเข้าออกไม่ได้ การจะเอาขยะออกจากชุมชนก็เป็นเรื่องที่ยาก จึงเริ่มต้นคัดแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย เพราะจากเดิมที่มีการขนขยะออกจากพื้นที่สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ณ ปัจจุบัน เหลือเพียง 1 ครั้งต่อสัปดาห์ อีกทั้งยังสามารถลดรายจ่ายและสร้างรายได้ได้ด้วย เพราะทางชุมชนมีการคัดแยกเศษอาหารมาคลุกกับน้ำหมักชีวภาพเพื่อนำไปลดพืชผล และนำพืชผลเหล่านั้นมาใช้ในครัวเรือน การแยกน้ำมันพืชเพื่อนำกลับมาทำเป็นสบู่ซักล้าง การนำฝาขวดมาขึ้นรูปทำผลิตภัณฑ์กระถางจำหน่าย เป็นต้น
หรือด้านผู้แทนภาคีในส่วนโรงแรม คุณอลิสรา ศิวยาธร CEO โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความสำเร็จในการจัดการขยะของทางโรงแรมว่า จากการคัดแยกขยะของโรงแรมอย่างจริงจังมาเป็นระยะเวลา 7 ปี ปัจจุบันสามารถลดขยะไปได้ถึง 90% และคาดหวังว่าภายในปี ค.ศ. 2024 จะเป็น Zero Waste ให้ได้
“โรงแรมศิวาเทลเป็นโรงแรม 5 ดาว ใจกลางกรุงเทพมหานคร มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมสรรพทุกอย่าง แต่โรงแรมของเราก็รักสิ่งแวดล้อมและทำงานเชื่อมโยงกับชุมชนได้ ในเรื่องการคัดแยกขยะ ซึ่งปีนี้เป็นปี 7 แล้ว ที่ได้ปฏิบัติมาอย่างจริงจัง จนเกิดผลในวันนี้”
ยกตัวอย่างเช่น การเลิกใช้ขวดน้ำพลาสติก ซึ่งลดลงไปได้ 120,000 ขวดต่อปี เลิกใช้หลอดพลาสติกหันมาใช้หลอดต้นข้าวสาลีที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ลดหลอดไปได้ 9,000 หลอดต่อปี แก้ว take a way ใช้แก้วย่อยสลายได้ 100% จัดโปรโมชั่นนำแก้วมาเอง ซื้อกาแฟลด 50% หันมาใช้สบู่ แชมพู แบบขวดรีฟิล ทำให้ลดขวดพลาสติกไปได้ 96,000 ชิ้นต่อปี ลด ขยะ Food Waste โดยเริ่มจากในครัว ตั้งแต่การจัดซื้อที่เหมาะสม การใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่ามากที่สุด นำเศษอาหารมาทำปุ๋ย ปลูกพืชผักกินได้บนดาดฟ้าโรงแรม หรือแม้แต่ส่งคืนถาดไข่เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกรไปได้ปีละ 24,000 บาท และเปลือกไข่นำมาล้างตากแห้งส่งคืนให้เกษตรกรเพื่อนำไปเป็นส่วนผสมให้อาหารไก่ เป็นต้น
“ก่อนหน้านี้เราคัดขยะออกมาได้สูงสุดถึง 1 แสนกว่ากิโลกรัม ซึ่งปี ค.ศ.2017 พีคที่สุด สิ่งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เราคุยกันว่าเราจะช่วยกันลดและจัดการขยะ เราทำมาต่อเนื่อง 7 ปี โดยปี ค.ศ. 2022 เราสามารถลดขยะให้เหลือ 8,800 กว่ากิโลกรัม เราสามารถลดขยะไปได้ 90% และคาดหวังว่าภายในปี ค.ศ. 2024 เราจะเป็น Zero Waste”
อย่างไรก็ตามผู้ว่าฯ กทม. ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า เรื่องขยะทุกคนต้องร่วมมือกันถึงจะสำเร็จ เพราะเป็นพลังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น
“ปัญหาเรื่องขยะมูลฝอยเป็นปัญหาที่ท้าทาย โดยเฉลี่ยแล้วจากข้อมูล เราผลิตขยะวันละ 1.-1.5 กิโลกรัม ต่อ 1 คน เท่ากับ 1 ปี 1 คนจะผลิตขยะกว่า 800 กิโลกรัม เฉลี่ยแล้วผลิตขยะกันวันละกว่า 10,000 กิโลกรัม ซึ่งหากเราทำระบบจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ ผมว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ดี สำคัญที่สุดคือทาง กทม.ต้องทำให้ชัดเจนในเรื่องของการเป็นผู้อำนวยความสะดวก ต้องจัดโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม นโยบายที่ชัดเจน ความเอาจริงเอาจัง แต่ประชาชน ภาคเอกชนก็เป็นตัวร่วมสำคัญ เราต้องทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม”
“วันนี้เราได้เห็นความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย ได้เห็นหลายภาคส่วนร่วมมือกัน เราเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ทุกคนมีความตระหนักรู้มากขึ้น ผมว่านี่คือพลังที่จะเปลี่ยนสังคมไปในทิศทางที่ดี ถ้าเราทำได้ดี แยกขยะให้ดีก็จะมีแต่สิ่งที่ดีขึ้นต่อไป ถือว่าเราเดินมาไกล เราได้เห็นความก้าวหน้าอย่างชัดเจน เชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นก้าวเล็ก ๆ ก้าวหนึ่งที่จะทำให้สังคมดีขึ้น พอเราทำเรื่องขยะเสร็จ เราก็จะได้ไปทำเรื่องอื่น ๆ ต่อ มีอีกหลายเรื่องที่เราต้องร่วมกันทำให้เมืองนี้เป็นเมืองที่น่าอยู่” ผู้ว่ากทม. กล่าวทิ้งท้าย