xs
xsm
sm
md
lg

การพลัดตกหกล้ม ปัญหาที่ไม่ควรมองข้ามในผู้สูงอายุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิติมา บุญเกิด
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงตามวัยมักมีปัญหาตามมา โดยเฉพาะความเสื่อมของกระดูก ทำให้กระดูกบาง กระดูกพรุน และข้อเสื่อม ในบางรายมีภาวะความเสื่อมของสายตา ประสาทหู และภาวะสมองเสื่อมร่วมด้วย มีภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง หรือเป็นโรคพาร์กินสัน ปัญหากระดูก ข้อ และโรคระบบประสาทที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผู้สูงอายุเริ่มมีปัญหาการเดิน การทรงตัว ร่างกายที่เสื่อมถอยส่งผลให้ผู้สูงอายุหกล้มได้ง่าย นอกจากนี้ ปัญหาจากการรับประทานยา โดยเฉพาะยานอนหลับ เมื่อปฏิกิริยาระหว่างยาและร่างกายส่งผลให้เกิดอาการง่วงซึม การตอบสนองไม่ดี ทำให้การก้าวเดินพลาดและล้มง่าย หรือการกินยารักษาโรคความดันโลหิตสูงหลายตัวมีส่วนเช่นกัน ผู้ที่มีปัญหาความดันต่ำ ขณะลุกขึ้นหรือเปลี่ยนท่าอาจทำให้เวียนศีรษะ มีอาการหน้ามืด เมื่อร่วมกับการเดินที่ไม่ค่อยปกติด้วยแล้วจะกระตุ้นให้ล้มง่ายขึ้น จากปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น พบว่า ร้อยละ 70 หรือ 2 ใน 3 เป็นปัจจัยเสี่ยงจากสภาพความเสื่อมของร่างกายผู้สูงอายุเอง และ 1 ใน 3 เกิดจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย เช่น บ้านที่มีเด็กเล็ก หรือวางของระเกะระกะ บางรายมักล้มในห้องนอน หรือการเดินขึ้น-ลงบันไดที่มีลักษณะแคบชัน รองเท้าไม่พอดีแคบหรือใหญ่เกินไปทำให้เดินลำบาก นอกจากนี้ผู้สูงอายุบางรายมีพฤติกรรมคุ้นชิน เช่น บางรายชอบนอนพื้น เมื่อลุกขึ้นมีโอกาสล้ม บางคนชอบทำสวน อาจเดินสะดุดรากไม้ แอ่งน้ำ หรือบริเวณที่พื้นผิวขรุขระ บางรายชอบทำความสะอาดบ้าน ชอบถือถังน้ำหนักๆ อาจทำให้เดินเสียหลัก หรือยืนบนเก้าอี้ปีนหยิบของ แล้วพลัดตกลงมา พฤติกรรมเหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุควรตระหนักด้วยตนเอง

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยู่แต่ในบ้าน ซึ่งต้องระมัดระวังตัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้สูงอายุมักหกล้มในบ้านมากกว่านอกบ้าน สาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุหกล้มมักเป็นภายในบ้าน เช่น ห้องน้ำ ผู้สูงอายุมักลุกขึ้นมาปัสสาวะกลางคืน และด้วยแสงสว่างที่มีน้อย พื้นห้องน้ำที่ลื่น เป็นสาเหตุให้เกิดความเสี่ยงในการหกล้ม จากข้อมูลทางสถิติพบว่าในช่วงระยะเวลา 1 ปี จะมีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60

ขึ้นไป มีประวัติการหกล้มเกิดขึ้น ค่าเฉลี่ยประมาณ 30% และอายุ 80 ปีขึ้นไป พบได้ถึง 50% นับได้ว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขไทย ดังนั้น ควรกระตุ้นเตือนให้ทุกฝ่ายเล็งเห็นถึงความสำคัญต่อความเสื่อมถอยของร่างกาย ควรแก้ปัญหาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่ผู้สูงอายุจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

แนวทางในการรักษา แพทย์จะประเมินสมรรถภาพในการทรงตัวของแต่ละคน โดยประเมินจากการหกล้มหรือความเสี่ยงว่าเกิดจากอะไร ถ้าไม่เคยมีประวัติหกล้มแต่รู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยง จะประเมินการทรงตัวว่ามีปัญหาการทรงตัวที่จุดไหน โดยการแนะนำเพื่อเพิ่มสมรรถภาพกล้ามเนื้อและการทรงตัวในส่วนนั้น สำหรับผู้ที่ไม่เคยมีประวัติการหกล้ม สุขภาพโดยรวมใช้ได้ ช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง มีแนวทางการป้องกัน ดังนี้ 1. ตระหนักถึงผลเสียของการพลัดตกหกล้ม ผู้สูงอายุและลูกหลานควรเล็งเห็นถึงผลเสียที่ตามมา เมื่อหกล้มมีโอกาสกระดูกหัก หรือบาดเจ็บทางสมอง ผู้สูงอายุบางรายเป็นโรคหัวใจทำให้เกิดอาการวูบและหมดสติหกล้มได้เช่นกัน ดังนั้น การหกล้มไม่ได้เป็นเรื่องของผู้สูงอายุ ให้มองว่าเป็นภาวะความผิดปกติ และเมื่อไหร่ที่มีการหกล้มเกิดขึ้น ควรพามาพบแพทย์เพื่อประเมินถึงปัญหาที่แท้จริง เช่น ความผิดปกติของสายตา ความผิดปกติของกระดูกพรุน กล้ามเนื้อน้อย ปัญหาของโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคทางระบบประสาท ลูกหลานมีส่วนสำคัญเปรียบเสมือนกระบอกเสียงแทนพ่อ-แม่ หรือผู้สูงอายุหกล้มแล้วไม่กล้าบอกใคร ด้วยเหตุผลที่ไม่อยากทำให้ลูกหลานลำบากต้องพาไปหาหมอ 2. การออกกำลังกาย แต่ละช่วงวัยมีการออกกำลังกายที่แตกต่างกัน การฝึกกล้ามเนื้อให้แข็งแรง เช่น การฝึกโยคะ ฝึกการทรงตัว และการบริหารกายยืดเหยียดกล้ามเนื้อ มีประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ 3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผู้สูงอายุมักมีปัญหาเรื่องกระดูกบาง กระดูกพรุน ขาดวิตามินดี เพราะผู้สูงอายุไม่ค่อยเจอแสงแดด อยู่แต่ในบ้าน มีโอกาสกระดูกบางได้ง่าย ทำให้ขาดวิตามินดี ควรส่งเสริมให้รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม เช่น นม ปลาทู ปลานิล กุ้งแห้ง สำหรับธัญพืชจำพวกงาดำ หากรับประทาน 1 ช้อนโต๊ะ จะให้คุณค่าทางอาหารเท่ากับปริมาณนมเกือบสองแก้ว และผักต่าง ๆ ที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุแคลเซียม ได้แก่ ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง เป็นต้น

การเสริมสร้างให้กระดูกแข็งแรง กล้ามเนื้อแข็งแรง ควรดูแลตัวเองตั้งแต่เนิ่น ๆ ตั้งแต่วัยที่ยังไม่มีความเสี่ยง จะช่วยยืดเวลาให้ร่างกายเสื่อมถอยช้าลง การป้องกันการหกล้มเป็นสิ่งใกล้ตัวที่ทำได้ หากลูกหลานหรือตัวผู้สูงอายุเองใส่ใจดูแล เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี แข็งแรง และปลอดภัย


กำลังโหลดความคิดเห็น