xs
xsm
sm
md
lg

8 มีนาคม"วันสตรีสากล" แด่หญิงผู้เสียสละ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"วันสตรีสากล" หรือ (International Women's Day) ตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ถือเป็นอีกหนึ่งวันที่คนทั้งโลกต่างให้ความสนใจ เพราะเป็นวันสำคัญที่ต้องการให้ผู้หญิงทั่วโลกออกมาแสดงจุดยืน และเคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้องสิทธิของสตรี นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของ "ผู้หญิง" ยุคใหม่ และกลายเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองความสำเร็จ และความก้าวหน้าของผู้หญิง ให้เกิดความเสมอภาคทางเพศต่อไป

จุดเริ่มต้นของ "วันสตรีสากล"

วันแห่งประวัติศาสตร์นี้เกิดขึ้นจากการรวมตัวของแรงงานหญิงกว่า 1.5 หมื่นคนที่ออกมาเดินขบวนประท้วงไปทั่วนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาในปี 1908 เพื่อเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง เพิ่มค่าแรง และให้สตรีมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง โดยแนวคิดดังกล่าวที่ทำให้วันดังกล่าวกลายเป็นวันสากลสำหรับทั่วโลกนั้น มาจาก คลารา เซทคิน นักการเมืองผู้สนับสนุนสิทธิสตรีชาวเยอรมัน ที่เสนอแนวคิดในปี 1910 ต่อที่ประชุมนานาชาติของผู้หญิงทำงาน ในประเทศเดนมาร์ก ซึ่งมีผู้หญิงเข้าร่วม 100 คน จาก 17 ประเทศ และทั้งหมดมีมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ โดยในปี 1975 วันสตรีสากลได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และในปี 1996 ยูเอ็นได้กำหนดคำขวัญประจำปีขึ้นเป็นครั้งแรกว่า “เฉลิมฉลองอดีต และวางแผนเพื่ออนาคต”

(อ้างอิงจาก : สำนักข่าว บีบีซี https://www.bbc.com/thai/international-56256752)

ทั้งนี้ เนื่องใน “วันสตรีสากล” มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยฯ จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ “คุณแม่โสสะ” สตรีที่อุทิศแรงกายและแรงใจดูแลเด็ก ๆ ที่สูญเสียบิดา มารดา ไร้ญาติมิตร ให้ได้รับความรัก ความอบอุ่น ประหนึ่งเกิดจากครรภ์ของตนเอง


แม่โสสะ คือใคร ?

“แม่โสสะ” คือ สตรีโสดที่ไม่มีภาระผูกพัน ซึ่งทำ "อาชีพแม่" มีหน้าที่ดูแลเด็ก ๆ ในบ้านตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ต่างจาก "แม่" ทั่วไป อาชีพนี้แตกต่างจากอาชีพอื่น ๆ เพราะต้องอุทิศชีวิตเพื่อมอบความรักให้กับเด็กทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข ก่อเกิดเป็นสายสัมพันธ์อันแนบแน่นและมั่นคงระหว่าง “แม่โสสะ” กับ “ลูกโสสะ” ตลอดไป

ดังเรื่องราวของคุณแม่คณัสริศา เผ่ามงคล หนึ่งใน “คุณแม่โสสะ” ผู้อุทิศตนในการเลี้ยงดูเด็ก ๆ ในมูลนิธิเด็กโสสะฯ เธอเลือกที่จะทำหน้าที่ในอาชีพ "แม่" ให้กับเด็ก ๆ ที่สูญเสียครอบครัว ในหมู่บ้านเด็กโสสะ - หนองคาย มายาวนานกว่า 20 ปี ด้วยเหตุผลสำคัญที่เธอให้นิยามว่า “ความสุข”


เข้ามาเป็นแม่โสสะได้อย่างไร

ตอนนั้นอยู่ในช่วงกำลังอยากเปลี่ยนงานพอดี ประจวบกับได้ยินประกาศรับสมัครงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่แม่โสสะ ผ่านทางวิทยุ เลยตัดสินใจลองสมัครดู ตอนแรกก็รู้สึกว่า ไม่เหมือนกับที่เคยคิดไว้ แต่ในเมื่อตั้งใจสมัครมาแล้ว จึงอยากลองเรียนรู้งานดูก่อน โดยเริ่มจากการเป็นผู้ช่วยคุณแม่ คือคุณน้า อยู่ประมาณ 2 ปี คอยเรียนรู้รายละเอียดการทำงานต่าง ๆ ทั้งการเลี้ยงดูเด็ก และการแก้ปัญหา

ความรู้สึกของการได้เป็นแม่โสสะ

การเลี้ยงเด็กสิบกว่าชีวิต บางครั้งความเหนื่อยมันเกิดขึ้นได้ แต่พอได้มองหน้าลูก ๆ ของเรา ก็ทำให้รู้สึกว่า ทุกอย่างมันต้องผ่านไปได้ด้วยดี เพราะเด็กเหล่านี้เขาไม่มีใคร นอกจากเรา ฉะนั้นเราต้องสู้ ต้องดูแลเขาให้ดีที่สุด แม้ไม่ได้มีสายเลือดเดียวกัน แต่เด็กทุกคนเป็นเสมือนลูกแท้ๆ การที่เราได้เห็นพวกเขามีความสุข ประสบความสำเร็จ มันคือความประทับใจ คือความสุขที่เราได้รับกลับคืนมา

นอกจากเราจะได้ช่วยเหลือเด็ก ๆ แล้ว สิ่งหนึ่งมันคือการช่วยเหลือสังคม เพราะเด็กเหล่านี้ จะเติบโตไปเป็นฟันเฟืองที่จะช่วยพัฒนาสังคมที่เราอาศัยอยู่ในวันข้างหน้า

สิ่งที่อยากบอกกับทุกคน

ขอขอบคุณผู้บริจาคทุกท่านที่ให้การสนับสนุน เราจะทำหน้าที่ตรงนี้ให้เต็มที่ เต็มความสามารถ และอยากขอบคุณลูกๆ ทุกคน ที่ทำให้เราได้มีโอกาสอยู่ที่นี่ ได้เป็น “แม่” ของลูกทุกคน


ชีวิตการทำงานของคุณแม่คณัสริศา ไม่ได้ทำเพียงเพราะเป็นแค่ “หน้าที่” เท่านั้น แต่เธอทำด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยความรัก นั่นทำให้เราได้เรียนรู้ว่า การทำงานไม่ว่าเป็นอาชีพใดก็ตาม หากได้ทำด้วยความรักและตั้งใจจริงแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราจะได้รับตอบแทนกลับมาก็คือ “ความสุข” ที่ประเมินค่ามิได้อย่างแน่นอน

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเด็กในครอบครัวโสสะ ได้ที่ เว็บไซต์ https://www.sosthailand.org/donate-now และรับชมคลิป ความเสียสละและความรักที่ไม่มีเงื่อนไขของแม่โสสะ ผ่านหนังสั้นเรื่อง "แม่" ได้ที่ http://bit.ly/3XSxe5K
กำลังโหลดความคิดเห็น