สธ.เปิดคำสั่งตามคำท้ากลุ่ม "เพื่อนหมอสุภัทร" พบมอบอำนาจผู้ตรวจฯ โยกย้าย ผอ.รพ.ชุมชนได้ตั้งแต่ปี 2558 สั่งย้ายปฏิบัติงานในจังหวัดเดียวกันและข้มมจังหวัดในเขตได้ รวมถึงนายแพทย์เชี่ยวชาญใน สสจ. รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป ถึงระดับหัวหน้าพยาบาล ไม่ได้เพิ่งรีบมอบอำนาจเมื่อปี 65 ตามที่กล่าวหา
จากกรณีภาคีเครือข่ายเพื่อนหมอสุภัทรฯ ออกมาคัดค้านการโยกย้าย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.รพ.จะนะ จ.สงขลา เป็น ผอ.รพ.สะบ้าย้อยในจังหวัดเดียวกัน โดยตั้งข้อสังเกตว่าเพิ่งเคยมีที่ให้ผู้ตรวจราชการ สธ.เป็นคนโยกย้าย ผอ.รพ.ชุมชน เนื่องจากปลัด สธ.มีการย้ายผู้ตรวจราชการ สธ. และมอบอำนาจให้ผู้ตรวจฯ โยกย้ายแทนตัวเอง เมื่อช่วงปลายปี 2565 หากมีการมอบอำนาจมานานแล้วจริง ก็ท้าให้เปิดข้อมูลออกมา
เมื่อวันที่ 11 ก.พ. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัด สธ.ด้านบริหาร กล่าวถึงการมอบอำนาจให้ผู้ตรวจราชการ สธ.ปฏิบัติราชการในพื้นที่แทนปลัด สธ. ว่า เรื่องนี้มีการดำเนินการมานานตั้งแต่ปี 2558 เนื่องจาก สธ.ได้ปรับการบริหารจัดการใหม่ในรูปแบบเขตสุขภาพ จึงมีการออกคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 1422/2558 มอบอำนาจให้ผู้ตรวจราชการฯ ปฏิบัติราชการแทนปลัด สธ. เช่น การสั่งอนุญาต อนุมัติการปฏิบัติราชการ, การตรวจราชการและติตตามประเมินผลในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ, การอนุมัติสั่งซื้อสั่งจ้างกรณีเกินกว่า 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท, การบริหารพัสดุและครุภัณฑ์โดยการให้ยืมภายในเขตพื้นที่ รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากรในเขตพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบ ประกอบด้วย
1.ผอ.รพ.ชุมชนระดับชำนาญการพิเศษหรือระดับเชี่ยวชาญ 2.นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) 3.นายแพทย์เชี่ยวชาญใน รพ.ชุมชน รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป 4.นักวิชาการสาธารณสุขระดับเชี่ยวชาญ (ด้านส่งเสริมพัฒนาหรือด้านบริหารทางวิชาการ) ใน สสจ. 5.รอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์ใน รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป และ 6.หัวหน้าพยาบาล ระดับชำนาญการพิเศษใน รพ.ทั่วไป หรือระดับเชี่ยวชาญใน รพ.ศูนย์และ รพ.ทั่วไป
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ต่อมาในปี 2564 ได้มีการออกคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 753/2564 เรื่อง มอบอำนาจให้ผู้ตรวจราชการฯ เขตสุขภาพที่ 1 เขตสุขภาพที่ 4 เขตสุขภาพที่ 9 และเขตสุขภาพที่ 12 ปฏิบัติราชการแทนปลัด สธ.ในเขตสุขภาพ เนื่องจากมีการปฏิรูปการบริหารราชการในเขตสุขภาพ เพื่อให้เป็นไปตามแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข อันจะก่อให้เกิดความคล่องตัวและตอบสนองการให้บริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึงในเขตสุขภาพ โดยการมอบอำนาจที่มีการแก้ไข เช่น การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปครั้งหนึ่งเกิน 300 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท การสั่งซื้อสั่งจ้างโดยวิธีการคัดเลือก หรือวิธีเฉพาะเจาะจง ครั้งหนึ่งเกิน 200 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท
ส่วนการบริหารงานบุคคลมีการปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น คือ เพิ่มอำนาจการบริหารกรอบอัตรากำลัง การคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งดำรงตำแหน่ง ดังนี้ 1.ผอ.รพ. (นายแพทย์) ระดับเชี่ยวชาญใน รพ.ชุมชน 2.นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) ใน สสจ. 3.นักวิชาการสาธารณสุขระดับเชี่ยวชาญ (ด้านส่งเสริมพัฒนา และด้านบริการทางวิชาการ) ใน สสจ. 4.รอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์ใน รพ.ศูนย์และ รพ.ทั่วไป และ 5.หัวหน้าพยาบาล (พยาบาลวิชาชีพ) / พยาบาลวิชาชีพ (ด้านการพยาบาลผู้ป่วยหนัก ด้านการพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัด ด้านการพยาบาลอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ด้านการพยาบาลผู้คลอด และด้านการพยาบาลวิสัญญี) ระดับเชี่ยวชาญ ใน รพ.ศูนย์และ รพ.ทั่วไป
“จากคำสั่งต่างๆ ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2558 จะเห็นว่ามีการมอบอำนาจให้ผู้ตรวจราชการฯ ในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการแทนปลัด สธ.มานานแล้ว ทั้งตำแหน่ง ผอ.รพ.ชุมชน และตำแหน่งทางวิชาการในระดับเชี่ยวชาญ และชำนาญการพิเศษ ไม่ได้เพิ่งมีการมอบอำนาจการการแต่งตั้งโยกย้าย ผอ.รพ.ชุมชน ในปี 2566 กันอย่างที่เข้าใจ โดยในปีงบประมาณ 2564 - 2565 มีการแต่งตั้งโยกย้ายโดยผู้ตรวจราชการฯ รวม 21 ราย” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำสั่งมอบอำนาจเมื่อปี 2558 เป็นการลงนามมอบอำนาจโดย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.ในช่วงเวลาดังกล่าว และการมอบอำนาจเพิ่มเติมในปี 2564 เป็นการลงนามโดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.ในช่วงนั้น ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ.คนปัจจุบันที่มีการตั้งข้อสงสัยว่าเร่งมอบอำนาจให้ผู้ตรวจฯ โยกย้าย ผอ.รพชุมชนแทนตัวเอง นอกจากนี้ ในคำสั่งมอบอำนาจดังกล่าวพบว่า ยังมอบให้ผู้ตรวจฯ สามารถโยกย้ายข้าราชการระดับเชี่ยวชาญ ชำนาญการพิเศษในการไปปฏิบัติราชการภายในจังหวัดเอง หรือข้ามจังหวัดในเขตสุขภาพเดียวกัน