xs
xsm
sm
md
lg

ชวนพ่อแม่เปิดใจ “คุยเรื่องเพศ ลดโอกาสพลาด” อย่าปล่อย “เพศ” ให้กลายเป็นเรื่องต้องห้าม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หัวข้อเรื่อง “เพศ” ในสังคมไทย ถือเป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่ใกล้ตัวและไม่ควรมองข้าม แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่สามารถหยิบยกมาถกเถียงในวงสนทนาได้อย่างเปิดเผย เพียงเพราะมันคือเรื่อง “เพศ” และด้วยปัจจัยนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้ความสงสัยทั้งหลายถูกตั้งเป็นคำถามบนโลกออนไลน์มากกว่าการเล่าสู่กันฟังระหว่างคนในครอบครัว หรือแม้แต่การขอคำปรึกษาจากครูในโรงเรียน ซึ่งเห็นได้จากเว็บบอร์ดสาธารณะเกลื่อนหน้าออนไลน์ ทั้งการขอคำปรึกษาเรื่องวิธีการใส่ถุงยาง , เพศสัมพันธ์ , กินยาคุม ไปจนถึงการยุติการตั้งครรภ์อย่างไม่ปลอดภัย

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“เรื่องเพศเป็นเรื่องที่พูดยาก เป็นเรื่องที่หากเราไม่คุ้นชิน เราจะปฏิเสธไว้ก่อน นี่คือสิ่งที่เราถูกเลี้ยงดูกันมากว่า 40-50 ปี คือเพื่อที่จะให้เรื่องเพศเป็นเรื่องที่หยาบคาย เป็นเรื่องโป๊ คุยไม่ได้แต่ทำ และหัวใจสำคัญเมื่อมันคุยไม่ได้คือเด็กจะต้องปกปิด พูดถึงเรื่องเพศเยอะ ๆ ก็หาว่าหมกหมุ่นหรือเปล่า ไล่ไปเตะบอลบ้าง ไปนั่งสมาธิบ้าง ซึ่งผมว่า เราแก้ปัญหาไม่ถูกที่”

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดประเด็นในวงเสวนาวันเปิดแคมเปญ “คุยเรื่องเพศ ลดโอกาสพลาด” เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นแคมเปญล่าสุดที่มาจากความตั้งใจของ สสส. และภาคีเครือข่ายที่เล็งเห็นถึงปัญหาทางเพศที่มีหลากหลายมากขึ้นในปัจจุบัน

ซึ่งนายชาติวุฒิก็เน้นย้ำว่า หัวใจสำคัญของการทำแคมเปญนี้คือ “การเห็นพ่อแม่เปิดใจ” โดยหวังว่า พ่อแม่จะเห็นความสำคัญของการคุยเรื่องเพศมากขึ้น สร้างทัศนคติเชิงบวกต่อเรื่องเพศในครอบครัว รวมทั้งทักษะการพูด เพื่อลดโอกาสพลาดทั้งการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม และปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมา

“งานวันนี้เป็นงานเปิดตัวแคมเปญ “คุยเรื่องเพศ ลดโอกาสพลาด” ซึ่งเป็นสถานการณ์ของสังคมที่เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างซิฟิลิส ซึ่งตัวเลขจากกรมควบคุมโรคเห็นได้ชัดว่า เราอยู่ในช่วงขาขึ้นของการระบาด หรือแม้กระทั่งคุณแม่วัยใส ซึ่งปีที่ผ่านมามีกว่า 50,000 คนซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังน่ากังวลอยู่ มันจึงกลายเป็นที่มาในการพยายามทำแคมเปญสื่อสารให้สังคมเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ปัญหาที่ผู้ใหญ่อย่างพวกเราต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการ”


ทั้งนี้ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ยังให้ข้อมูลตัวเลขเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันข้อมูลอัตราการคลอดของวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี ในปี 2564 อยู่ที่ 24.4 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปีพันคน อีกทั้งปัญหาติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างซิฟิลิส ในปี 2564 มีอัตราป่วยในเยาวชนอายุ 15-24 ปี อยู่ที่ 50.5 ต่อประชากรอายุ 15-24 ปีแสนคน สูงขึ้นมากกว่า 2 เท่า จากปี 2560 สอดคล้องกับข้อมูลการใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอที่ค่อนข้างต่ำ

ซึ่งจากตัวเลขข้างต้น นายชาติวุฒิ ก็ยอมรับว่า การทำแคมเปญนี้ก็ถือเป็นความท้าทายของ สสส. เช่นกัน

“ด้วยบทบาท สสส.เราทำงาน ‘สร้าง นำ ซ่อม’ เราสร้างเสริมเพื่อให้มีพฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัย ให้มีทัศนคติที่เปิดใจในการสื่อสารเรื่องเพศกับลูก รวมทั้งงานวิชาการต่าง ๆ ที่ผลิตขึ้นมาเป็นพื้นฐานให้ทุกคนสามารถนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปใช้ได้ ซึ่งในแคมเปญก็น่าสนใจมาก จะมีทั้งวิดิโอคลิปสั้น ๆ ตามสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างการไปเจอถุงยางและยาคุมในกระเป๋าลูก หรือแม้แต่เพื่อนลูกชวนไปค้างคืนที่อื่น เหล่านี้เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง”

“ซึ่งผมคิดว่า เราสามารถที่จะตอบสนอง สามารถที่จะฟังอย่างตั้งใจ ฟังอย่างเปิดใจ แล้วก็ให้คำแนะนำเพื่อที่จะให้เขาไม่รู้สึกเกลียดหรือกลัว ไม่รู้สึกว่าเราเป็นฝั่งตรงข้าม แล้วต่อไปเขาจะตั้งใจมาคุยกับเรา เปิดใจคุยเพื่อแก้ปัญหา นี่คือหัวใจสำคัญที่เราชวนกันมาพูดคุยวันนี้”

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงการเดินทางกว่า 10 ปีที่ผ่านมา มองว่า สังคมมีการตอบสนองหรือเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างต่อเรื่องเพศ นายชาติวุฒิ ให้ความเห็นว่า สสส. มองเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และความพยายามที่จะตั้งใจรับฟังมากขึ้น ซึ่งถือเป็นนิมิตรหมายอันดีในการทำงาน


อย่างไรก็ดี หากจำกันได้ ที่ผ่านมา สสส. เองก็เป็นอีกหนึ่งหัวเรือหลักที่พยายามขับเคลื่อนสุขภาวะทางเพศมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสร้างการตระหนักรู้และเข้าไปแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ผ่านโครงการและแคมเปญอย่างหลากหลาย นับตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งมีการโฟกัสใน 3 เรื่องใหญ่ ๆ อย่างโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม รวมทั้งความรุนแรงทางเพศและครอบครัว จนถึงปี 2553 ที่มีการรณรงค์เรื่องการพูดคุยทางเพศอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นผ่านแคมเปญ “เรื่องเพศคุยกันได้” และล่าสุดกับพื้นที่ให้ความรู้เรื่องเพศอย่าง www.คุยเรื่องเพศ. com รวมทั้งแคมเปญส่งท้ายเดือนแห่งความรักอย่าง “คุยเรื่องเพศ ลดโอกาสพลาด”

นายเกียรติคุณ ศิริเวชมงคลชัย นักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคมชำนาญการพิเศษ สสส. มองว่า แต่ละแคมเปญของการคุยเรื่องเพศจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ บริบทของสังคมและกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งแคมเปญ “คุยเรื่องเพศ ลดโอกาสพลาด” สสส. ก็มีความตั้งใจหลักคือการสื่อสารเรื่องเพศอย่างถูกต้อง ซึ่งภาพรวมของแคมเปญจะเป็นกลไกหนึ่งที่จะไปช่วยตอบโจทย์ ลดปัญหาการท้องไม่พร้อม เรื่องของโรคที่กลับมาในปัจจุบัน และอีกหลายอย่างนอกเหนือจากเรื่องเพศ

“เราอยากให้พ่อแม่มีทักษะการคุยเรื่องเพศกับลูก และความพร้อม ซึ่งเมื่อมีความพร้อมก็จะมีความมั่นใจตามมาเอง ซึ่งทักษะเหล่านี้สามารถแบ่งได้ 6 ข้อหลัก คือ 1. รับฟังไม่ตัดสิน ฟังเพื่อเข้าใจความรู้สึกความคิดของลูกโดยไม่ตัดสินเพื่อให้ลูกอยากคุยมากขึ้น 2.สอน…ผ่านการตั้งคำถาม นำไปสู่วิธีคิดของลูก ฝึกการตัดสินใจและทักษะต่าง ๆ ให้กับลูก ซึ่งลูกจะยอมรับได้มากกว่า 3. ชื่นชมความคิดที่ดี ทำให้ลูกมีกำลังใจ ดูแลตัวเองต่อไป 4.เสริมข้อมูลที่มีประโยชน์ เพิ่มความรู้และประสบการณ์เพื่อเป็นต้นทุนในการคิดและตัดสินใจของลูก 5.เชื่อมั่นและเคารพในตัวลูก เคารพการตัดสินใจของลูก เพื่อให้ลูกนับถือตัวเองได้มากขึ้น และ 6.เป็นที่พึ่งเมื่อเกิดปัญหา เมื่อลูกพบอุปสรรค ลูกควรรู้ว่าพ่อแม่เป็นที่พึ่งได้เสมอ”

อ.สกล โสภิตอาชาศักดิ์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในขณะเดียวกัน อ.สกล โสภิตอาชาศักดิ์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้ร่วมให้ความเห็นในหัวข้อ “บทบาทของครอบครัวในการสื่อสารเรื่องเพศ คุยเมื่อไหร่ คุยอะไร” ไว้ว่า ตามความเป็นจริงไม่มีอายุที่น้อยเกินไปที่จะคุยกันเรื่องเพศ บางทีเด็กเริ่มตั้งคำถามตั้งแต่อายุ 3-4 ขวบ ซึ่งเขาอาจจะเห็นถึงความแตกต่างของร่างกายตนเองและเพื่อน หรือเห็นพ่อแม่ที่ร่างกายไม่เหมือนกัน ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้ปกครองว่าจะคุยให้เหมาะสมกับบริบทอายุเขาอย่างไร
“จากข้อมูลกรมกิจการเด็กและเยาวชนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะเห็นได้ว่า เด็กที่ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรมีอายุตั้งแต่ 10 ปีถึงอายุ 14 ปี ซึ่งมีอัตรา 0.9 ต่อพันคนเลยทีเดียว นั่นหมายความว่า ถ้าเกิดเรารอให้เด็กโตจนเป็นวัยรุ่นแล้วค่อยคุยเรื่องเพศอาจจะสายเกินไป ถ้าเกิดเราเตรียมความพร้อมได้ก่อน 10 ขวบ ให้เขารู้ถึงร่างกาย รู้ว่าการตั้งครรภ์เป็นอย่างไร การมีเพศสัมพันธ์คืออะไร ต้องป้องกันการท้องแบบไหน ไปจนกระทั่งการป้องกันโรคติดต่อทางเพศต้องทำอย่างไร การเริ่มให้เขาเรียนรู้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ผมคิดว่า มันดีมาก”

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีประเด็นความหลากหลายทางเพศในปัจจุบันที่ อ.สกล ได้หยิบหยกมาแลกเปลี่ยนในวงเสวนา โดยให้ความเห็นว่า คำว่า “คุยเรื่องเพศ” ในมุมของตนอาจเลยไปกว่าเรื่องอวัยวะเพศ หรือเพศสัมพันธ์ ซึ่งนั่นก็คือเรื่องเพศในจิตใจ โดยเชื่อว่า มีพ่อแม่หลายคนที่มีลูกเป็น LGBTQ+ แต่ว่าไม่รู้จะพูดอย่างไร บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคืออะไร หรือยังมีความรู้ไม่เพียงพอ และหลายครั้งที่ปฏิกิริยาแรกของพ่อแม่เมื่อรับรู้นั้นแสดงออกถึงความเสียใจและผิดหวัง ซึ่งพอถูกสื่อสารไปถึงลูก มันจึงกลายเป็นผลกระทบในระยะยาว ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สังคมหล่อหลอมให้เพศที่หลากหลายกลายเป็นสิ่งผิดปกติ

“มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่า การไม่ยอมรับของพ่อแม่ต่อเพศที่หลากหลาย ส่งผลต่อสุขภาพจิตของลูกในระยะยาวได้ การที่เขาจะมาคุยกับพ่อแม่ในเรื่องเพศหรือแม้แต่เกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์ ตรงนี้ยิ่งจะหมดไป เขาจะมีชุดความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้น้อยลง และมีความเสี่ยงต่อเรื่องทางเพศต่าง ๆ มากขึ้น เพราะฉะนั้นความรู้ ความเข้าใจของพ่อแม่ต่อเรื่องความหลากหลายทางเพศก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่เราควรให้ความสำคัญ”

นายศิริพงษ์ เหล่านุกูล
ด้านอีกหนึ่งผู้ร่วมเสวนา นายศิริพงษ์ เหล่านุกูล พ่อเลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกอยู่ในวัย 11 ขวบ และ 8 ขวบ ก็ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์ รวมทั้งเทคนิคการคุยกับลูกไว้ว่า ข้อแรกต้องเริ่มจากตนเอง ปรับความคิดก่อนว่า เรื่องเพศคือเรื่องปกติ ต้องรู้ว่าตนเองมีความพร้อมให้กับลูกจริง ๆ หรือไม่ สิ่งที่สองคือลูก ซึ่งผู้ปกครองต้องรู้ว่า ลูกกำลังคิดและรู้สึกอะไรอยู่ ส่วนสุดท้ายคือสภาพแวดล้อม ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีนิสัยแตกต่างกัน และเป็นปกติที่เด็กมักจะอึดอัดกับการคุยเรื่องส่วนตัวต่อหน้าผู้อื่น ดังนั้น สภาพแวดล้อมในการพูดคุยก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม

“อย่างผมจะคุยเวลาก่อนนอน เราจะเริ่มจากการเปิดใจเราก่อน ให้เขารู้สึกปลอดภัย ซึ่งผมจะเล่าเรื่องตัวเองก่อนว่าตอนเราอายุเท่าเขา เราเป็นอย่างไรบ้าง ก่อน ลองย้อนถามเขากลับ คือเริ่มจากเรื่องง่าย ๆ และสนุกสนาน ซึ่งลูกก็ชอบฟังเรื่องของเรามาก กลายเป็นทุกวันนี้เวลาที่ได้เข้านอนพร้อมกันก็เป็นเรื่องปกติที่เราจะคุยกัน”

“สุดท้ายนี้ผมอยากจะฝากไปถึงพ่อแม่ทุกคน ผมเองก็คือคุณพ่อธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ได้พิเศษเกินกว่าพ่อแม่คนไหน ซึ่งผมเชื่อว่า ทุกคนก็สามารถเป็นคุณพ่อ คุณแม่ที่ธรรมดาที่สามารถเข้าใจลูกได้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าใครจะมีลูกเล็กที่อนาคตจะได้คุยเรื่องเพศ หรือตอนนี้กำลังเผชิญเรื่องนี้อยู่ก็ตาม ผมอยากจะบอกว่า มันไม่มีอะไรสายถ้าเราจะคุย มันไม่มีอะไรเร็วเกินไปถ้าเราจะพูด ทุกเรื่องในครอบครัวมันสามารถสื่อสารและพูดคุยกันได้ ต่อให้คุณจะเป็นพ่อแม่ที่ไม่ค่อยพูด หรือเป็นคนปากร้าย เป็นคนใจดี เป็นคนเขินอาย แต่เชื่อว่า ถ้าคุณพ่อคุณแม่เปิดใจ เราจะสามารถคุยกันได้ทั้งในเรื่องเพศและทุก ๆ เรื่อง” นายศิริพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย



กำลังโหลดความคิดเห็น