xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เผยทีมกู้ภัยแผ่นดินไหวถึง "ตุรกี" แล้ว เร่งเข้าพื้นที ประเมินความเสียหาย ก่อนพิจารณาส่งทีมช่วยเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.เผยทีมค้นหากู้ภัยแผ่นดินไหวถึง "ตุรกี" แล้ว เตรียมเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย ประเมินสถานการณ์ ขนาดภัยพิบัติ และโครงสร้างพื้นฐาน ความเสียหายทางการแพทย์ ส่งกลับมายังวอร์รูม ประเมินการจัดทีมและความช่วยเหลือที่เหมาะสม ระบุทีม Thailand EMT ที่จะส่งไปช่วยเพิ่ม เป็น Level1+ กระจายตั้งจุดดูแล ช่วยเซตระบบการแพทย์ได้

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการจัดส่งทีมแพทย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวประเทศตุรกี ว่า เมื่อคืนวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีการจัดส่งทีมค้นหากู้ภัยหรือทีม Urban Search and Rescue (USAR) นำโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แล้ว จำนวน 42 คน ซึ่งมีแพทย์ พยาบาลกู้ชีพ และเวชกิจฉุกเฉิน จำนวน 3 คนจากกรมการแพทย์ร่วมเดินทางไปด้วย ซึ่งระหว่างเดินทาง พนักงานสายการบินได้ประกาศให้ผู้โดยสารทราบ ก็มีการปรบมือให้เกียรติที่ทีมประเทศไทยที่เดินทางไปช่วยเหลือ ทั้งนี้ ทีมดังกล่าวถือเป็นทีมส่วนหน้า ขณะนี้เดินทางถึงอิสตันบูลแล้ว โดยจะเข้าไปช่วยค้นหากู้ชีพผู้ประสบภัย และประเมินสถานการณ์ ขนาดของภัยพิบัติ ระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ส่งข้อมูลเหล่านี้กลับมา ซึ่ง สธ.ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการหรือวอร์รูมระดับกระทรวง กรณีการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวประเทศตุรกีแล้ว เพื่อนำมาประมวลเพื่อจัดการสนับสนุนความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องเหมาะสม


นพ.ณรงค์กล่าวอีกว่า สำหรับการสนับสนุนด้านเวชภัณฑ์และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ที่ตุรกีร้องขอมาประมาณ 215 รายการ เราประเมินและกำหนดเวชภัณฑ์ที่เหมาะสมแล้วประมาณ 20 กว่ารายการ ทั้งตุรกีและซีเรีย ซึ่งวงเงินเกือบ 3 ล้านบาท โดยจะประสานผ่านกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศในการของบกลางจัดซื้อ โดยจะจัดซื้อจัดจ้างให้เร็วที่สุด เพื่อเร่งส่งไปสนับสนุน ส่วนทีมแพทย์ทหารจำนวน 25 นาย หรือทีม MERT มีการเตรียมทีมแล้ว คาดว่าจะเดินทางในช่วงวันที่ 11 หรือ 12 ก.พ.นี้ และในส่วนของทีม Thailand EMT (Emergency Medical Team) อยู่ระหว่างการคัดเลือกตัวบุคคลและตรวจสอบอุปกรณ์ที่จำเป็น

"จริงๆ ทางตุรกีร้องขอทีม EMT Level2 ที่สามารถตั้ง รพ.สนาม มีการผ่าตัดได้ ซึ่งเราไม่มีทีมระดับนี้ขึ้นทะเบียนกับองค์การอนามัยโลก มีแต่ Level 1 แต่ทีมของไทยก็สามารถช่วยสนับสนุนได้ โดยเบื้องต้นต้องรอข้อมูลต่างๆ จากทางทีมส่วนหน้าก่อน เพื่อที่จะจัดทีมที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ ทีมที่เราส่งไปก็จะเป็นลักษณะ Level 1+ จะดูความเสียหายของระบบทางการแพทย์ คลินิกเข้าถึงผู้ป่วยได้หรือไม่ อาจจะต้องตั้งเป็นคลินิกย่อยๆ แบบโมบายหรือเคลื่อนที่เข้าไปตามชุมชน เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของอาคาร มีระบบการส่งต่อ รวมถึงช่วยเซตระบบที่เสียหาย หรือส่งแพทย์เข้าไปช่วยใน รพ. โดยจะออกแบบการช่วยเหลือให้มีความสอดคล้อง มีการสื่อสารติดตามข้อมูลกันอย่างต่อเนื่อง เพราะเรามีประสบการณ์การเซตระบบตอนแผ่นดินไหวที่เนปาล" นพ.ณรงค์กล่าว


นพ.ณรงค์กล่าวว่า สำหรับแพทย์ที่ส่งไปก็จะต้องให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งหลักๆ แผ่นดินไหวจะเป็นเรื่องของการกู้ชีพ บาดแผล กระดูก ก็จะเป็นเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ออร์โธปิดิกส์ ศัลยกรรม อายุรแพทย์ ซึ่งจะมีความสำคัญแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา อาจจะมีในส่วนของกุมารแพทย์ที่ดูแลเด็ก ระยะต่อไปก็อาจจะต้องเป็นจิตแพทย์ที่ช่วยดูแลด้านจิตใจด้วย สิ่งสำคัญคือเราต้องบริหารจัดการเพื่อให้ทีมที่ส่งไปมีความปลอดภัยในการทำงานมากที่สุด เพราะต้องเผชิญกับอุณหภูมิติดลบ ความแตกต่างทางภาษา วัฒนธรรม นอกจากนี้ เท่าที่มีการติดตามสถานการณ์โดยทีม SAT ก็พบว่ามีการรายงานอหิวาต์ในบางจุด ส่วนของประเทศซีเรียเนื่องจากไม่มีสถานทูตและไม่มีการร้องขอที่ชัดเจน ก็อาจจะต้องประสานผ่านสถานทูตในอิหร่านถึงความต้องการช่วยเหลือ














กำลังโหลดความคิดเห็น