หมอสูติฯ เตือน "บุหรี่ไฟฟ้า" ทำคลอดก่อนกำหนด-เด็กตัวเล็ก สูงกว่าคนไม่สูบ 7 เท่า ชี้เด็กตัวเล็กเสี่ยงอยู่ตู้อบนาน อาจพิการทางสมองหรือ เรียนรู้เคลื่อนไหวไม่ได้ตามปกติ ย้ำอยากมีบุตรให้หยุดสูบทั้งผู้หญิงผู้ชาย ห่วงบางคนใช้สารเสพติดอื่นด้วย พบแม่ตั้งครรภ์แถบ "อีสาน-เขตสุขภาพที่ 4" ใช้สารเสพติดมาก เหตุเชื่อช่วยคลอดง่าย
เมื่อวันที่ 27 ก.พ. นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ สูตินรีแพทย์ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร และโฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้ากับสุขภาพแม่และลูก ว่า ปัจจุบันมีงานวิจัยเมื่อปี 2022 ยืนยันว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีผลกระทบกับแม่ตั้งครรภ์และลูกในท้อง โดยจะเกิดปัญหาทำให้ลูกออกมาตัวเล็กหรือคลอดก่อนกำหนด หากเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้สูบแล้วมีความเสี่ยงมากกว่า 7 เท่า ซึ่งการที่ลูกตัวเล็กหรือคลอดก่อนกำหนด จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพเด็กในอนาคต ทั้งร่างกายและสมอง เช่น น้ำหนัก 1 กิโลกรัมอาจจะต้องอยู่ตู้อบนาน โตขึ้นมามีความพิการทางสมอง เรียนรู้หรือเคลื่อนไหวไม่ได้ตามปกติ บางคนอาจมีปัญหาตาบอด ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้น หากต้องการให้คลอดลูกปกติก็ต้องช่วยกันรณรงค์ให้การเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าลดน้อยลง สำหรับเด็กที่คลอดออกมาแล้วได้รับผลกระทบจากบุหรี่ไฟฟ้า ก็มีการวิจัยโรคปอดในเด็กจะมีปัญหาเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้น เน้นย้ำว่าบุหรี่ไฟฟ้านอกจากมีผลจากผู้สูบ บุหรี่มือสองก็มีผลกระทบเช่นกัน
"บุหรี่ไฟฟ้ามีทั้งที่มีนิโคตินและไม่มีนิโคติน ซึ่งนิโคตินเป็นอันตรายอยู่แล้ว และไม่ว่าจะมีหรือไม่มีนิโคติน ก็ยังมีสารที่ทำให้การสูบมีรสชาติ ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าเป็นสารตัวไหนส่งผลชัดๆ แต่เทียบกับคนไม่สูบก็คือมีผลแน่ รวมถึงยังมีสารระเหยต่างๆ ที่ออกมาอาจจะส่งผลกับการทำงานของตัวรก ก็จะมีปัญหาจากแม่สู่ลูกได้ เรากำลังพูดคุยกันในราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยว่าจะต้องออกคำแนะนำต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย" นพ.โอฬาริกกล่าวและว่า ส่วนที่บอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกดีกว่าสูบบุหรี่มวน ต้องมองอีกมุมว่าทำไมต้องเลือก เพราะไม่ดีทั้งสองอย่าง ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ ขอว่าช่วงตั้งครรภ์ไม่ควรสูบบุหรี่เลย คุณพ่อหลายคนเลิกบุหรี่ได้ก็ช่วงภรรยาตั้งครรภ์ ขอให้เป็นจุดที่เริ่มทำในสิ่งที่ดี อยากมีบุตรให้หยุดสูบทั้งผู้หญิงผู้ชาย
นพ.โอฬาริกกล่าวว่า บางคนไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเดียว แต่ยังมีการใช้สารเสพติดอย่างอื่นด้วย โดยกลุ่มแม่ที่ใช้สารเสพติดในประเทศไทย เราเจอมากพอสมควรโดยเฉพาะแถบภาคอีสานและเขตสุขภาพที่ 4 เพราะเชื่อว่าเมื่อใช้ยาเสพติดมาจะทำให้คลอดง่าย โดยเฉพาะยาบ้า ยาไอซ์ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะยาส่งผลต่อเด็ก ที่เจอคือคลอดก่อนกำหนด เด็กอยู่ในไอซียู แม่บางคนเสียชีวิต บางคนเจอถึงขั้นนอนดิ้นลงไปนอนคลอดกับพื้น อย่างโคเคนจะมีโอกาสทำให้แม่มีภาวะครรภ์เป็นพิษมากขึ้น แต่โคเคนไม่ค่อยพบในคนไทย จริงๆ ในสมุดสีชมพูจะมีการคัดกรองว่ามีการใช้สารเสพติดหรือไม่ แต่บางคนไม่ได้ตอบตามเป็นจริง จึงต้องเปลี่ยนความเชื่อว่าเสพยาบ้าทำให้คลอดง่าย ส่วนใหญ่มักพบในผู้ที่มีประวัติใช้เดิมอยู่แล้ว เท่าที่ทราบบางเขตสุขภาพที่พบแม่มีการใช้ยาเสพติดเยอะมีการขอตรวจปัสสาวะเมื่อดูการใช้สารเสพติดในหญิงตั้งครรภ์ด้วย อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้จะมีการหารือกับ รมช.สธ.ในเชิงนโยบายด้วย