xs
xsm
sm
md
lg

เด็กมีวันว่าง 150 วัน/ปี สสส.ลุยสร้างระบบเรียนรู้คู่ศึกษา จัดปิดเทอมสร้างสรรค์ เข้าถึงกิจกรรมที่ชอบ อาชีพที่สนใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"โควิด" ทำเด็กเรียนรู้ถดถอย สสส. เดินหน้าจัด "ปิดเทอมสร้างสรรค์" ปี 66 เปิดพื้นที่ให้เด็ก เยาวชนเข้าถึงกิจกรรมเรียนรู้ ฝึกงาน สร้างอาชีพตามความสนใจในช่วงวันว่าง 150 วัน/ปี ลุยกระจายสู่พื้นที่ใกล้บ้าน เตรียมสื่อสารรณรงค์ผู้นำประเทศที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนคิกออฟใหญ่ 11 มี.ค.นี้

เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชากร 1 ใน 5 เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป คนรุ่นใหม่ต้องแบกรับภาระการดูแลสังคมและประเทศมากกว่าคนรุ่นปัจจุบันภายใต้โลกที่หมุนเร็ว มีความเชื่อมโยง และมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ขณะที่การพัฒนาเด็ก เยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เป็นพลเมืองที่เข้มแข็งและมีส่วนร่วมกับสังคม ทุกคนยกให้เป็นหน้าที่ของระบบการศึกษา (Education System) แต่ระบบการศึกษาไม่ใช่คำตอบเดียว ระบบที่ใหญ่กว่าคือ "ระบบการเรียนรู้ (Learning System)" จะเห็นว่าคนที่ก้าวสู่ความสำเร็จ เป็นผู้เปลี่ยนแปลงโลกหลายคนเกิดจากการเรียนรู้นอกห้องเรียน สสส.สานพลังภาคีเครือข่าย ส่งเสริมให้ระบบการเรียนรู้เป็นระบบคู่ขนาน ไม่ใช่แค่ทางเลือก เพื่อเสริมการศึกษาระบบหลักให้ดีขึ้น ทั้งกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ โดยเปิดแพลตฟอร์ม ปิดเทอมสร้างสรรค์.com เป็นศูนย์กลางรวบรวมกิจกรรมจากทุกหน่วยงาน สำหรับเด็กโต มีกิจกรรมฝึกอาชีพ-ฝึกงาน มากกว่า 2,000 กิจกรรม/ปี และกิจกรรม "เล่นเปลี่ยนโลก" สร้างพื้นที่ "เล่นอิสระ" สำหรับเด็กปฐมวัย พบว่าการใช้เวลาที่ไม่ถูกจัดในตารางสอน ไม่ต้องเรียนอะไรที่ตายตัว ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างมาก เรียนรู้ได้ดีกว่า มีอิสระกว่า ตรงกับความชอบของผู้เรียนมากกว่า

"เด็กมีวันปิดเทอมใหญ่ วันหยุด และวันว่างต่างๆ รวมกว่า 150 วัน/ปี ขณะที่มีหน่วยงานพร้อมหยิบยื่นโอกาสให้เด็กเข้าถึงกิจกรรมการเรียนรู้จำนวนมาก หากเชื่อมต่อเครือข่ายกิจกรรมเหล่านี้ให้เด็กเข้าถึงง่าย ค้นหาและเลือกได้อย่างมีอิสระในการไปเรียนรู้ เล่นสนุก ทำกิจกรรม หางานทำ หารายได้ โดยเปิดแพลตฟอร์มปิดเทอมสร้างสรรค์ย่อยๆ ในแต่ละจังหวัด เชื่อมโยงกับระบบใหญ่ จะเกิดพลังมหาศาล" ดร.สุปรีดากล่าว

ดร.สุปรีดากล่าวว่า แม้กิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ จะชะลอตัวในช่วง 3 ปีจากโควิด 19 แต่จากการเดินหน้ากิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ปลายปีที่ผ่านมา ช่วยให้เด็กนับแสนคนเข้าถึงกิจกรรมสร้างสรรค์ สำหรับการขับเคลื่อนปีนี้ จะจัดงานสื่อสารรณรงค์ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 7 มี.ค. 2566 เพื่อสื่อสารความสำคัญของเรื่องนี้ต่อผู้นำประเทศ ผู้กำหนดนโยบาย และแถลงข่าวคิกออฟปิดเทอมสร้างสรรค์วันที่ 11 มี.ค. 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จากนั้นจะสื่อสารสาธารณะเกี่ยวกับแพลตฟอร์มปิดเทอมสร้างสรรค์ต่อเนื่องทุกช่องทาง วิจัยถึงกิจกรรมที่เด็กและเยาวชนให้ความสนใจ ประเมินผลความพึงพอใจของกิจกรรม เพื่อพัฒนาและกำหนดทิศทางการดำเนินงานในปีถัดไป


น.ส.ศิริพร พรมวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายปิดเทอมสร้างสรรค์ กล่าวว่า ช่วงเปิดเทอมเด็กมีโรงเรียนคอยดูแลด้านวิชาการ ช่วงปิดเทอมเป็นช่วงโอกาสพัฒนาศักยภาพตัวเองตามความสนใจ แต่เด็กหลายคนไม่มีพื้นที่ให้เรียนรู้พัฒนาตนเอง หรือหลายคนอยู่ในกลุ่มครอบครัวเหลื่อมล้ำ เข้าไม่ถึงการศึกษา ยิ่งช่วงโควิดที่ผ่านมามีการเรียนออนไลน์ที่บ้าน ติดมือถือ ทำให้เกิดปัญหาการเรียนรู้ถดถอย ต้องเร่งแก้ปัญหานี้ เป้าหมายคือรวมภาคีเครือข่ายทั่วประเทศมาเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้เด็ก กระจายแหล่งเรียนรู้ทั้งเล็ก ใหญ่ ไปอยู่ใกล้เด็กที่สุด ให้เดินทางเข้าถึงง่ายที่สุด ที่ผ่านมามีการประชุมเครือข่ายเพื่อมาร่วมทุนว่าแหล่งเรียนรู้ใดมีต้นทุนพื้นที่ ต้นทุนกิจกรรม หรืองบประมาณ ก็มาร่วมทำกิจกรรมให้เด็กผ่านแพลตฟอร์ม "ปิดเทอมสร้างสรรค์" เพราะแหล่งเรียนรู้มีเยอะ และมีเด็กจำนวนมากที่อยากเข้าร่วม แต่ยังไม่มีโอกาสเจอกัน ก็จะมาเชื่อมแพลตฟอร์มให้เจอกันง่ายขึ้น โดยเน้นสื่อสารให้รู้จักเว็บไซต์ปิดเทอมสร้างสรรค์ไปยังโรงเรียน ผ่านโรดโชว์ โซเชียลมีเดีย อย่าง Tiktok เพจ อินฟลูเอนเซอร์ สื่อออนไลน์และสื่อท้องถิ่น


นายอดุลยชาติ ขันธมะ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาผู้ตัดสินกีฬา สถาบันพัฒนาบุคลากรการพลศึกษาและการกีฬา กรมพลศึกษา กล่าวว่า กรมพลศึกษา เน้นส่งเสริมการออกกำลังกาย เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีสุขภาวะที่ดี ที่ผ่านมามีโครงการให้เด็ก เยาวชนทุกปี โดยเฉพาะช่วงปิดเทอมจะมีโครงการ "กีฬาร้อนนี้เพื่อลูกรัก" สนับสนุนงบประมาณให้ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดดำเนินการ มีเจ้าหน้าที่พลศึกษาไปจัดกิจกรรมตามความชอบในแต่ละพื้นที่ เช่น เปตอง ฟุตบอล ฟุตซอล วอลเลย์บอล นอกจากนี้ สำนักนันทนาการ จะมีกิจกรรมร้องเล่นเต้นรำ ทำอาหารทุกวันตอนเย็น ซึ่งเด็กสามารถสมัครผ่านเว็บไซต์กรมพลศึกษา หรือเข้ามาที่หน่วยงาน ทำให้เป็นข้อจำกัด แต่เมื่อเข้าร่วมกับเว็บไซต์ปิดเทอมสร้างสรรค์ ทำให้เด็กสามารถสมัครและเข้าถึงกิจกรรมต่างๆ ได้ง่ายขึ้น


น.ส.ศศิวมล เสียงแจ้ง ผู้ก่อตั้ง Daywork กล่าวว่า ที่ผ่านมาการหางานพาร์ทไทม์ของเด็กและเยาวชน ต้องไปตามห้าง ร้านต่างๆ กรอกใบสมัคร ผ่านกระบวนการสัมภาษณ์ทีละร้าน เป็นอุปสรรคสำคัญที่ยุ่งยากของเด็ก Day Work จึงพัฒนาแอปพลิเคชันที่ช่วยสรรหาและจับคู่ให้เด็กที่ต้องการหางานพาร์ทไทม์ หลังเลิกเรียนและวันหยุด รองรับการจ้างงานแบบออนดีมาน คือ หางานทำเมื่อมีความต้องการ หรือเมื่อนายจ้างต้องการจ้างระยะสั้นหลักชั่วโมง-สัปดาห์ ตอบโจทย์เด็กยุคปัจจุบันที่ใช้สมาร์ทโฟน สามารถสร้างโปรไฟล์ กรอกประวัติ และสมัครงานที่ไหนก็ได้ จุดเด่นคือระบบจะแนะนำงานผ่านโลเคชันใกล้บ้าน ใกล้โรงเรียน เนื่องจากงานพาร์ทไทม์รายได้ไม่มาก จึงไม่ควรเสียเวลา ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง นอกจากนี้ ระบบจะเก็บประวัติการทำงานที่เคยทำบนแพลตฟอร์มแบบอัตโนมัติ ไม่สามารถแก้ไขได้ ทำให้นายจ้างเชื่อถือได้ว่าประวัติงานไม่ได้ปลอมขึ้นมา ปิดเทอมสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็กมีกิจกรรม มีรายได้ช่วงวันหยุด วันว่าง ซึ่งจากการเปิดดำเนินการมา 4-5 ปี มีผู้ใช้งาน 300,000 คน บริษัทเข้าร่วมกว่า 550 บริษัท สร้างงานกว่า 270,000 วันทำงาน เกิดรายได้กว่า 135 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น