xs
xsm
sm
md
lg

ภาค ปชช.ยันออก พ.ร.ฎ.ดีสุด ปลดล็อกงบป้องกันโรค ครอบคลุมประกันสังคม-ขรก. หวังทันเข้า ครม. 14 มี.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาคประชาชนย้ำต้องรีบออก พ.ร.ฎ.ปลดล็อกงบป้องกันโรค ครอบคลุมประกันสังคม-ข้าราชการ เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด หลังเกิดปัญหาตีความกฎหมาย หวังให้ทันเข้า ครม. 14 มี.ค.นี้

เมื่อวันที่ 2 มี.ค. นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ผู้แทนภาคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเตรียมออก พ.ร.ฎ.ปลดล็อกให้ สปสช.ดูแลงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค (งบ PP) ครอบคลุมถึงสิทธิประกันสังคมและข้าราชการ ซึ่งสำนักงานประกันสังคมและกรมบัญชีกลางยินยอมแล้ว โดยจะนำร่างเข้าบอร์ด สปสช.พิจารณาวันที่ 13 มี.ค.นี้ และเสนอ ครม.วันที่ 14 มี.ค. ว่า เรื่องนี้เกิดจากการตีความไม่ตรงกันของ “งบ PP” ที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มมีระบบหลักกันสุขภาพฯ มีการตีความว่าเพื่อประชาชนทุกคน เพราะสิทธิข้าราชการและประกันสังคมไม่มีสิทธิดังกล่าวในระบบ จนปี 2565 ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ตีความต่างออกไป ทำให้งบนี้ถูกชะลอ ทำให้คนเสียสิทธิ อย่างเด็กเกิดมาทุกคนต้องได้วัคซีนพื้นฐาน ไม่ต้องสนใจว่าพ่อแม่เป็นสิทธิอะไร เมื่อแยกว่างบ PP จะได้เฉพาะสิทธิบัตรทอง ก็ทำให้ผู้ปฏิบัติงานใน รพ.ให้เฉพาะกลุ่มบัตรทอง เพื่อให้จำนวนสอดคล้องกับการจัดซื้อจัดจ้างที่ลดลง เพราะไม่ได้ให้กับเด็กทุกคนเหมือนเดิม

“ทางออกที่ดีที่สุดในตอนนี้ คือ การออก พ.ร.ฎ. โดยเดิม ม.9 และ ม.10 เป็นการรวมกองทุนทั้งระบบ แต่ว่ายังไม่ถึงขั้นที่ต้องรวมทั้ง 3 กองทุน ครั้งนี้จึงมีการแยกเฉพาะเรื่องงบส่งเสริมป้องกันฯ ที่ขาดอยู่ ให้เหมือนเดิมที่เคยได้ ฉะนั้นเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่ต้องรีบทำ” นายนิมิตร์ กล่าว

ถามว่าถ้าหากร่าง พ.ร.ฎ. ไม่ทันเข้า ครม. วันที่ 14 มี.ค. จะทำอย่างไร นายนิมิตร์ กล่าวว่า ก่อนจะยกร่าง พ.ร.ฎ.เข้าบอร์ด สปสช. วันที่ 13 มี.ค. ระหว่างนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายให้ครบทุกวงเล็บในทุกสิทธิทั้งประกันสังคมและข้าราชการ เพื่อให้ทุกคนได้รับสิทธิส่งเสริมป้องกันฯ เหมือนเดิมโดยไม่ขาดตกในข้อใด คู่ขนานกับการเปิดรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายในทุกสิทธิ ทุกคนรู้เงื่อนเวลานี้ จากนั้นเมื่อเข้าบอร์ด สปสช. วันที่ 13 มี.ค.เสร็จ รมว.สธ.ก็จะเป็นผู้นำเสนอ ครม. วันที่ 14 มี.ค.

“ทุกคนก็กลืนเลือดกันหมด เพราะเราก็อยากให้ทัน แต่ถ้าไม่ทันจริงๆ ก็ต้องกลับไปถาม สธ. เพราะช่วงที่มีปัญหาแรกๆ สธ. ขอให้ประกาศเฉพาะสิทธิบัตรทองก่อน ส่วนนอกเหนือบัตรทอง สธ. ก็ขอให้หน่วยบริการของ สธ.ให้บริการเหมือนเดิมโดยไม่คิดค่าบริการ ถ้าเป็นหน่วยบริการอื่นนอก สธ. ทาง สปสช. ก็ขอความร่วมมือให้บริการตามเดิม แล้วทำเรื่องเบิกกับ สปสช. ภายหลัง ซึ่งตรงนี้จะมีปัญหาว่าหน่วยบริการไม่มั่นใจว่าจะเบิกได้ บางส่วนก็เรียกเก็บเงินประชาชน ซึ่งก็จะเกิดปัญหาเรื่องการให้บริการ” นายนิมิตร์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น