xs
xsm
sm
md
lg

ไทยผ่าคลอดสูง 50% ทารกอดได้แบคทีเรียตัวดี ส่อเป็นภูมิแพเมากขึ้น ลุย 3 แนวทางเพิ่มคลอดปกติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สูตินรีแพทย์เผยไทยผ่าตัดคลอดสูง 50% แนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 7 ปี ร่วมมือ WHO ตั้งเป้าลดผ่าคลอดเหลือ 15% รุกวิจัยร่วม 8 รพ.ดำเนินการ 3 เรื่อง ให้ความรู้ในโรงเรียนพ่อแม่ มีเพื่อนคู่คลอด และให้ยาระงับปวด หวังช่วยเพิ่มคลอดธรรมชาติ ย้ำผ่าคลอดเสี่ยงทั้งแม่และลูก เสียเลือด แผลติดเชื้อ เด็กอดได้แบคทีเรียตัวดีผ่านช่องคลอด ส่อเป็นภูมิแพ้ง่าย

นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ สูตินรีแพทย์ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร และโฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการผ่าตัดคลอดว่า ปัจจุบันอัตราการคผ่าตัดคลอดของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 50% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เราอยากลดอัตราการคลอดให้อยู่ในตัวเลขที่เหมาะสม ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) อยากให้การผ่าคลอดอยู่ที่ 15% จึงมีกิจกรรมที่ดำเนินการคือ มีการดำเนินการบางอย่างให้คลอดเองได้ ได้แก่ 1.ให้ความรู้ระหว่างตั้งครรภ์อยู่ในโรงเรียนพ่อแม่ ว่าข้อดีข้อเสียการผ่าตัดคลอดคืออะไร เวลาไปห้องคลอดจะเจออะไรบ้าง เมื่อมีประสบการณ์และทัศนคติที่ดีจะทำให้ความกลัวห้องคลอดเราลดลง  2.เพื่อนคู่คลอด ให้สามีไปอยู่ในห้องคลอดด้วยหรือคนที่เราสบายใจ ซึ่งคนๆ นี้ก้ต้องเข้าโรงเรียนพ่อแม่เช่นกัน จะได้รู้ว่ากระบวนการจะเกิดอะไรขึ้น และ 3.มีการระงับปวดระหว่างยอู่ในห้องคลอด ในต่างประเทศมีตัวเลือกเยอะในการเลือกวิธีแก้ปวด ของไทยเราเพิ่มการฉีดยาแก้ปวดบางตัวที่ทำให้ปวดน้อยลงระหว่างคลอด และคิดว่าการมีกิจกรรมเหล่านี้ทำให้การคลอดเองมีความสำเร็จมากขึ้น

"เหตุผลที่ไม่อยากให้ผ่าคลอดเยอะ เพราะการผ่าคลอดมีผลเสียต่อแม่และลูกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นของแม่คือ โอกาสเสียเลือด แผลติดเชื้อ อันตรายต่ออวัยวะข้างเคียงมากขึ้น ส่วนเด็กออกมาเวลาดูดนมจากเต้าน้อยลง ซึ่งเวลาคลอดลูกเด็กควรจะได้รับนมแม่ทันที แต่ถ้าแม่ผ่าตัดคลอดดมยาสลบก็สะลึมสะลือไม่สามารถให้ได้ การให้นมแม่ก็ลดลง นอกจากนี้ ลูกที่คลอดออกมาจะได้รับเชื้อแบคทีเรียตัวดีลดลง ซึ่งจะได้รับเมื่อคลอดออกมาผ่านช่องคลอด แต่การผ่าคลอดไม่ได้แบคทีเรียตัวดี เคยมีงานวิจัยเอาสำลีไปป้ายช่องคลอดเอาป้ายปาก ตาและจมูกเด็ก เพื่อให้ได้แบคทีเรียตัวดี ซึ่งการไม่ได้จะทำให้มีโอกาสเกิดภูมิแพ้มากขึ้น ส่วนที่ว่าทุกวันนี้เด็กป่วยง่ายป่วยบ่อยมากจากการผ่าตัดคลอดหรือไม่นั้น ยังฟันธงชัดไม่ได้ เพราะอย่างแบคทีเรียตัวดีที่ทำให้สุขภาพแตกต่างกันก็เป็นในช่วงแรก เขาสามารถไปทันกันได้ที่ 7 ขวบ แต่หากเด็กโตขึ้น เช่น 10 ขวบ แล้วบอกว่าเด็กผ่าคลอดกับคลอดเองต่างกันยังเคลมไม่ได้ขนาดนั้น" นพ.โอฬาริกกล่าว

นพ.โอฬาริกกล่าวว่า ส่วนผลกระทบระยะยาวแน่นอนว่าท้องลูกคนถัดไปยากขึ้น มีโอกาสเกิดภาวะรกฝังลึกเกาะแน่น ครั้งต่อไปต้องผ่าตัดคลอดบวกกับมีโอกาสตัดมดลูก เหมือนต้นไม้ฝังรากแก้วเข้าไปข้างในดึงไม่ออก ต้องผ่าตัดมดลูกออกเลย หรือปวดท้องน้อยเรื้อรัง เลือดออกประปริบประปอยก็มีได้ บางทีเราไม่มีเวลาให้ข้อมูลเหล่านี้กับคุณแม่ในการตัดสินใจ บางคนปักธงมาแล้วก็ต้องให้ข้อมูลซ้ำๆ บ่อยๆ ปัจจุบันประเทศไทยทำงานวิจัยกับ WHO มี 8 รพ.ในไทยที่ดำเนินการ 3 เรื่องนี้ เพื่อให้อัตราการผ่าตัดคลอดเป็นปกติ ซึ่งเรามีการคุยกันทั้งระดับนโยบาย ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ และภาคเอกชน

ถามว่าปัญหามาจากความเชื่อเรื่องฤกษ์เกิดด้วยหรือไม่  นพ.โอฬาริกกล่าวว่า ก็เป็นส่วนหนึ่ง โดยปัจจัยเกิดจาก 2P คือ 1.Pregnant หรือตัวคนท้องเอง และ 2.Provider ผู้ให้การรักษา บางคนเรื่องของความเชื่อ บางคนเป็นเรื่องของการจัดการเวลา (Time Management) บางคนหญิงตั้งครรภ์อยู่คนเดียว แฟนอยู่คนละจังหวัด ไม่รู้ว่าเจ็บท้องกลางคืนใครจะมาส่ง เราก็ให้ข้อดีข้อเสีย สุดท้ายตัดสินใจร่วมกันกับคนไข้ว่าจะเลือกคลอดแบบไหน ซึ่งแบบนี้จะดีกว่าในการผ่าตัดคลอด แต่การผ่าตัดต้องทำในช่วงเวลาที่มีความพร้อม เช่น กลางวัน หมอพร้อม ห้องเลือดพร้อม วิสัญญีพร้อม หมอเด็กพร้อม เพราะเหตุการณ์วิกฤตสามารถเกิดขึ้นได้

ถามถึงข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอด นพ.โอฬาริกกล่าวว่า มี เช่น รกอยู่ด้านล่างขวางช่องคลอดไว้ คลอดเองไม่ได้ หรือบางคนมีก้อนที่บริเวณช่องคลอด หรือฝาแฝดที่คนแรกเอาก้นลง อีกคนเอาหัวลง ซึ่งเรากลัวคางไปเกยกัน คนแรกคลอดแล้วจะติดออกมา แต่ถ้าเด็กเอาหัวลงทั้งสองคนก็คลอดเองได้ เด็กคลอดท่าก้นจริงๆ คลอดเองได้ แต่ปัจจุบันนิยมผ่าตัดคลอดมากกว่า รวมถึงกรณีเด็กนอนขวางก็ต้องผ่าคลอด โดยส่วนใหญ่เด็กจะเอาหัวลงตอนคลอด แต่ก็จะมีบางทีที่เด็กหมุนไปหมุนมาทำให้เด็กอยู่ในท่าขวาง ส่วนคนที่เคยผ่าตัดคลอดกลับมาคลอดเองได้แต่จะมีวิธีการคำนวณอยู่


กำลังโหลดความคิดเห็น