xs
xsm
sm
md
lg

เพราะก้าวแรกของ ‘นักศึกษา’ คือช่วงเวลาเปราะบางที่ ‘มหา’ลัย’ ต้องโอบรับ ‘หอพัก’ จึงต้องเป็น ‘safe zone’ ที่เข้าใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การก้าวข้ามจากชีวิตนักเรียนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ทำให้เยาวชน-คนรุ่นใหม่ต้องปรับตัวออกจาก ‘Comfort Zone’ เดิม เปลี่ยนทั้งสังคมใหม่ เพื่อนใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ และประสบการณ์ใหม่ สถาบันการศึกษาในฐานะ ‘บ้านหลังที่สอง’ ที่จะต้องดูแล ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ทำหน้าที่นี้ผ่านการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม

ตัวอย่างที่น่านำมาเป็นต้นแบบของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือการบริหารจัดการ “หอพัก” โดย สำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา มธ. ที่ต้องการสร้าง Safe Zone ให้เกิดขึ้นจริงบนเนื้อที่กว่า 200 ไร่ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย ลดความเครียด และเอื้อต่อการเรียนรู้ บนความมุ่งหมายที่จะพัฒนาให้เข้าใกล้คำว่า “บ้าน” มากที่สุด

“เรามักคิดว่าหอในหรือหอพักที่อยู่ในมหาวิทยาลัย มีแต่กฎเกณฑ์เข้มงวด ไม่มีความอิสระ ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับหอพักธรรมศาสตร์อย่างแน่นอน” พินทุไกร มาลา ผู้จัดการหอพัก สำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา มธ. ระบุ และว่า เพราะ “ความอิสระ” คือปัจจัยที่ช่วยปลดปล่อยศักยภาพอันซ้อนเร้นของนักศึกษา มธ. จึงให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นลำดับแรกๆ

นอกจากการเปิดให้เข้า-ออก ได้ตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว หอพัก มธ. ยังมีมาตรการรักษาความปลอดภัย smart security system แบบ 2 ชั้น

ชั้นแรกเป็นพื้นที่รอบนอกหรือพื้นที่รับรอง มีพนักงานรักษาความปลอดภัย 24 ชั่วโมง มีกล้องวงจรปิด มีระบบสแกนใบหน้าบุคคลต้องสงสัยและผู้มีประวัติอาชญากรรม ขณะที่ชั้นที่สอง หรือพื้นที่ชั้นในสำหรับอยู่อาศัย มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดมากกว่า 1,600 ตัว ตลอดจนระบบสแกนทะเบียนรถ กล้องตรวจจับใบหน้าก่อนขึ้นหอพักอีก 128 ตัวเสาสัญญาณ SOS Poll กรณีต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉินอีก 13 จุด ซึ่งทั้งหมดนี้จะเชื่อมต่อข้อมูลมายัง Command room ที่จะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่ ต้องผ่านการฝึกฝนและเสริมทักษะในการเฝ้าระวังเหตุ มีการ Upskill เตรียมความพร้อมต่อภัยคุกคามรูปแบบใหม่ตลอดเวลา

“อย่างเหตุเพลิงไหม้ใหญ่ที่สำเพ็งซึ่งเกิดจากน้ำมันในหม้อแปลงร้อนจัดจนเดือด เมื่อเราเห็นข่าวก็เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ทันที ตรวจสอบว่าในพื้นที่หอพักมีความเสี่ยงเช่นนี้หรือไม่ อุปกรณ์มีความพร้อมหรือไม่ หรืออย่างเหตุกราดยิง เราก็มีการซักซ้อมเจ้าหน้าที่เพื่อเผชิญเหตุทันที” ผู้จัดการหอพัก มธ. ระบุ

หอพักหลายแห่งทำหน้าที่เป็นเพียงที่พักอาศัย แต่สำหรับหอพัก มธ. แล้ว นี่คือพื้นที่ของ “การใช้ชีวิต” อย่างแท้จริง

เนื้อที่ 200 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยที่ใหญ่ที่สุดในย่านนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อทำลายข้อจำกัดเรื่องการซ้อนทับของพื้นที่ใช้งาน (Overlapping Functions) พื้นที่สีเขียวผืนใหญ่มีทางจักรยานพาดผ่านเชื่อมถึงกันในแต่ละโซน มีจักรยานให้ยืม หรือแม้กระทั่งเรื่องปากท้อง ที่แห่งนี้มีการจัดตั้ง “ครัวกลาง” ครอบคลุมทุกโซน พร้อมอุปกรณ์ประกอบอาหารพร้อมสรรพ นักศึกษาสามารถทำอาหารกินกันได้เช่นเดียวกับที่อยู่ที่บ้าน หรือแม้แต่ร้านยา ร้านตัดผม ฯลฯ ก็มีอย่างครบครัน

“การมีพื้นที่ให้ได้ใช้ชีวิต” คือหัวใจของหอพัก มธ. นำมาสู่การสร้างระบบนิเวศใหม่ให้นักศึกษา ครัวไทย-ครัวอบขนม ทำหน้าที่มากกว่าการประกอบอาหาร แต่คือพื้นที่ของการหลอมรวมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พื้นที่อ่านหนังสือ Co-working space ช่วยเติมเต็มวิชาการในบรรยากาศผ่อนคลาย ลานกีฬา-ห้องออกกำลังกาย เสริมสร้างสมรรถภาพควบคู่ไปกับลดความเครียด ตลาดนัดของมือสองเกิดขึ้นเพราะต้องการให้เกิดสังคมแห่งการแบ่งปัน

ชีวิตในมหาวิทยาลัยมีแรงกดทับจากทั้งตัวเองและครอบครัว นักศึกษาคาดหวังผลการเรียนในระดับที่สูงมาก โดยเฉพาะกับนักศึกษาธรรมศาสตร์ ในฐานะมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ย่อมมีอัตราการแข่งขันที่สูง ช่วงใกล้สอบจึงเป็นช่วงที่เด็กแสดงอาการทางจิตเวช-ความเครียด-ความพยายามฆ่าตัวตายมากที่สุด

การพัฒนาหอพักเพื่อให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย “ทางอารมณ์และความรู้สึก” และการออกแบบกลไกดูแลสุขภาพจิตเชิงรุกจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยหอพัก มธ. มีสายด่วน call center 24 ชั่วโมง ที่เชื่อมต่อกับศูนย์ชีวิตชีวา (Viva City) คลินิกให้คำปรึกษา ซึ่งจะบุคลากรผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่ Student Advisor ซึ่งผ่านการคัดเลือกและฝึกอบรมให้เป็นผู้ให้คำปรึกษาเบื้องต้น ทำงานร่วมกับนักจิตวิทยา-จิตแพทย์ จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คอยดูแลนักศึกษาอย่างใกล้ชิด

“ทุกความต้องการของนักศึกษาเป็นสิ่งที่เราจะนำกลับมาพิจารณา ส่วนจะทำได้หรือทำไม่ได้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ยืนยันว่าเราพิจารณาในทุกๆ ข้อเสนอที่ได้รับ” พินทุไกร ยืนยัน และยกตัวอย่างว่า ทุกวันนี้การเลือกร้านอาหารในโรงอาหาร จะมีกิจกรรมที่เรียกว่า “วันเปิดชิม” คือเชิญชวนร้านอาหารมาทำอาหารให้นักศึกษาโหวต ทั้งความคุ้มค่า รสชาติ ปริมาณ ฯลฯ

ถ้าเปรียบหอพักเป็นบ้านหลังหนึ่ง บ้านหลังนี้เปิดโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยมีส่วนร่วมในการออกแบบสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เขาต้องการ โดยทุกคนร่วมสร้าง และร่วมกันใช้ประโยชน์ ที่นี่จึงเป็น safe zone ในความหมายของพื้นที่ปลอดภัย และเป็น safe zone ในวันที่ชีวิตของนักศึกษากำลังก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ












กำลังโหลดความคิดเห็น