xs
xsm
sm
md
lg

เตือนปีนี้ไทยร้อนจัด อุณหภูมิสูงกว่าปีก่อน ย้ำกลุ่มเสี่ยงระวัง "ฮีทสโตรก"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไทยเข้าฤดูร้อนแล้ว เตือนอุณหภูมิพุ่งสูงสุด 43 องศาเซลเซียส สูงกว่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะภาคเหนือ กรมอนามัยย้ำ ประชาชนกลุ่มเสี่ยงป้องกันโรคฮีทสโตรก จิบน้ำบ่อยๆ งดกิจกรรมกลางแจ้ง แนะวิธีสังเกตอาการ

เมื่อวันที่ 7 มี.ค. นพ.สุวรรณัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาเฝ้าระวังและสื่อสารเตือนภัยด้านสุขภาพในช่วงฤดูร้อน เฝ้าระวังอาการและการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน ซึ่งเข้าฤดูร้นตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ช่วงกลาง มี.ค.ถึงปลาย เม.ย. อากาศจะร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป มีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ อุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 40 - 43 องศาเซลเซียส ได้แก่ สุโขทัย ตาก ลำปาง และแม่ฮ่องสอน โดยสูงกว่าปีที่ผ่านมา สำหรับ กทม.และปริมณฑล จะมีอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 38 – 39 องศาเซลเซียส ช่วงปลาย เม.ย.ถึงกลาง พ.ค.เป็นช่วงปลายฤดูร้อน ลักษณะอากาศจะเริ่มแปรปรวน โดยยังคงมีอากาศร้อนอบอ้าวในบางช่วง ประกอบกับมีฝนฟ้าคะนอง

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สภาพอากาศร้อนจะก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยตั้งแต่อาการเล็กน้อย ได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เป็นตะคริวจากความร้อน มีผื่นแดงตามผิวหนัง หรืออาจมีอาการรุนแรงจนเป็นโรคฮีทสโตรก ซึ่งหากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลทันทีอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว รวมถึงกลุ่มอาชีพที่ต้องทำงานหนักกลางแจ้ง เช่น งานก่อสร้าง เกษตรกร การป้องกันตัวเองจากความร้อน ได้แก่ ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ ไม่ต้องรอกระหาย หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งช่วงกลางวันหรือช่วงอากาศร้อนจัด สวมเสื้อผ้าสีอ่อน ระบายอากาศดี สวมหมวกปีกกว้าง แว่นกันแดด และทาครีมกันแดด หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์

"หากอุณหภูมิสูงสุดขึ้นไปที่ 43 องศาเซลเซียส ควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง สังเกตอาการเสี่ยงจากฮีทสโตรก ได้แก่ เหงื่อไม่ออก สับสน มึนงง ตัวร้อนจัด ผิวหนังเป็นสีแดงและแห้ง หากเป็นให้รีบตามแพทย์ หรือโทร 1669 พาผู้ป่วยหลบเข้าที่ร่มหรือห้องมีความเย็น ให้นอนราบ ยกเท้าและสะโพกสูง ถอดเสื้อผ้าออกเท่าที่จำเป็นเพื่อระบายความร้อน ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัวหรือวางถุงน้ำแข็งที่คอ รักแร้ และขาหนีบ หากผู้ป่วยหมดสติให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันโคนลิ้นอุดทางเดินหายใจ และรีบนำผู้ป่วยส่ง รพ.โดยเร็ว " นพ.สุวรรณชัยกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น