xs
xsm
sm
md
lg

เร่งอบรมหมอ-บุคลากร จัดบริการ "สูงอายุ" ประเมินความเสื่อมก่อนเกิดโรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการแพทย์เร่งอบรม "จัดบริการผู้สูงอายุ" ให้แพทย์และบุคลากรทั่วประเทศผ่านออนไลน์ รองรับสังคมสูงวัย เปิดคลินิกสูงอายุ ประเมินความเสื่อมถอยก่อนเป็นโรค

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่โรงแรมเอเชีย นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเปิดการอบรมการจัดบริการผู้สูงอายุ ว่า กรมการแพทย์ โดยสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ ได้จัดอบรมการจัดบริการสุขภาพผู้สูงอายุในสถานบริการสุขภาพ หลักสูตร Case Based Learning in Geriatric Ambulatory Care แก่แพทย์และบุลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ ซึ่งได้จัดอบรมมาเป็นระยะ รวมถึงการจัดอบรมผ่านระบบออนไลน์ ให้มีทักษะการประเมิน วินิจฉัย ตรวจ รักษา ผู้สูงอายุที่มารับบริการในคลินิกผู้สูงอายุ ซึ่งได้มีการจัดตั้งใน รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั่วประเทศ ตามนโยบายของ รมว.สธ.ที่ประกาศให้ปี 2566 เป็นปีแห่งสุขภาพสูงวัยไทย มีนโยบายมุ่งเน้นด้านสุขภาพผู้สูงอายุ ให้ได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบและทั่วถึง ซึ่งคลินิกผู้สูงอายุนี้อยากเชิญชวนรณรงค์ให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปวอล์กอิน เข้ามาใช้บริการใน รพ.ตามสิทธิ ไม่จำเป็นต้องรอให้เป็นโรคแล้วค่อยมา

นอกจากการตรวจรักษาโรคแล้ว ยังเป็นการประเมินความเสื่อมถอยของสมรรถนะร่างกาย ทั้งภาวะกล้ามเนื้อ ความจำ เพื่อจะได้จัดกิจกรรมดูแลเสริมศักยภาพ เป็นสิ่งสำคัญที่ สธ.ได้จัดตั้งคลินิกผู้สูงอายุ ไม่ใช่มุ่งเน้นเป็นคลินิกหาโรค แต่เป็นคลินิกที่ดูแลชะลอความเสื่อมถอยของร่างกาย และเสริมสมรรถนะด้านต่างๆ ให้ผู้สูงอายุได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยืนยาวมากขึ้น

นพ.ธงชัย กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กเกิดน้อยลง ขณะที่ผู้สูงอายุมีสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ตาม รพ.ในแผนกผู้ป่วยนอกพบผู้ป่วยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70 เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จึงเป็นบทบาทภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องให้ความสำคัญในการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น อย่างไรก็ตาม กรมการแพทย์ได้ให้คลินิกผู้สูงอายุของ รพ.ในสังกัด เก็บรวบรวมข้อมูลการดูแลรักษาผู้สูงอายุ เพื่อติดตามประเมินผลพร้อมกับการศึกษาวิจัยถึงสมรรถนะของผู้สูงอายุว่าช่วงอายุใดภาวะกล้ามเนื้อ ความจำเป็นอย่างไร สามารถใช้งานได้มากน้อยเพียงใด เช่น ช่วง 60 ปี 65 ปี 70 ปี ยังสามารถทำอะไรได้บ้าง การดูแลเสริมสมรรถนะแต่ละช่วงวัยควรเป็นอย่างไร รวมทั้งศึกษาถึงแนวทางว่าช่วงอายุใดควรจะได้รับการตรวจอะไรบ้าง กี่ครั้งต่อปี เป็นต้น




กำลังโหลดความคิดเห็น