จิตแพทย์ชี้ ความรุนแรงทำร้ายร่างกายในครอบครัว สร้างบาดแผลทางใจระยะยแนะใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขความรุนแรงในครอบครัว เปิดทางคนนอกช่วยได้ไม่ต้องรอร้องขอ มุ่งช่วยผู้ถูกกระทำ และ ผู้กระทำ บำบัดรักษา เยียวยาหยุดพฤติกรรม
เมื่อวันที่ 9 ก.พ. นพ.ยงยุทธ วงค์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายจนเกิดปมในใจ ว่า การใช้ความรุนแรงในครอบครัว ทำร้ายร่างกาย จะสร้างความทรงจำฝังใจได้ ทำให้เกิดอาการหวาดกลัว หวาดผวา ซึ่งต้องได้รับการดูแลบำบัดรักษา มิเช่นนั้นอาจทำให้การใช้ชีวิตไม่ปกติ ทั้งนี้ อยากให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาและความรุนแรงในครอบครัว โดยปัจจุบันประเทศไทยมี พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขความรุนแรงในครอบครัว ที่แม้ถูกกระทำรุนแรง แต่ก็เปิดช่องให้ผู้พบเห็นเหตุการณ์สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้ โดยไม่จำเป็นต้องร้องขอความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้าน เพื่อนที่ทำงาน หากพบเห็นความรุนแรง ตาม พ.ร.บ.นี้ สามารถยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือได้
"อย่างน้อยเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายนี้ จะช่วยได้ทั้งผู้ถูกกระทำ และผู้กระทำ เพราะบางครั้งความรุนแรงในครอบครัว ก็เกิดจากผู้ที่มีความผิดปกติ หรือ เป็นผู้ป่วย เป็นผู้กระทำ เกิดการบังคับบำบัดรักษา และช่วยหยุดยับยั้งพฤติกรรม" นพ.ยงยุทธกล่าว
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า บาดแผลทางใจเมื่อเป็นแล้ว ก็จะใช้เวลานานกว่าจะหาย บางคนหวาดผวา บางคนฝันร้าย ดังนั้น เมื่อมีเครื่องมือมาใช้แก้ไขความรุนแรงในครอบครัวก็ควรนำมาใช้ เพราะ พ.ร.บ.แก้ไขความรุนแรงในครอบครัว ไม่ได้มุ่งเอาผิดใครคนใดคนหนึ่ง แต่มุ่งเข้าไปช่วยเหลือ ยับยั้งมิให้เกิดความรุนแรง และช่วยให้คนเห็นเหตุการณ์ คนใกล้ชิด ตระหนักที่จะเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาในครอบครัว การที่ผู้ถูกกระทำ ประสบเหตุความรุนแรงในครอบครัว แต่ไม่อาจก้าวพ้นออกจากครอบครัวนั้นได้ สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะมาจากครอบครัวปิด เช่น กลัวการเป็นข่าว หรือการถูกเปิดเผยเรื่องในครอบครัว ทำให้ต้องจำทน แต่เมื่อใช้ พ.ร.บ.นี้จะทำให้การแก้ไขปัญหาง่ายขึ้น