สธ.จัดกิจกรรม "Sod Smart" ให้คนโสดรุ่นใหม่เจอกัน พบ 87% คนโสดอยากมีคู่ 64% อยากมีลูก พร้อมชงไอเดียหาทางออกยุคเด็กเกิดน้อย ขอกิจกรรม แอปฯ Matching สาวโสดขอสเปิร์มเพื่อท้องได้ เปิดทางอุ้มบุญจากคนไม่ใช่ญาติ เสนอสิทธิต่างๆ รองรับกลุ่มสูงวัย จ่อชงกระทรวงเกี่ยวข้องพิจารณา
เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท ดร.เจนจิรา รัตนเพียร ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพคนโสดรุ่นใหม่ ว่า หลายประเทศทั้งสิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ และไทย กำลังประสบปัญหาเด็กเกิดน้อยและสังคมสูงวัย จากอัตราเจริญพันธุ์รวมที่ต่ำกว่าระดับทดแทนประชากร โดยไทยมีอัตราเจริญพันธุ์รวมเหลือเพียง 1.16 ในปี 2564 และมีแนวโน้มจะลดลงอีก หากไม่มีมาตรการออกมาชะลอ จะส่งผลให้โครงสร้างประชากรเปลี่ยน สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น วัยเด็กและวัยแรงงานลดลง ขาดแคลนแรงงาน เก็บภาษีเงินได้ที่ไม่เพียงพอรายจ่าย ที่ผ่านมา สธ.มีนโยบายส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ แต่ยังไม่สามารถเพิ่มจำนวนการเกิดได้ จึงจัดกิจกรรม Sod Smart พัฒนาศักยภาพคนโสดรุ่นใหม่ สร้างทัศนคติเชิงบวกต่อการใช้ชีวิตคู่และการมีบุตร
สำหรับกิจกรรมมีการรับฟังข้อเสนอเชิงนโยบายจากประชาชนของคน 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มคนโสด เสนอจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกันให้คนโสด จัดทำแอปพลิเคชันที่ matching ได้ปลอดภัย ไม่มีค่าใช้จ่าย ลดหย่อนภาษีผู้ที่ดูแลบุพการี มีสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย ส่งเสริมระบบการออมเพื่อการเกษียณ 2. กลุ่มที่ต้องการมีบุตร เสนอให้แก้กฎหมายอุ้มบุญให้คนที่ไม่ใช่ญาติตั้งครรภ์แทน ผู้หญิงโสดสามารถขออสุจิจาก sperm bank สำหรับตั้งครรภ์ได้ สนับสนุนค่าเลี้ยงดูบุตรตั้งแต่แรกเกิด - 15 ปี เพิ่มวันลาคลอดแบบได้เงินเดือน 6 เดือน เพื่อส่งเสริมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และผลักดันการรักษาภาวะมีบุตรยากเป็นสิทธิประโยชน์
และ 3.กลุ่มผู้สูงอายุ เสนอจัดศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแบบไปเช้าเย็นกลับ ให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมสันทนาการร่วมกัน แจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับให้ครอบคลุมทั่วประเทศ สร้างคอมมูนิตีที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุในราคาไม่แพงและการมีแอปพลิเคชันอำนวยความสะดวกการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ซื้อของ ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ หาคนทำความสะอาดบ้าน ช่างซ่อมแซมบ้าน ที่ปรึกษาด้านสุขภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ กลุ่มคนโสดเสนอว่าการให้สวัสดิการผู้สูงอายุควรคำนึงถึงกลุ่มที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุด้วย เสนอให้สิทธิลาเพื่อพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์ ลาเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย สิทธิลดหย่อนภาษีที่มากกว่าคนทั่วไป ยืดหยุ่นเวลาทำงาน ให้สิทธิ WFH และมีที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตเพื่อลดความเครียด โดยข้อเสนอเหล่านี้จะเสนอให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องพิจารณา เพื่อผลักดันให้เกิดการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ด้าน นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผลสำรวจความเห็นของคนโสดที่เข้าร่วมกิจกรรม Sod Smart ใน EP.1 พบว่า คนโสดร้อยละ 87 อยากมีคู่ มีเพียงร้อยละ 13 ที่อยากอยู่เป็นโสด เหตุผลที่ยังคงเป็นโสด คือ ยังไม่เจอคนที่ใช่ ไม่มีเวลา ไม่มีโอกาสที่จะได้พบกับเพื่อนใหม่ และมีภาระมาก การดูแลตัวเองลำบากแล้ว เมื่อสอบถามว่าอยากมีบุตรหรือไม่ ร้อยละ 64 ต้องการมีลูก ร้อยละ 13 ไม่อยากมีลูก ร้อยละ 23 ไม่แน่ใจ คนที่ตอบอยากมีลูก เพราะอยากให้ครอบครัวสมบูรณ์ รักเด็ก อยากมีคนดูแลตอนแก่ อยากมีโอกาสสร้างชีวิตที่มีคุณภาพให้กับสังคม สำหรับคนที่ไม่ต้องการมีลูกระบุว่า สภาพสังคมไม่น่าอยู่ กลัวเลี้ยงลูกได้ไม่ดี และการทำงานไม่เอื้อให้มีลูก
“กิจกรรม Sod Smart เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างครอบครัวคุณภาพ (smart family) ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ Matching ให้กับกลุ่มคนโสด ดังนั้น คนโสดจะมีโอกาสได้พบคู่หรือไม่คงจะต้องติดตามกันต่อไป เพราะเหตุผลของคนที่อยู่เป็นโสดมีหลายเหตุผล มีความแตกต่างกันออกไป แต่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่าร้อยละ 98.3 อยากให้กรมฯ จัดกิจกรรม Sod Smart อีก จึงค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า การมีกิจกรรมสร้างสรรค์ให้คนโสดได้มีโอกาสรู้จักกันเป็นโครงการที่ตรงใจคนโสด ส่วนได้คู่หรือไม่ ขอให้เป็นเรื่องของบุพเพสันนิวาส” นพ.เอกชัยกล่าว