xs
xsm
sm
md
lg

พบแม่ 4 กลุ่ม หันใช้ "นมผง" เลี้ยงลูก จี้เข้ม กม.คุมการตลาด ขยายลาคลอด 6 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ. เผยผลศึกษาพบ “แม่” 4 กลุ่ม มีแนวโน้มเลี้ยงลูกด้วย "นมผง" หลังถูกส่งเสริมการตลาด โดยเฉพาะแม่เลี้ยงเดี่ยว แม่ที่มีฐานะปานกลาง ยิ่งเคยมีประสบการณ์ใช้มาก่อนยิ่งมีแนวโน้มใช้ซ้ำ แม่ที่ต้องทำงานมีโอกาสป้อนนมผงลูกมากกว่า แนะเข้มบังคับใช้ กม.คุมการตลาดนมผง ขยายวันลาคลอด 6 เดือน

เมื่อวันที่ 26 ก.พ. นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า “นมแม่ดีที่สุด” เพราะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก โดยองค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟ แนะนำให้เด็กทารกควรได้รับนมแม่ครั้งแรกภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด และควรได้กินนมแม่อย่างเดียวจนถึง 6 เดือน และกินนมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยที่เหมาะสมจนถึง 2 ปี หรือนานกว่านั้น แต่พบว่ามีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หนึ่งในนั้น คือ การส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก เช่น การโฆษณา การลดราคา การที่บริษัทหรือตัวแทนติดต่อกับแม่โดยตรง เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ทราบว่าการส่งเสริมการตลาดรูปแบบใดที่ส่งผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมการเลี้ยงลูกด้วยนมผง จึงมีผู้ทำการศึกษาเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก และปัจจัยทางสังคมของแม่ กับการเลี้ยงลูกด้วยนมผง โดยมีการสำรวจการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก จากแม่จำนวน 330 คนใน กทม.

ผลการสำรวจ พบว่า แม่ที่ได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับนมผงจากบุคคลอื่นๆ เช่น บุคคลในครอบครัว เพื่อน และบุคลากรทางการแพทย์ มีแนวโน้มที่จะมีทัศนคติที่ดีและชื่นชอบนมผงมากกว่าแม่ที่ไม่เคยได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับนมผงจากบุคคลอื่นๆ รวมถึงแม่ที่เป็นแม่เลี้ยงเดียว หรือแม่ที่มีฐานะครอบครัวปานกลาง มีแนวโน้มที่จะชื่นชอบนมผงมากกว่าเช่นกัน นอกจากนี้ แม่ที่เคยมีประสบการณ์หรือเคยได้รับการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กในสถานพยาบาล มีแนวโน้มที่จะใช้นมผงในการเลี้ยงลูกของตนเองมากกว่าแม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ หรือได้รับการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กในสถานพยาบาล ส่วนแม่ที่ต้องทำงานก็มีแนวโน้มที่จะป้อนนมผงให้ลูกมากกว่าแม่ที่ไม่ทำงาน


จากผลการศึกษาดังกล่าวจึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย คือ 1. สธ.ต้องเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 โดยติดตามการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ทั้งช่องทางออนไลน์ หรือทุกช่องทางอย่างสม่ำเสมอ ตัดสินบังคับใช้บทลงโทษกับผู้ละเมิด พ.ร.บ.อย่างจริงจัง 2.สถานพยาบาลทุกแห่งทุกระดับทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องเป็น รพ.สายสัมพันธ์แม่ลูก (Baby-Friendly Hospital Initiative, BFHI) โดยอาจกำหนดให้เป็นเกณฑ์ในการรับรองคุณภาพของสถานพยาบาล 3.ควรมีการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในกลุ่มแม่ที่ต้องกลับไปทำงาน เช่น ขยายวันลาคลอดเป็น 6 เดือน หรือพัฒนามุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ ให้เป็นสวัสดิการตามกฎหมาย และ 4.การให้ความรู้กับแม่และครอบครัว บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ให้เข้าใจถึงประโยชน์ และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่


กำลังโหลดความคิดเห็น