“หมอสูติฯ” เผย 2 ปัญหา "แม่วัยใส" เจอทั้งสุขภาพแม่และเด็ก หนักสุดเรื่องความรุนแรงในครอบครัว สามีภรรยาทำร้ายร่างกายกัน เด็กถูกทอดทิ้ง
จากกรณีข่าว น.ส.นิ่ม (สงวนชื่อจริง) อายุ 17 ปี แม่ของน้องต่อ เด็กอายุ 8 เดือนที่หายตัวไปจากบ้านพักในพื้นที่จ.นครปฐม ยอมรับสารภาพว่า เป็นคนทำให้ลูกเสียชีวิตและนำศพไปโยนทิ้งน้ำ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะแม่วัยใส ความรุนแรงในครอบครัว
เมื่อวันที่ 27 ก.พ. นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ สูตินรีแพทย์และโฆษกประจำตัวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า จากการทำงานด้านสูตินรีเวช พบปัญหาแม่วัยใสมาโดยตลอด โดยเฉพาะแม่วัยใสที่มาจากการท้องไม่พร้อม พบปัญหาหลัก 2 เรื่อง คือ 1.ปัญหาด้านสุขภาพของแม่และเด็ก อย่างดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์ไม่ดีพอ ทำให้มีความเสี่ยงลูกออกมาตัวเล็ก คลอดก่อนกำหนด และ 2. ปัญหาสังคม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัว อย่างที่มักพบเห็นคือ สามีภรรยาทำร้ายร่างกายกัน เด็กถูกทิ้ง จึงเป็นที่มาของการมี พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ซึ่งมี 6 กระทรวงที่เกี่ยวข้องดูแล คือ สธ. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
“ปัญหาแม่วัยใสที่ไม่พร้อมมีเยอะมาก บางคนต้องเลี้ยงลูกตามลำพัง จากการพูดคุยหลายคน ไม่รู้ว่านี่เป็นปัญหา ซึ่งความที่ยังเป็นเด็ก ทำให้ไม่รู้จะหาเงินที่ไหนเลี้ยงลูก นอกจากนี้ ยังพบปัญหาซึมเศร้าหลังคลอด โดยทั่วโลกอาจจะเกิดได้ราวๆ 7-8% ซึ่งใน รพ.จะมีทีมงานคอยติดตามดูแลหลังคลอดระยะเวลาหนึ่ง เรียกว่าเป็นทีมเยี่ยมบ้านว่า มีปัญหาอะไรหรือไม่ อย่างหากมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตก็จะมีการส่งต่อจิตแพทย์” นพ.โอฬาริก กล่าว
ถามว่าปัญหาแม่วัยใสที่ไม่พร้อมกับครอบครัวที่ไม่เอื้อในการดูแลร่วมกัน จะมีแนวทางป้องกันดูแลอย่างไร นพ.โอฬาริก กล่าวว่า ต้องร่วมกันทั้งหมด โดยต้องใช้ 4P คือ Patient ตัวเราเองต้องรู้, Public ภาคประชาชนต้องรู้, Provider ผู้ให้บริการทุกระดับ ตั้งแต่อสม. คุณหมอ พยาบาล และที่สำคัญคือ Policy maker ระดับนโยบาย โดยทั้ง 4P ต้องตระหนักรู้ในเรื่องนี้ การแก้ปัญหาต่างๆก็จะเป็นรูปธรรมมากขึ้น