กรมอนามัยจับมือ สสส. ดัน "ห้องปลอดฝุ่น" เริ่มแล้วในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 30 แห่ง เล็งขยายพื้นที่ฝุ่นหนา พร้อมทำแพลตฟอร์มค้นหาห้องปลอดฝุ่นในพื้นที่ ย้ำสร้างห้องปลอดฝุ่นได้ทั้งที่บ้านและที่สาธารณะ เล็งหารือพรรคการเมืองดันเป็นนโยบายช่วงเลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่โรงแรมดิเอ็นเพรส อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วยนายชาติวุฒิ วังวล ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง นวัตกรรมห้องปลอดฝุ่นและขับเคลื่อนชุมชนเพื่อลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างยั่งยืน โดยภายในงานมีการแสดงนวัตกรรมการกำจัดฝุ่นขนาดเล็กเพื่อเป็นทางเลือกในการแก้ไขปัยหาฝุ่น
นพ.อรรถพลกล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่นละอองมีค่าเกินมาตรฐานจนอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ จากฐานข้อมูลสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า ตั้งแต่ ม.ค. 2566 การเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจในประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือของไทย ซึ่งจริงๆ สามารถหลีกเลี่ยงได้ สำคัญคือทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ทั้งนี้ สธ.ได้ยกระดับปฏิบัติการคือ ผลักดันให้มีการจัดทำ “ห้องปลอดฝุ่น” ในพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้ประชาชนอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศสะอาด ปลอดภัยต่อสุขภาพในช่วงที่มี PM2.5 สูง หลักการคือ “กันฝุ่นเข้า กรองฝุ่นภายในห้อง และดันฝุ่นออก” สามารถทำได้ทั้งที่บ้านและสถานที่สาธารณะ โดยเฉพาะศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เนื่องจากเด็กมีอัตราการหายใจถี่กว่าผู้ใหญ่ ปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่ จะส่งผลกระทบต่อสมรรถนะของปอดและคุณภาพชีวิตในระยะยาว
"ปัจจุบันพบว่า เด็กอายุ 0 - 6 ปี กว่า 2.6 ล้านคน อยู่ในพื้นที่เสี่ยงจาก PM 2.5 กรมอนามัย จึงร่วมกับ สสส.จัดทำโครงการขับเคลื่อนห้องปลอดฝุ่นฯ พัฒนาแนวทางและต้นแบบห้องปลอดฝุ่นในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกว่า 30 แห่ง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และขยายผลสู่สถานที่ต่างๆ ในพื้นที่เสี่ยงมลพิษทางอากาศ ได้แก่ กทม. กาฬสินธุ์ ขอนแก่น และภาคใต้บางพื้นที่ ที่อาจได้รับผลกระทบจากฝุ่นประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ จัดทำแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลห้องปลอดฝุ่นให้ประชาชนค้นหาห้องปลอดฝุ่นในพื้นที่ใกล้เคียง และสืบค้นองค์ความรู้ต่างๆ ได้ ร่วมกับกับภาคีเครือข่าย ทั้งรัฐ สถาบันการศึกษา ชุมชน สมาคม และเอกชน แลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมจัดทำห้องปลอดฝุ่น ขับเคลื่อนชุมชนอย่างมีส่วนร่วม เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพและร่วมจัดการปัญหาอย่างยั่งยืน” นพ.อรรถพล กล่าว
นายชาติวุฒิ กล่าวว่า มลพิษทางอากาศมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก สำหรับประเทศไทย พบว่า อยู่ในระดับสีแดง ดังนั้น เพื่อลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจาก PM 2.5 สสส. จึงสานพลังกับ กรมอนามัย เปิดตัว “ห้องปลอดฝุ่น” เพื่อลดโอกาสการสัมผัสมลพิษทางอากาศภายในอาคารในภาวะที่เกิดฝุ่นละอองสูงในบรรยากาศ ช่วยลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยจะเริ่มสร้างต้นแบบที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่เสี่ยง และขยายความร่วมมือในสถานที่ที่มีกลุ่มเสี่ยงจากมลพิษทางอากาศต่อไป รวมถึงในอนาคตที่จะมีการเลือกตั้งนี้ยังพร้อมนำข้อมูลให้กับพรรคการเมืองที่สนใจเพื่อกำหนดและขับเคลื่อนเป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในระดับภาพรวมของประเทศอีกด้วย
ดร.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีการดำเนินงานอย่างเข้มแข็งในการรับมือกับมลพิษทางอากาศเพื่อลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าวตามเป้าหมายวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ซึ่งในปีนี้ WHO ร่วมกับกรมอนามัยรวบรวมและเผยแพร่ Best Practice ทั้งนวัตกรรมห้องปลอดฝุ่น และแนวทางการขับเคลื่อนชุมชนที่มีการจัดการและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพที่ดี เพื่อเป็นแนวทางให้แก่พื้นที่และประเทศอื่นๆ ต่อไป