จิตแพทย์ ชี้ “ไซโคพาธ” เป็นบุคลิกต่อต้านสังคม ส่วนใหญ่ใช้กับผู้ก่ออาชญากรรมโชกโชน ไม่ละเว้นรับโทษ เผยบทเรียน “นิ่ม” ท้องไม่พร้อม หลุดจากระบบการศึกษา อาจไม่รู้สิทธิสวัสดิการ
เมื่อวันที่ 27 ก.พ. นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณี น.ส.นิ่ม อายุ 17 ปี รับสารภาพทำน้องต่อ ลูกชายอายุ 8 เดือน เสียชีวิต ว่า เป็นอุทธาหรณ์เรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การท้องไม่พร้อมทั้งฝ่ายพ่อและแม่ ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพจิตสำคัญ และเป็นปัญหาทั้งระบบที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต้องร่วมดูแล กรณีดังกล่าวพบว่าเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา ซึ่งปกติจะมี พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 และกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ ดังนั้น หากเด็กยังอยู่ในระบบการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะต้องเข้ามาดูแลให้คำปรึกษาตั้งแต่ที่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ การฝากครรภ์ และการดูแลหลังคลอดด้วย ยังไม่นับรวมถึงปัญหาครอบครัวที่อาจจะมีอยู่เดิม หรือปัญหาที่กำลังจะตามมาอีก
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ส่วนที่มีการพูดต่อๆ กันว่า ผู้ก่อเหตุเป็นไซโคพาธนั้น อยากให้สังคมเข้าใจว่า ไซโคพาธเป็นเรื่องบุคลิกภาพต่อต้านสังคม มักใช้ในกลุ่มที่มีประวัติอาชญากรรมโชกโชน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน หากมีภาวะนี้โดยแท้จริงจะไม่ได้รับการยกเว้นโทษ ยกเว้นว่ามีปัญหาจิตฟั่นเฟือน หรือมีจิตบกพร่องถึงจะได้รับข้อยกเว้น อย่างไรก็ตาม การดูแลเด็ก เยาวชนที่กระทำผิดนั้น ตามกฎหมายจะเน้นเรื่องการฟื้นฟูเยียวยา มากกว่าการลงโทษ และมุ่งให้เกิดการพัฒนาตนเอง สภาพจิตใจ ให้สามารถลับมาอยู่ในสังคมได้ ดังนั้นบทลงโทษจึงให้ไปอยู่ที่สถานพินิจ
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ส่วนข้อสงสัยเรื่องปัญหาซึมเศร้าหลังคลอดที่อาจจะเกิดกับแม่ทุกคนนั้น ความรุนแรงพบได้ประมาณ 10-20% แต่ตัวแปรสำคัญคือ ภาวะดังกล่าวเป็นผลกระทบจากการตั้งครรภ์ที่ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง เป็นการซึมเศร้าเฉพาะตน ทำให้ตำหนิตนเอง และทำร้ายตัวเอง ส่วนการทำร้ายคนอื่นนั้นเกิดขึ้นน้อยมาก อย่างไรก็ตาม กรณี น.ส.นิ่มนั้นอาจจะไม่รู้ว่ามีสวัสดิการช่วยเหลือกรณีท้องไม่พร้อมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมาย หรือหากประสงค์จะตั้งครรภ์ต่อก็จะมีระบบดูแลต่อ มีหน่วยงานเข้าไปดูแล รวมถึงมีเงินสวัสดิการสำหรับเด็กแรกคลอดเดือนละ 600 บาท เป็นเงินเบื้องต้นเท่านั้น นอกจากนี้ จะมีการอบรมอาชีพเพื่อให้ดูแลตัวเองได้ระยะยาว ซึ่งเป็นบทบาทของ สธ.ร่วมกับ พม. ดังนั้น สิ่งสำคัญคือความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะในการดูแลปัญหาการท้องไม่พร้อม