xs
xsm
sm
md
lg

สธ.รุก "เชียงใหม่" ศูนย์ Sky Doctor เผย 2 รพ.ผ่านประเมินแล้ว ลดอุปสรรคส่งต่อข้ามเขาแล้ว 204 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ลุยพัฒนาระบบ "Sky Doctor" เขตสุขภาพที่ 1 มี "เชียงใหม่" เป็นศูนย์อำนวยการ เผย รพ.นครพิงค์ รพ.มหาราชเชียงใหม่ผ่านประเมินแล้ว พบตั้งแต่ปี 61 ช่วยลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศแล้ว 204 ราย ลดอุปสรรคส่งต่อข้ามเขา

เมื่อวันที่ 26 ก.พ. นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 1 กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 1 ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และแม่ฮ่องสอน สภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน เส้นทางโค้งลาดชัน การส่งต่อผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินต้องใช้เวลานาน โดยเชียงใหม่มีการรับส่งต่อผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินทางอากาศตั้งแต่ปี 2553 และขยายจำนวนมากขึ้น จนเป็นศูนย์อำนวยการปฏิบัติการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศในเขตสุขภาพที่ 1 มีชุดปฏิบัติการบินจาก รพ.นครพิงค์ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ รพ.ศรีสังวาลย์ รพ.แม่สะเรียง หน่วยบินจากกองบินตำรวจ กองกำลังผาเมือง ฉก.สิงหนาท และภาคีเครือข่าย ประชุมขับเคลื่อนงานทุก 2 เดือน ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางแก้ไข พัฒนาศักยภาพบุคลากร โดยจัดฝึกอบรมการลำเลียงผู้ป่วยทางเฮลิคอปเตอร์ขั้นพื้นฐาน และซ้อมแผนลำเลียงผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินทางอากาศในพื้นที่ใหม่ทุกปี


ทั้งนี้ ในเขตสุขภาพที่ 1 มีการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศ ตั้งแต่ปี 2561 – 2565 จำนวน 204 ราย โดยส่งต่อจาก รพ.ทุติยภูมิ โรคที่พบ ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด, การบาดเจ็บศีรษะอย่างรุนแรง, โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเกี่ยวกับทารก ส่วนส่งต่อจากระดับปฐมภูมิ ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ ,อุบัติเหตุ และโรคระบบประสาทส่วนกลาง สำหรับเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2564 – 2566 ลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ 66 ราย โดยปี 2566 ลำเลียงจำนวน 32 ราย ใน 8 อำเภอ มากที่สุดใน อ.อมก๋อย ฝาง และเวียงแหง เป็นชุดปฏิบัติการจาก รพ.นครพิงค์ 10 ครั้ง รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ 16 ครั้ง รพ.ศรีสังวาลย์ 5 ครั้ง และ รพ.สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 1 ครั้ง ปัจจุบัน รพ.นครพิงค์ และ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ผ่านการประเมินหน่วยปฏิบัติการแพทย์ระดับเฉพาะทาง (ปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินด้วยอากาศยาน)












กำลังโหลดความคิดเห็น