xs
xsm
sm
md
lg

เตือนค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูงถึง 7 มี.ค. ทั้งเหนือ กทม. ปริมณฑล ย้ำเฝ้าระวังอาการป่วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอนามัย ร่วม GISTDA จับตาฝุ่น PM 2.5 เผย 28 ก.พ. เจิฮอตสปอตสูง 3,768 จุด คาดค่าฝุ่นยังพุ่งถึง 7 มี.ค. ทั้งภาคเหนือ กทม. ปริมณฑล พบปลาย ก.พ. ป่วยจากฝุ่น 68.3% ย้ำเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพ

เมื่อวันที่ 3 มี.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยมีข้อตกลงความร่วมมือกับ GISTDA ร่วมกันเฝ้าระวังและสื่อสารแจ้งเตือนประชาชนถึงสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาจากการใช้แอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” ที่ GISTDA พัฒนาขึ้นด้วยการนำข้อมูลดาวเทียมมาใช้ติดตาม พบว่า ภาพรวมประเทศมีค่า PM2.5 สูงขึ้น โดยเฉพาะภาคเหนือเกือบทั้งหมดอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มกระทบต่อสุขภาพ และสีแดงกระทบต่อสุขภาพ โดยมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก ปัจจัยหลักมาจากพื้นที่เผาไหม้หรือจุดความร้อนเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เฉพาะวันที่ 28 ก.พ. 2566 พบสถิติสูงสุดถึง 3,768 จุด ประกอบกับสภาพอากาศปิด กระแสลมอ่อนลง ส่งผลให้พื้นที่ในบริเวณดังกล่าวได้รับผลกระทบโดยตรง

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่าได้มีการคาดการณ์สถานการณ์ PM 2.5 ในช่วงระหว่างวันที่ 1 - 7 มี.ค. 2566 พบว่า ในพื้นที่ภาคเหนือ กทม.และปริมณฑล จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้ ฝุ่น PM 2.5 ก่อให้เกิดอาการเล็กน้อยถึงเจ็บป่วยต่างๆ ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้สูงอายุ อาจกำเริบและทรุดหนักได้ จากการเฝ้าระวังอาการ พบว่า ช่วงวันที่ 21 – 28 ก.พ. 2566 มีผู้ที่มีอาการจากการสัมผัส PM2.5 ร้อยละ 68.3 อาการที่พบมากที่สุด คือ คันตา ร้อยละ 23.3 รองลงมาคือ แสบตาและแสบจมูก ร้อยละ 20 และคัดจมูก ร้อยละ 16.7

ขอให้ประชาชนตรวจเช็กค่าฝุ่น หากอยู่ในระดับสีส้ม 51 – 90 มคก./ลบ.ม. ประชาชนทั่วไปควรลดหรือจำกัดกิจกรรมนอกอาคาร ออกกำลังกายในอาคาร สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นเมื่อออกนอกอาคาร ผู้มีโรคประจำตัวเตรียมยาและอุปกรณ์จำเป็นให้พร้อม หากระดับสีแดง 91 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป ประชาชนทั่วไปควรลดหรืองดการทำกิจกรรมนอกอาคาร สวมหน้ากากเมื่อออกนอกอาคารทุกครั้ง กลุ่มเสี่ยงให้งดออกนอกอาคาร ผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างน้อย 5 วัน นอกจากนี้ ควรเฝ้าระวังประเมินอาการ พร้อมรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นที่เว็บไซต์ “4HealthPM2.5” หรือ เว็บไซต์ “คลินิกมลพิษออนไลน์” หากมีอาการรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย หายใจมีเสียงหวีด ให้รีบไปพบแพทย์


กำลังโหลดความคิดเห็น