กรมควบคุมโรคเร่งฉีดวัคซีน HPV 8 แสนโดส นร.หญิง ป.5 ปีการศึกษา 2565 สั่งเพิ่มอีก 8 แสนโดสสำหรับปี 2566 รับยังไม่พอฉีดให้กลุ่มตกค้างปี 2562-2564 อีก 1.2 ล้านคน ร่วมมือ สปสช.จัดซื้อเพิ่ม บริษัทผู้ผลิตยันจัดหาเพียงพอภายในปี 2567
เมื่อวันที่ 10 ก.พ. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ว่า ที่ประชุมยังคงแนะนำการให้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) ในนักเรียนชั้น ป.5 จำนวน 2 เข็ม ตามคำแนะนำทางวิชาการเดิม แม้ช่วงปี 2562-2564 เกิดการขาดคราววัคซีน HPV ทั่วโลก จากปัญหาโรงงานผลิตวัคซีนไม่สามารถผลิตวัคซีน HPV ได้เพียงพอ เนื่องจากวิกฤตการระบาดโควิด 19 ทั่วโลก ส่งผลให้เด็กนักเรียนชั้น ป.5 ปีการศึกษา 2562-2564 จำนวนประมาณ 1.2 ล้านคน ไม่ได้รับวัคซีน HPV ตามแผนงาน และมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกในอนาคต แต่ในปี 2565 บริษัทผู้ผลิตวัคซีนได้จัดส่งวัคซีน HPV จำนวน 8 แสนโดส ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการฉีดนักเรียนชั้น ป.5 ปีการศึกษา 2565 และได้สั่งซื้อวัคซีน HPV อีก 8 แสนโดส สำหรับเด็กนักเรียนชั้น ป.5 ปีการศึกษา 2566 แล้ว
"ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนเพียงพอสำหรับเก็บตกนักเรียนชั้น ป.5 ปีการศึกษา 2562-2564 ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมควบคุมโรค สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ สปสช. จึงร่วมมือกันผลักดันจัดหาวัคซีน HPV สำหรับเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนในปี 2562-2564 ซึ่ง สปสช. อยู่ระหว่างวางแผนงบประมาณเพื่อจัดหาวัคซีนจากบริษัทผู้ผลิต ทั้งนี้ ยืนยันว่า เด็กที่ตกค้างตั้งแต่ปี 2562-2564 จะได้รับวัคซีนครบทุกรายตามความสมัครใจ จากคําแนะนําของคณะอนุกรรมการฯ และข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก พบว่า ประสิทธิผลของการป้องกันมะเร็งปากมดลูกยังสูง แม้จะเว้นระยะห่างการฉีดเข็มที่ 2 ออกไปนานกว่าที่กําหนด" นพ.ธเรศกล่าว
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่พบมากในหญิงไทยเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม โดยหญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงถึงปีละเกือบหมื่นราย มีอัตราเสียชีวิตเกิน 50% การป้องกันด้วยวัคซีน HPV เป็นแนวทางการป้องกันโรคมีประสิทธิภาพที่สุด ควรฉีดตั้งแต่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นเมื่อไทยยังไม่มีวัคซีนที่เพียงพอสำหรับทุกกลุ่มเป้าหมาย กรมควบคุมโรคจึงจำเป็นต้องวางแผนบริหารจัดการวัคซีน HPV ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับการฉีดเข็มที่ 1 ให้ครอบคลุมมากที่สุด โดยจะใช้วิธีฉีดเข็มที่ 1 ปูพรมในการเก็บตกโดยให้เด็กที่อายุสูงที่สุดก่อน เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มเป้าหมาย ระหว่างรอวัคซีนที่จะจัดหาเพิ่มเติมโดยเร็ว ทั้งนี้ การบริหารจัดการวัคซีนได้เป็นไปตามคำแนะนําของคณะอนุกรรมการฯ และสอดคล้องกับข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก
ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า จากการสอบถามไปยังบริษัทผู้ผลิต ได้รับหนังสือยืนยันว่า ในปี 2566 และ 2567 บริษัทผู้ผลิตสามารถจัดหาวัคซีน HPV ได้เพียงพอสำหรับการฉีดเก็บตกในเด็กนักเรียน ชั้น ป.5 ที่ตกค้างได้ ยืนยันว่าวัคซีน HPV ที่จัดหาใช้ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย มีประสิทธิภาพสูง สามารถครอบคลุมสาเหตุของการเกิดโรค มะเร็งปากมดลูกได้ดี โดยเฉพาะหากฉีดก่อนการมีเพศสัมพันธ์