xs
xsm
sm
md
lg

ซ้อม รพ.ทั่วประเทศสัปดาห์หน้ารับมือ "ไข้หวัดนก" สำรองยาโอเซลฯ เฝ้าระวัง "นกอพยพ-เป็ดไล่ทุ่ง-เลี้ยงสัตว์ปีกหลังบ้าน"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประชุมทีม One Health เฝ้าระวัง "ไข้หวัดนก" กรมควบคุมโรคเตรียมซักซ้อม รพ.ทั่วประเทศสัปดาห์หน้า ขอ อภ.สำรองยาโอเซลทามิเวียร์ เฝ้าระวัง 3 จุดเสี่ยง นกอพยก เป็ดไล่ทุ่ง เลี้ยงสัตว์ปีกหลังบ้าน ย้ำส่งขายข้ามจังหวัดต้องขึ้นทะเบียน ตรวจโรคก่อนเคลื่อนย้าย พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อจังหวัดใกล้ชายแดน ย้ำยังไม่มีมติใช้วัคซีนในสัตว์ปีก

เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ที่กรมควบคุมโรค นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นสพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ และนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประชุมคณะทำงานศูนย์ประสานงานสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) พร้อมลงนามประกาศเจตนารมณ์ในการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรคไข้หวัดนก ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว เตรียมพร้อมและตอบโต้กับโรคไข้หวัดนกและโรคติดต่ออุบัติใหม่-อุบัติซ้ำ

นพ.ธเรศกล่าวว่า ปัจจุบันโรคระบาดและอุบัติภัยต่างๆ ไม่ได้เกิดในคนอย่างเดียว แต่เกี่ยวกับสุขภาพสัตว์และสิ่งแวดล้อมด้วย การประชุมคณะทำงาน One Health เป็นกลไกสำคัญในการจัดการโรคระบาดและอุบัติภัย เช่น โควิด 19 โรคฝีดาษวานร และล่าสุดโรคไข้หวัดนก ที่มีการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน โดยทั้ง 3 หน่วยงานตั้งศูนย์ประสานงานสุขภาพของตนเองแล้ว ทั้งในคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมสัตว์ป่า สำหรับการเตรียมการ กรมควบคุมโรคได้ซักซ้อมร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั้งหมดเมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา เฝ้าระวังป้องกันในคนป่วย ทั้งด่านควบคุมโรคชายแดน และสถานพยาบาล หากพบคนป่วย มีอาการปอดบวม มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกจะให้ตรวจสอบเฝ้าระวังสอบสวนโรคต่อไป รวมถึงจังหวัดทางภาคตะวันออกซักซ้อมกับด่านควบคุมโรคชายแดน และกรมปศุสัตว์ในการควบคุมทั้งการเคลื่อนย้ายสัตว์ระหว่างประเทศ ป้องกันสัตว์ป่วยและคนป่วยข้ามมา


นอกจากนี้ ยังเตรียมยาเวชภัณฑ์ต่างๆ โดยสำรองยาโอเซลทามิเวียร์ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ใช้รักษาไข้หวัดใหญ่และมีการกระจายใน รพ.เป็นพื้นฐานแล้ว กำลังสำรวจจำนวนที่แท้จริง และให้ อภ.เตรียมเพิ่มจำนวน โดยจะเพิ่มเท่าไรขอดูสต๊อกและสถานการณ์ก่อน ส่วนแล็บรายงานว่าพร้อมแล้ว สถานพยาบาลในพื้นที่ที่มีประวัติเสี่ยงก็เตรียมพร้อม เราทำคู่มือแนวทางการปฏิบัติการสอบสวนโรค โดยสัปดาห์หน้าจะซักซ้อมกับ รพ.ทั่วประเทศ จากการเฝ้าระวังยังไม่มีการรายงานของโรค ยังไม่พบการระบาด และยังไม่พบผู้ป่วยเข้าข่าย

นสพ.สมชวนกล่าวว่า กรมปศุสัตว์เราเฝ้าระวังจุดเสี่ยงคือ 1.นกอพยพ 2.เป็ดไล่ทุ่ง และ 3.ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ปีกหลังบ้าน ซึ่งมีระบบเฝ้าระวังมาตลอด ประชุมซักซ้อมแผนทุกปี เตรียมพร้อมห้องปฏิบัติการ 8 แห่งทั่วประเทศที่ได้รับมาตรฐานโลก ประสานกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. อาสาปศุสัตว์ ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจเยี่ยมให้คำแนะนำและข้อมูลความรู้ หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติที่มีอาการ เช่น มีลักษณะตายโดยกะทันหัน มีอาการชักคอบิด เหนียงหรือหงอนสีดำคล้ำ มีอาการทางระบบหายใจ เป็นต้น ให้รีบแจ้งเครือข่ายหรือผ่านระบบออนไลน์เจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบ และตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ หากมีพื้นที่เหตุสงสัย สามารถดำเนินการทำลายไก่หรือสัตว์ปีกบริเวณพื้นที่และรัศมีโดยรอบ เพื่อป้องกันดีกว่าแก้ไข จากมาตรการที่เข้มงวดหลายด้านและการร่วมมือ 3 กรม ขอให้มั่นใจว่าเรามีความเข้มแข็ง สามารถปกป้องสุขภาพคนและสัตว์ให้ปลอดภัยจากไข้หวัดนกได้ ซึ่งตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ยังไม่เคยมีรายงานพบโรคไข้หวัดนกในสัตว์

"จังหวัดชายแดนที่ใกล้กัมพูชาจะมีการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูตามชายแดน การเคลื่อนย้ายสัตว์และสิ่งของเกี่ยวกับสัตว์ปีกที่ผิดกฎหมาย เราบูรณาการร่วมหน่วยงานความมั่นคงและศุลกากร มีการระงับและป้องกันตรงนี้ มั่นใจว่าโอกาสที่จะมีความเสี่ยงในบ้านเราน้อยมาก" นสพ.สมชวนกล่าว


นายอรรถพลกล่าวว่า กรมอุทยานฯ รับผิดชอบเรื่องการแพร่ระบาดมาจากสัตว์ป่าและนกอพยพ โดยติดตามนกทุกกลุ่มที่เป็นนกอพยพ โดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่แหล่งที่พักอาศัยหรือแหล่งอาหารของนกอพยพ เช่น บึงบอระเพ็ด เขตอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่มีการอพยพมา หรือแม้แต่พื้นที่สาธารณประโยชน์ที่มีต้นไม่เยอะๆ เราก็ไปสุ่มเฝ้าระวังเก็บตัวอย่างมาตรวจ และมีการจัดชุดปฏิบัติการของสัตวแพทย์ออกไปเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงค้างคาวและสัตว์อื่นๆ ที่มีโอกาสแพร่กระจาย เรามีการซักซ้อมตลอด หรือเมื่อเกิดสถานการณ์จริงก็มีการร่วมมือกันและทำได้รวดเร็ว ฉะนั้น เราสามารถเข้าถึงพื้นที่เข้าไปพิสูจน์ทราบและมีระบบตรวจวิเคราะห์รวดเร็ว เชื่อว่าการสกัดกั้นการแพร่ระบาดไม่ใช่เรื่องยาก กรมฯ พร้อมเป็นเครือข่ายความร่วมมือต่อไป

ถามว่าต้องคัดกรองคนเดินทางจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นหรือไม่ นพ.ธเรศกล่าวว่า ยัง ตอนนี้มาตรการเรากำหนด 4 มาตรการ คือ 1.สถานการณ์ยังไม่มีอะไร 2.เริ่มมีประเทศเพื่อนบ้านพบผู้ป่วย ตอนนี้เราเข้าสู่มาตรการที่ 2 เรายังไม่ถึงขั้นการคัดกรอง แต่เราใช้การเฝ้าระวัง หากมีผู้ป่วยรายงานมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก หรือ รพ.ชายแดนมีผู้ป่วยมีประวัติดังกล่าว เราถึงเข้าไปสอบสวนโรค เราทำเป็นชั้น มิเช่นนั้นประชานตจะตื่นตระหนกและไม่สิ้นเปลืองทรัพยากร ส่วนมาตรการระดับ 3 ระดับ 4 ก็คือเมื่อมีผู้ป่วยไข้หวัดนกในประเทศก็จะเพิ่มมาตรการมากขึ้น ส่วนการประเมินสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน ผู้ป่วยยังมีเพียง 2 ราย องค์การอนามัยโลกก็ระบุว่ายังเป็นความเสี่ยงที่ต่ำ สถานการณ์ควบคุมได้ ไม่มีการระบาดทั้งคนและสัตว์ ส่วนเวียดนามก็ไม่มีผู้ป่วย ประเทศอื่นๆ ยังไม่มีรายงาน

ผู้สื่อข่าวถามถึงสถานการณ์การลักลอบนำเข้าสัตว์ปีก นสพ.สมชวนกล่าวว่า มีเล็กๆ น้อยๆ ผู้โดยสารลงมาสนามบินมีชิ้นส่วนไก่บ้าง สารวัตรบีเกิลก็ตรวจจับได้เยอะ แต่ชิ้นส่วนก็ไม่ได้มีอะไร จุดเสี่ยงตรงนี้มีน้อยมาก แต่จุดเสี่ยงอาจเป็นนกลักลอบเข้ามา เราไม่ได้ให้วีซ่า เขาลักลอบเข้ามาก็จะไล่จับไล่ตรวจ ปกติสัตว์ปีกเข้ามาต้องได้รับอนุญาต มิเช่นนั้นคนนำเข้ามาก็ถูกจับ แต่ตัวนกที่มาเองก็ต้องจับนก จะมีการประสานกรมอุทยานฯ ที่มีพื้นที่ชุ่มน้ำ แหล่งนกธรรมชาติตรงไหนเยอะจะเข้าไปเก็บตัวอย่างตรวจเฝ้าระวังว่า พาโรคมาด้วยหรือไม่ ถ้าพาโรคมาจะได้ระวังหรือต้องจัดการอย่างไร


ถามถึงพื้นที่เป็ดไล่ทุ่งมีมากแค่ไหน นสพ.สมชวนกล่าวว่า มีไม่เยอะแล้ว สมัยก่อนอาจเยอะ แต่พอมีเรื่องไข้หวัดนกก็น้อยลง ที่มีอยู่ก็ขึ้นทะเบียนทั้งหมด เพราะตามมาตรการต้องมีการสุ่มตรวจโรคเป็นระยะ ถ้ามีซากเป็นตายต้องส่งตรวจ ส่วนสัตว์ปีกเลี้ยงหลังบ้านมีเยอะอยู่ ต้องระวังโดยารเฝ้าระวังโดยแจ้งผู้เลี้ยง กำนันผู้ใหญ่บ้านว่าถ้าไก่มีโอกาสไปสัมผัสกับนกหรือมูลนก ถ้ามีเชื้อมาก็ต้องเฝ้าระวัง ถ้าตายกะทันหัน มีอาการตายแบบชักก้ต้องรีบแจ้งมาแล้วเราจะไปตรวจ ก่อนส่งแล็บตรวจหากเราสงสัยเราก็กวาดทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ว่าจะใช่หรือไม่ ถือเป้นจุดแข็งดีกว่ารอไปตรวจเจอ

ถามต่อว่าเกษตรกรรุ่นใหม่มีการเลี้ยงไก่สวยงามส่งขายทางออนไลน์ต้องมีการลงทะเบียนเพื่อการตรวจสอบด้วยหรือไม่ นสพ.สมชวนกล่าวว่า เราให้ประเทศไทยเป็นเขตเฝ้าระวังไข้หวัดนก ฉะนั้น การที่จะขายเคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปที่หนึ่งข้ามจังหวัดต้องขออนุญาต โดยฟาร์มจะมี 2 มาตรฐาน คือ GAP สำหรับฟาร์มเลี้ยงขนาดใหญ่ และ GFM สำหรับชาวบ้านที่ให้ขึ้นทะเบียนและไปรับรองไว้เราก็จะตรวจสอบย้อนกลับได้ สำคัญคือขายในโซเชียลแล้วไม่ได้ขออนุญาตเคลื่อนย้ายผิด ซึ่งตอนนี้กรมปศุสัตว์ตั้งหน่วยงานสารวัตรปศุสัตว์ไซเบอร์คอยมอนิเตอร์มีเจ้าหน้าที่เข้าไป ส่วนมาตรการการขนส่งสัตว์ปีกให้มีความปลอดภัย ต้องมีการตรวจก่อนเคลื่อนย้าย ที่ต้องขออนุญาตเพื่อเช็กว่ามีโรคหรือไม่ ถ้าไม่มีโรคก็ไปได้ ไม่มีโรคก็ไปไม่ได้ ไม่ใช่แค่หวัดนก แต่รวมถึงโรคระบาดอื่นด้วย เช่น นิวคาสเซิลถ้าเจอก็เบรกหมด ส่วนใหญ่การเคลื่อนย้ายไกลๆ เป็นสัตว์ปีกสวยงาม ถ้าสัตว์ปีกหลังบ้านจะไปไม่ไกล ส่วนใหญ่ก็ไปเพื่อชำแหละ

ผู้สื่อข่าวถามว่า วัคซีนสำหรับสัตว์ปีกจำเป็นต้องใช้หรือไม่ นสพ.สมชวนกล่าวว่า มี แต่ยังไม่ให้ใช้วัควีน เนื่องจากเราอยากรู้ว่ามีสัตวืปีป่วยตายตรงไหนหรือไม่ หากใช้ก็จะมองไม่เห็น และคู่ค้าหลายประเทศก็ไม่แนะนำให้ใช้ แต่ถ้ามีการประชุมองค์กรสุขภาพสัตว์ระหว่างประเทศทั่วโลกถ้ามีมติอย่างไรก็ตามนั้นถ้ามีมติให้ใช้ก็ใช้ตอนนี้ยังไม่มีมติให้ใช้

ถามว่าแหล่งท่องเที่ยวที่ให้มีการถ่ายรูปกับนกต้องห้ามไปก่อนหรือไม่ นสพ.สมชวนกล่าวว่า กรมอุทยานฯ มีการเฝ้าระวัง แต่คำแนะนำคือไม่ควรสัมผัสสัตว์ปีกมากจนเกินไป


กำลังโหลดความคิดเห็น