xs
xsm
sm
md
lg

อย.เก็บ "ยาย้อมผม" ตรวจวิเคราะห์ หลังทำผู้ใช้แสบไหม้พอง จี้ขายเครื่องสำอางออนไลน์ เช็กของแทนลูกค้าก่อนขาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อย. ตรวจยาย้อมผม หลังพบผู้ใช้ผมขาด-แสบไหม้พอง พบถูกยกเลิกใบจดแจ้ง เก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์แล้ว ย้ำตรวจสอบผลิตภัณฑ์ก่อนซื้อ จี้คนขายออนไลน์เช็กการจดแจ้งต้องถูกต้อง มีฉลากภาษาไทยครบถ้วน แทนลูกค้า

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีมีผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมผมที่ซื้อผ่านช่องทางออนไลน์แล้วผมร่วงขาดเป็นจำนวนมาก แสบร้อนไหม้พอง เป็นแผลบนหนังศีรษะ ว่า จากการตรวจสอบ เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่าผลิตภัณฑ์ที่ผู้เสียหายใช้ คือ KOTA COSMETICS COLOR CREAM SEPlA (ASH GREY) ใบรับจดแจ้งเลขที่ 10-2-6500043714 นำเข้าโดย บริษัท โคทาคอสเมติก จำกัด สถานะ ใบรับจดแจ้งถูกยกเลิกโดยผู้ประกอบการเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2566 ทั้งนี้ อย. ได้เข้าตรวจสอบสถานที่นำเข้า และเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์แล้ว

สำหรับผู้ที่ซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปใช้หรือขาย ให้สังเกตวันเดือนปีที่ผลิต ต้องเป็นรุ่นที่มีการผลิตและนำเข้าก่อนวันที่ 9 ก.พ. 2566 (วันที่ยกเลิกใบรับจดแจ้ง) หากพบเป็นรุ่นการผลิตหลังจากวันที่ 9 ก.พ. 2566 อย่าใช้ และให้รีบติดต่อร้านค้าแหล่งขายเพื่อขอคืนสินค้าต่อไป

ภก.วีระชัยกล่าวว่า ผู้บริโภคควรตรวจสอบข้อมูลการได้รับอนุญาตที่เว็บไซต์ อย. ข้อมูลต้องตรงกับที่ปรากฏบนฉลาก และมีสถานะใบรับจดแจ้งคงอยู่ และก่อนซื้อให้พิจารณาว่าผลิตภัณฑ์มีฉลากภาษาไทย ระบุชื่อ ประเภทเครื่องสำอาง แสดงชื่อสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสม มีชื่อ-ที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิต เดือนปีที่หมดอายุ (สำหรับเครื่องสำอางที่มีอายุการใช้น้อยกว่า 30 เดือน) คำเตือนและเลขที่ใบรับจดแจ้ง ควรซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือและมีชื่อ - ที่ตั้งแน่นอน หากใช้แล้วเกิดปัญหาสามารถติดตามย้อนกลับได้

"ส่วนการใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมผมจะต้องปฏิบัติตามวิธีใช้และคำเตือนที่ระบุบนฉลากอย่างเคร่งครัด และเพื่อความปลอดภัย แนะนำให้ทดสอบการแพ้ก่อนใช้ โดยการทาเครื่องสำอางในปริมาณเล็กน้อยที่บริเวณท้องแขน หรือหลังใบหู แล้วทิ้งไว้ 24 - 48 ชั่วโมง หากเกิดความผิดปกติ เช่น ผื่นคัน ระคายเคือง ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์นั้น" ภก.วีระชัยกล่าว

ภก.วีระชัยกล่าวว่า ขอย้ำเตือน ผู้นำเข้าเครื่องสำอางต้องมีความรับผิดชอบต่อสินค้าที่นำเข้ามาขาย คัดเลือกผลิตภัณฑ์จากโรงงานผลิตที่น่าเชื่อถือ ผู้ขายต้องตรวจสอบการจดแจ้ง และจัดทำฉลากภาษาไทยที่ครบถ้วน ถูกต้องก่อนจำหน่าย หากมีการแสดงฉลากด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ผู้นำเข้า/ผู้ผลิต/ ผู้รับจ้างผลิต จะมีโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ขายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีไม่มีฉลากภาษาไทยหรือมีข้อความอันจำเป็นไม่ครบถ้วน ผู้นำเข้า/ผู้ผลิต/ผู้รับจ้างผลิตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ขายมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นผู้ขายเครื่องสำอางทางออนไลน์ จึงมีหน้าที่ตรวจสอบด้วยว่าเครื่องสำอางที่ขายได้รับการจดแจ้งอย่างถูกต้อง มีฉลากภาษาไทยครบถ้วน ถูกต้อง เพราะผู้บริโภคที่ซื้อทางออนไลน์ไม่มีโอกาสได้เห็นสินค้าและฉลากของผลิตภัณฑ์จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น