หมอกระดูก แจง "เกาต์เทียม" คนละโรคกับ "เกาต์" เกิดจากแคลเซียมหรือฟอสฟอรัสสูงเกินในข้อ ทำให้อักเสบ ปวด คล้ายเกาต์ ต้องรักษาตามอาการ ห้ามบีบนวด ประคบร้อน มักพบในคนสูงวัย ร่างกายจิตใจมีความเครียด หายได้ใน 7-14 วัน เป็นซ้ำได้ แต่ไม่บ่อยเท่าเกาต์ และไม่นำไปสู่โรคเกาต์
เมื่อวันที่ 4 มี.ค. นพ.สูงชัย อังธารารักษ์ อายุรแพทย์กระดูกและข้อ รพ.ราชวิถี กล่าวถึงโรคเกาต์เทียมว่า แม้เกาต์เทียมจะเป็นการอักเสบเหมือนกับเกาต์ปกติ แต่มีความแตกต่างจากโรคเกาต์ปกติหลายด้าน โดยโรคเกาต์เกิดจากกรดยูริคสูง มีผลึกเป็นเข็ม ส่วนเกาต์เทียมมีผลึกเป็นเหลี่ยม ไม่ได้เกิดจากกรดยูริค แต่เป็นโรคหนึ่งที่พบในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีความผิดปกติของแร่ธาตุ โดยเฉพาะแคลเซียมหรือฟอสเฟตสูงเกิน เกิดขึ้นในช่องว่างระหว่างข้อกระดูก ทำให้เกิดการอักเสบแบบเฉียบพลันที่ตำแหน่งข้อเข่า และข้อมือ มีอาการข้ออักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน การวินิจฉัยต้องตรวจจากน้ำไขข้อ
“ตัวกระตุ้นให้เกิดข้ออักเสบเฉียบพลันหรือข้ออักเสบกำเริบ มีการพูดถึงคนที่อยู่ในภาวะที่ร่างกายและจิตใจได้รับความเครียด ที่พบบ่อย คือคนสูงอายุที่มานอน รพ.ด้วยการเจ็บป่วยโรคอื่นหรือหลังผ่าตัด 2-3 วันแล้วเกิดภาวะข้ออักเสบเฉียบพลัน หรืออีกอย่างอาจจะได้รับอุบัติเหตุเล็กน้อย” นพ.สูงชัย กล่าว
นพ.สูงชัยกล่าวว่า การป้องกันนั้นเนื่องจากพบในผู้สูงอายุ เป็นไปตามวัย จึงเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ยาก แต่การรักษาจะรักษาตามอาการเหมือนเกาต์ โดยยาต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่าย อย่าบีบ อย่านวด อย่าประคบร้อน อยู่เฉยๆ แต่ให้ประคบเย็นได้ โดยทั่วไปจะหายภายใน 7- 14 วัน สามารถเกิดซ้ำได้ แต่ไม่บ่อยเท่าเกาต์และไม่ได้นำไปสู่การเป็นเกาต์ทั่วไป เพราะถือว่าเป็นคนละโรค เพียงแต่อาการแสดงคล้ายกัน
เมื่อถามว่าต่างจังหวัดบางพื้นที่ เมื่อปวดเมื่อตามข้อมักไปซื้อยาชุดกิน มีอันตรายหรือไม่ นพ.สูงชัย กล่าวว่า ไม่แนะนำให้ซื้อยากินเอง เพราะมีความคล้ายคลึงกันหลายโรค ประชาชนแยกโรคเองได้ยาก โดยเฉพาะยาชุดห้ามไปซื้อกินเด็ดขาด เพราะยาชุดประกอบด้วยยาหลายขนาน เช่น ยาต้านอักเสบ 1-2 ตัว อาจจะมีตัวยาต้านการอักเสบที่มีสเตียรอยด์หรือไม่มีสเตียรอยด์ก็ได้ ทั้งมีการใช้ปริมาณสูง อาจจะทำให้เห็นว่ารักษาโรคได้เร็ว แต่ข้อเสียเยอะ โดยเฉพาะตับ ไต ไขกระดูก และกระเพาะอาหาร หากซื้อมากินจากคนที่ไม่มีความรู้ จากยาที่ใช้รักษาจะกลายเป็นยาพิษ