กรมควบคุมโรคสั่งเข้มเฝ้าระวังด่านควบคุมโรคช่องทางบก หลังพบ ด.ญ.กัมพูชาอายุ 11 ปี เสียชีวิตจาก "โรคไข้หวัดนก" ล่าสุดพ่อเด็กป่วยอีกรายแต่ไม่มีอาการ เตรียมหารือ One Health 2 มี.ค.นี้ ยกระดับมาตรการเฝ้าระวังมากขึ้น แม้เกิดเหตุแถบติดกับเวียดนาม ย้ำอย่าลอบนำเข้าสัตว์ปีก ทำไทยเพิ่มความเสี่ยง
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพบเด็กชาวกัมพูชาเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนก ว่า กรณีดังกล่าวเป็นเด็กหญิงอยุ 11 ปี พบมีอาการป่วยเมื่อวันที่ 16 ก.พ. มีอาการไข้ เจ็บคอ อาการทางเดินหายใจ ต่อมาอีกอาการรุนแรงขึ้น และเสียชีวิตในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ล่าสุดวันนี้ได้รับรายงานว่า บิดาของผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการ แต่เนื่องจากข้อมูลเพิ่งเข้ามา จึงต้องติดตามอาการต่อเนื่อง ขณะนี้จึงพบผู้ป่วยไข้หวัดนก 2 รายในกัมพูชา ซึ่งได้แจ้งต่อองค์การอนามัยโลก และประเทศอื่นๆ แล้ว โดยเบื้องต้นทราบว่าเป็นเชื้อ H5N1 ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับที่เคยเจอในไทยและภูมิภาคนี้ แต่สายพันธุ์ย่อยเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ต้องรอการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
นพ.โสภณ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ปลายปี 2565 พบเด็กเสียชีวิตจากไข้หวัดนก 1 รายที่เวียดนามเช่นกัน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศถือว่ายังเจอโรคอยู่และมาติดต่อในคน จากการติดตามการระบาดของโรคพบว่า ส่วนใหญ่ติดมาจากสัตว์ปีกที่มีเชื้อไข้หวัดนกมาก่อน ส่วนกรณีบิดาเด็กที่ป่วยมาจากการติดจากสัตว์หรือเด็กหญิง ต้องขอดูข้อมูลการสอบสวนโรคจากทางกัมพูชา แต่เบื้องต้นไข้หวัดนกยังเป็นการติดต่อจากสัตว์คน จากการสัมผัสสัตว์ปีก แต่ต้องจับตาหากมีอาการป่วยจำนวนมากๆ จะมีการเป็นติดต่อจากคนสู่คนหรือไม่ ส่วนที่ผู้เสียชีวิตเป็นเด็ก เพราะมีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ปีก และอาจไม่ได้ระมัดระวังตัวเหมือนในผู้ใหญ่ สำหรับประเทศไทยไม่ได้เจอโรคไข้หวัดนกมาตั้งแต่ปี 2549 หรือ 16 ปีมาแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังรู้จักโรคนี้ ด้วยประสบการณ์ของเรา ระบบที่เราวางไว้ก็จะสามารถคัดกรองป้องกันได้ มีระบบการเลี้ยงสัตว์ปีกที่ปลอดภัย รพ.ต่างๆ ยังคงมีระบบเฝ้าระวังเช่นเดิม
"สิ่งที่เป็นความเสี่ยง คือ การลักลอบนำเข้าสัตว์ปีกตามชายแดน ขอประชาชนงดนำสัตว์ปีกเข้ามาในไทย ซึ่งมีกฎหมายควบคุมอยู่ ส่วนคนที่กลับมาจากประเทศที่มีการพบโรคมีการระบาด ขอให้สังเกตอาการตัวเอง หากมีไข้ หรืออาการทางเดินหายใจ เจ็บคอ มีน้ำมูกให้พบแพทย์ รวมทั้งการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือก็ยังช่วยป้องกันได้” นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณกล่าวว่า ไข้หวัดนกมีอัตราป่วยตายสูง สมัยก่อนป่วยตาย 2 ใน 3 ต่อมาเหลือ 50% ต่อมาเหลือ 1 ใน 3 โดยทั่วโลกรายงานข้อมูลเมื่อต้น ก.พ.มีผู้ป่วย 870 ราย ใน 21 ประเทศ เสียชีวิต 457 ราย อัตราป่วยตายมากกว่า 50% ส่วนไทยเคยเจอและรายงาน 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย คิดเป็น 2 ใน 3 แต่ปัจจุบันไทยยังไม่เจอ ประเทศที่พบส่วนใหญ่อยู่ในแถบเส้นศูนย์สูตร อย่างไทยก็เช่นกัน มีการเลี้ยงสัตว์ปีกเยอะ และช่วงอากาศเย็น หน้าหนาว หน้าฝนก็จะพบโรคได้
เมื่อถามว่าประเทศไทยจะมีการยกระดับการควบคุมโรคอย่างไร เพราะเจอในประเทศใกล้เคียง นพ.โสภณ กล่าวว่า กรณีกัมพูชา เหตุเกิดใน จ.เปรยแวง อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกัมพูชา ติดกับเวียดนาม ถือว่าอยู่ห่างจากไทยเยอะพอสมควร แต่เรามีการยกระดับการควบคุมโรค โดยอธิบดีกรมควบคุมโรคได้ย้ำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ช่องทางบก ให้ยกระดับการเฝ้าระวังร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมศุลกากร ด่านตรวจสัตว์ ด่านตรวจพืช ด่านควบคุมโรคติดต่อที่ดูแลคนเดินทาง ร่วมกันทำงานเพื่อเข้มงวดมากยิ่งขึ้น เฝ้าระวังทั้งสัตว์และคน จะมีระบบดูแลอยู่ อย่างเฝ้าระวังในคนด่านเรามีการวัดไข้ ดูอาการ ซักประวัติความเสี่ยง หากมีความเสี่ยงก็จะส่งตัวอย่างส่งตรวจ แยกคนเฝ้าระวังที่มีอาการ หากป่วยก็ให้การดูแลรักษาต่อไปเพทื่อป้องกันไม่หใมีการนำเชื้อเข้ามา โดยเราดูรอบด้ายของไทย แต่จุดไหนเสี่ยงมากก็ให้ความสำคัญเพิ่ม
“วันที่ 2 มี.ค.นี้ อธิบดีกรมควบคุมโรคจะเป็นประธานการประชุม One Health หรือสุขภาพหนึ่งเดียว จะพูดคุยเรื่องไข้หวัดนก ทั้งการเฝ้าระวัง มาตรการควบคุมโรค ซึ่งปกติมีการพูดคุยตลอด แต่เมื่อมีกรณีข่าวไข้หวัดนก ก็จะมีการพูดคุยยกระดับมากขึ้น” นพ.โสภณ กล่าว