xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมดูแลสุขภาพจิต ด้วยนวัตกรรมคัดกรองและป้องกันฝีมือคนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อาจารย์พณิดา โยมะบุตร ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

สุขภาพจิต เป็นปัญหาสำคัญและมีผลกระทบเป็นอย่างมาก ที่เกิดจากสภาพแวดล้อมรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดความเครียด ภาวะซึมเศร้า และมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อปัญหาอื่นๆ ตามมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ COVID-19 ประชาชนเข้าถึงการบริการทางสุขภาพจิตที่ยากขึ้นกว่าเดิม นัดหมายยากขึ้น ประกอบกับโรงพยาบาลลดการให้บริการลง ในขณะที่ประชาชนกลับมีความเครียดเพิ่มขึ้น เพราะเผชิญสถานการณ์ที่ไม่รู้วิธีการจัดการ กว่าผู้ที่มีความเครียดหรือมีปัญหาสุขภาพจิตจะได้เข้ารับการประเมินหรือพบจิตแพทย์ ต้องรอนัดหมายนานหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน ทำให้บางคนมีปัญหาความเครียดรุนแรงขึ้นหรือพัฒนาไปเป็นความเจ็บป่วยที่ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานานขึ้น

คณะผู้วิจัยจากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย อาจารย์พณิดา โยมะบุตร นักวิจัยหลัก ได้ร่วมพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับสุขภาพจิต พัฒนาแชทบอท “ใส่ใจ” เพื่อประเมินและให้การช่วยเหลือสุขภาพจิตเบื้องต้นให้กับกลุ่มประชาชนคนไทย และเลือก Facebook เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการพัฒนา เนื่องจากมีคนไทยใช้งานและเข้าถึงได้มากที่สุด ช่วยให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านจิตใจสามารถเข้าถึงการประเมินทางสุขภาพจิตเบื้องต้นได้เร็วขึ้น ซึ่งผลงานดังกล่าว ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566 ประเภทรางวัลประดิษฐ์คิดค้น รางวัลระดับดี ในสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

อาจารย์พณิดา โยมะบุตร นักวิจัยหลักของโครงการฯ กล่าวว่า แชทบอท “ใส่ใจ” หรือ “แชทบอทปัญญาประดิษฐ์เพื่อการดูแลสุขภาพจิตและการช่วยเหลือด้านอารมณ์และสุขภาพจิต ในภาวะการระบาดของไวรัสโควิด-19” ได้รับทุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการพัฒนาต่อยอดจากแชทบอท “จับใจ” ที่เป็นแชทบอทในการคัดกรองผู้มีภาวะซึมเศร้า โดยผู้ใช้งานจะต้องเข้าใช้งานผ่านที่ Facebook Fanpage “Psyjai” ที่ https://www.facebook.com/psyjaibot แล้วเลือกคุยผ่านเมนู “ส่งข้อความ” บน Fanpage เพื่อพูดคุยกับแชทบอท
การสนทนาจะประกอบด้วย 3 ส่วนคือ 1. การประเมินคัดกรอง อารมณ์ในแง่ลบที่พบบ่อยไม่ว่าจะเจอในสถานการณ์ใดทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ความเครียด ความเศร้า และความกังวล 2. การคุยโดยการใช้หลักจิตวิทยา ทีมพัฒนาเพิ่มการให้คำปรึกษาเบื้องต้น เหมือนการจำลองสถานการณ์จากนักจิตวิทยาได้คุยกับคนไข้หรือคนที่มีปัญหาชีวิต ประยุกต์เป็นการโต้ตอบโดยใช้ AI เป็นตัวช่วย และ 3.การคุยเล่น (chit-chat) ถามประโยคต่อประโยค ซึ่งผู้ใช้งานหลายคนพึงพอใจที่คุยในรูปแบบการคุยเล่น (chit-chat) มากกว่าอีกสองหมวด เพราะข้อความของแชทบอท จะถูกตั้งค่าไว้โดยนักจิตวิทยาคลินิก สามารถตอบสนองให้สอดคล้องกับอารมณ์และเนื้อหาที่ผู้ใช้งานคุยเข้ามาโดยใช้หลักการทางจิตวิทยาให้จบภายใน 1 ประโยค ซึ่ง AI ของแชทบอทใส่ใจจะมีทั้ง EQ ที่เข้าใจอารมณ์ของผู้ใช้งาน และ IQ ที่เข้าใจเนื้อหา อีกทั้งนำงานวิจัยและประสบการณ์การให้คำปรึกษาที่ผ่านมาผสมผสานกับทฤษฎีว่าคนจะมีความทุกข์เรื่องอะไรบ้าง แล้วพัฒนาให้ AI นำมาวิเคราะห์ประโยคที่ผู้ใช้งานพิมพ์เข้ามา เช่น การงาน การเรียน ครอบครัว หรือสุขภาพ จึงทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกเหมือนคุยกับเพื่อนที่มีความเข้าอกเข้าใจและตอบสนองได้อย่างเหมาะสม โดยผู้ใช้งานมีทางเลือกในการโต้ตอบทั้งการเลือกคำตอบ หรือ แชทบอท “ใส่ใจ” มีวัตถุประสงค์หลักคือเจาะกลุ่มที่เป็นการดูแลสุขภาพจิตเชิงป้องกัน ซึ่งเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตระดับเบื้องต้นถึงปานกลาง สามารถรองรับผู้ใช้งานทั้งกลุ่มวัยรุ่นตอนปลายไปจนถึงกลุ่มคนวัยผู้ใหญ่ ด้วยความที่ภาษาที่ใช้เป็นภาษาที่เข้าใจง่ายและเป็นกันเอง แชทบอทจะให้ความรู้สึกเหมือนเป็นคนขี้เล่นและไม่ได้เป็นทางการมากนัก เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รู้สึกใกล้เคียงว่าคุยกับคนปกติด้วย

อาจารย์พณิดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ใช้งานเข้ามารับการปรึกษามากเป็นอันดับหนึ่งกับแชทบอท “ใส่ใจ” คือเรื่องครอบครัว เพราะการอยู่บ้านทำให้มีโอกาสกระทบกระทั่งกันสูง แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย จะพบว่าผู้ใช้งาน ปรึกษาเรื่องความวิตกกังวล มากขึ้น เพราะจากความคุ้นเคยกับชีวิตออนไลน์ เมื่อต้องออกไปสู่ชีวิตจริงก็เกิดความกังวล จากการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการสนับสนุนการคัดกรองผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต

จากความสำเร็จของโครงการนี้ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ร่วมกันจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสุขภาพจิตประเทศไทย มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีเกี่ยวกับสุขภาพจิต และร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำหลายแห่งในประเทศไทย เพื่อวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านสุขภาพจิต พร้อมทั้งสนับสนุนให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถนำไปใช้ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงการบริการสุขภาพจิตง่ายมากขึ้น และยังเป็นผลดีต่อการป้องกันและดูแลประเด็นสุขภาพจิตของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ทุกคนสามารถดูแลสุขภาพของจิตใจเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ โดยเริ่มจากการดูแลสุขภาพร่างกายซึ่งก็จะส่งผลต่อความแจ่มใสของจิตใจด้วยเช่นกัน โดยอาจเริ่มจากวิธีการพื้นฐาน เช่น ทานอาหารดีมีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเยอะๆ ออกกำลังกาย นับเป็นการมอบความรักและความใส่ใจให้กับตนเองอย่างเป็นรูปธรรม และยังมีประโยชน์คือเป็นการเบี่ยงเบนเรื่องที่ไม่สบายใจในแต่ละวันได้ หรืออาจจะหากิจกรรมที่ชอบทำเพื่อเป็นการพักใจ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง หรือทำงานอดิเรก หรือพูดคุยบอกเล่าเรื่องราวที่ไม่สบายใจให้คนที่ไว้ใจฟัง เมื่ออารมณ์ในแง่ลบมีระดับลดลงแล้วจึงค่อยมานั่งคิด ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร มีทางออกอย่างไร แล้ววางแผนลงมือทำ นอกจากนี้ ก็ไม่ควรให้ความสำคัญกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งในชีวิตมากคนเกินไป แต่ควรมีความสนใจที่หลากหลาย ก็จะช่วยให้สุขภาพใจแข็งเรงขึ้นได้ 








กำลังโหลดความคิดเห็น