สถานการณ์มลพิษทางอากาศ (Air Pollution) เป็นสิ่งที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ และผู้คนส่วนใหญ่กำลังรับมือกับปัญหานี้ โดยเฉพาะในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ ๆ ที่ถือเป็นจุดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศ โดยมลพิษทางอากาศที่เป็นปัญหาสำคัญ ได้แก่ ฝุ่นขนาดเล็ก หรือ PM2.5 โดยในประเทศไทยมีค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงและรายปีที่สูงกว่าค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) จึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนในประเทศ ดังนั้นการจัดการคุณภาพอากาศอย่างยั่งยืนจึงเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนควรตระหนัก มีส่วนร่วม และให้ความสำคัญในทุกมิติ
รศ.ดร.เอกบดินทร์ วินิจกุล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางอากาศ สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการ (Environmental Engineering and Management) คณะสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และการพัฒนา (School of Environmental, Resources and Development) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology) หรือ AIT ได้กล่าวถึงผลกระทบจากมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่นขนาดเล็กว่า “ฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ และคนที่สุขภาพไม่ค่อยดี จะได้รับผลกระทบมากกว่าคนปกติที่มีสุขภาพแข็งแรง โดยมีงานวิจัยที่พบฝุ่นขนาดเล็กเหล่านี้ในปอด กระแสเลือด สมอง และอวัยวะต่างๆ โดยผลกระทบต่อสุขภาพนอกจากจะมาจากการสะสมของฝุ่นขนาดเล็กในอวัยวะต่างๆ ยังมาจากสารพิษที่อยู่ในฝุ่นขนาดเล็กเหล่านี้อีกด้วย นอกจากนี้ฝุ่นขนาดเล็กยังส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและสังคม ในปีนี้คาดการณ์ว่าปัญหาฝุ่นขนาดเล็กจะรุนแรงขึ้น เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ที่มีอิทธิพลต่อสภาพภูมิอากาศของโลก โดยเฉพาะจะนำความแห้งแล้งมาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยแนะนำว่าควรเตรียมรับมือและป้องกันตนเองในวันที่มีความเข้มข้นของฝุ่นขนาดเล็กสูงด้วยการลดเวลาในการทำกิจกรรมภายนอกอาคาร และสวมใส่หน้ากากกันฝุ่นเมื่อออกนอกอาคาร พยายามอยู่ในอาคารที่ปิดประตูหน้าต่างให้สนิทและเปิดเครื่องกรองอากาศอยู่เสมอ สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาและควบคุมมลพิษทางอากาศที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดต้องจัดการที่แหล่งกำเนิดมลพิษ คือ การลดการระบายไอเสียจากรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล การควบคุมการเผาไหม้เชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมและมลพิษจากกระบานการผลิต การควบคุมการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร การเผาป่า และการเผาขยะในพื้นที่ เป็นต้น”
“ฝุ่นในอากาศ” มีส่วนประกอบที่เป็นสารพิษต่าง ๆ รวมถึง “ไมโครพลาสติก” คือ ชิ้นส่วนเศษพลาสติกขนาดเล็กมากในระดับไมโครเมตร ซึ่งไมโครพลาสติกนับว่าเป็นอีกหนึ่งมลพิษที่ปนเปื้อนในอากาศด้วยเช่นกัน โดย AIT เป็นสถาบันแรกในประเทศไทยที่ทำการตรวจวัดปริมาณไมโครพลาสติกในบรรยากาศ ได้แก่ ไมโครพลาสติกที่แขวนลอยในอากาศ ในน้ำฝน และที่ตกตะกอนในอากาศ ซึ่งในประเทศอื่น ๆ อย่างยุโรป จีน มีการตรวจวัดปริมาณไมโครพลาสติกก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อหาแนวทางหรือมาตรการป้องกันและควบคุมปริมาณไมโครพลาสติกในอากาศ และสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อศึกษาถึงผลกระทบต่อสุขภาพต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ AIT ยังได้มีส่วนร่วมในการศึกษามาตรการป้องกันและแนวทางในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศกับหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทย ประเทศอื่นๆ และองค์กรระหว่างประเทศ โดยในประเทศไทย AIT ได้ให้ความร่วมมือในการศึกษาแหล่งกำเนิดมลพิษและการจัดการฝุ่นขนาดเล็กกับกรุงเทพมหานคร และกรมควบคุมมลพิษ ในภูมิภาคอาเซียน AIT ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษศึกษาการใช้ข้อมูลด้านการสูญเสียของการไม่ดำเนินการด้านมลพิษทางอากาศ (Cost of inaction) ในการส่งเสริมการจัดทำนโยบายด้านการจัดการคุณภาพอากาศกับ UNEP (United Nations Environment Programme) และการศึกษาต้นทุนและผลประโยชน์ของการใช้น้ำมันและเครื่องยนต์สะอาด ในหมู่เกาะมัลดีฟส์ให้กับ CCAC (Climate and Clean Air Coalition) ทั้งนี้ AIT ได้เข้าร่วมกับองค์กรต่างๆ เพื่อหาแนวทางและมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศให้ลดลง เนื่องจากมลพิษทางอากาศเป็นปัญหาระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อการเสียชีวิตของประชากรประมาณเจ็ดล้านคนต่อปี ซึ่งมากกว่าการเสียชีวิตจาก Covid-19 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา