xs
xsm
sm
md
lg

แรงบันดาลใจ “อธิศ สุขสิงห์” จากเด็กไม่เก่งภาษาอังกฤษ สู่ตัวแทนนักเรียนไทย ร่วมแคมเปญระดับโลกการศึกษานิวซีแลนด์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในอดีตวัยเด็กเรามักจะเจอคำถามบ่อยครั้งว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร และคำตอบส่วนใหญ่ก็มักจะเป็น แพทย์ วิศวกร ครู พยาบาล ตำรวจ ทหาร นักบิน หรือแอร์โอสเตส พ่อแม่ก็มักจะให้เดินตามเส้นทางนั้น แต่ในปัจจุบันเด็กยุคใหม่มักจะค้นหาศักยภาพในตัวเองและสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อเลือกสิ่งที่ชอบและอาชีพที่ใช่สำหรับตนเองในอนาคต

เช่นเดียวกับ “น้องเชน-อธิศ สุขสิงห์” ตัวแทนนักเรียนไทยในนิวซีแลนด์ ที่ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 8 นักเรียนต่างชาติให้ร่วมแคมเปญระดับโลกของการศึกษานิวซีแลนด์ ถือเป็นอีกหนึ่งคนรุ่นใหม่ที่มีอิสระทางความคิดและการเรียนที่พยายามค้นหาความถนัดและความชอบของตนเองเพื่อเดินตามฝัน วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับเส้นทางการเรียนของน้องเชน เพื่อเป็นแนวทางและสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ

จุดเริ่มต้นจากเด็กไม่เก่งภาษาอังกฤษ


น้องเชน เล่าว่า เรียนและใช้ชีวิตอยู่ที่นิวซีแลนด์มา 7 ปีแล้ว เส้นทางการเรียนในนิวซีแลนด์ เริ่มต้นจากการไปเรียนภาษาอังกฤษในช่วงซัมเมอร์ตอนเรียนมัธยมต้น (ม.1) เมื่อได้ไปใช้ชีวิตและเรียนภาษาอังกฤษในระบบการศึกษานิวซีแลนด์ ทำให้ได้สัมผัสการเรียนการสอนที่เน้นความต้องการ หรือเป้าหมายของผู้เรียนเป็นหลัก บรรยากาศการเรียนอบอุ่น การแข่งขันต่ำ นักเรียนให้ความช่วยเหลือกัน จึงตัดสินใจกลับไปเรียนต่อจนจบมัธยมศึกษาตอนปลายที่นิวซีแลนด์

“จุดเริ่มต้นมาจากผมอยากพัฒนาภาษาอังกฤษ เพราะผมมีปัญหามาแต่เด็ก ทั้งแกรมม่า การสื่อสาร และการออกเสียง ทำให้ขาดความมั่นใจ จริงๆแล้วผมเรียนโรงเรียนสองภาษา (Bilingual) มาตั้งแต่อนุบาล และเมื่อย้ายไปโรงเรียนอินเตอร์ฯตอนม.1 พบว่าภาษาอังกฤษผมไม่ทันเพื่อน คุณพ่อคุณแม่จึงแนะนำให้ไปเรียนภาษาอังกฤษที่นิวซีแลนด์ในช่วงซัมเมอร์ เพราะด้วยสิ่งแวดล้อมจะช่วยให้พัฒนาได้ดีกว่าและได้เปิดประสบการณ์ชีวิตใหม่ๆด้วย พอได้ไปเรียนทำให้มั่นใจขึ้น นักเรียนที่โน่นเขาจะให้ความช่วยเหลือกัน ไม่ค่อยมีการแข่งขันกันเหมือนบ้านเรา ทุกคนเป็นมิตรเฟรนด์ลี่มาก อบอุ่น ไม่กดดัน เรียนภาษาอยู่ประมาณเดือนครึ่ง ก็กลับมาเรียนอินเตอร์ฯต่อที่ไทยอีก 2 ปี จนจบม.3 และเมื่อสอบ ESL ผ่าน ก็เลยตัดสินใจไปต่อไฮสคูลที่นิวซีแลนด์จนจบมัธยมปลายครับ”

จุดเปลี่ยนค้นหาสิ่งที่ใช่สำหรับตนเอง


น้องเชน ยังบอกอีกว่า ช่วงเรียน High school (มัธยมปลาย) ตอนแรกอยากเป็นหมอ อยากเรียนทางด้าน Bio Chemistry แต่พอได้เรียน Bio Chemistry ในคอร์สของ High school แล้วพบว่าไม่เหมาะกับความถนัดของตนเองเพราะไม่ชอบการเรียนวิชาแบบท่องจำ แต่ชอบการเรียนแบบเอาความรู้มาประยุกต์ใช้มากกว่า หลังเรียนจบ High school น้องเชนเลยปรับทิศทางใหม่ ตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็อยากให้ลองอะไรใหม่ๆ เพื่อค้นหาตัวเอง ก็ได้มีโอกาสไปช่วยทำธุรกิจโรงแรมของเพื่อนคุณพ่อที่ภูเก็ต นั่นจึงเป็นจุดเปลี่ยนเบนสู่สายธุรกิจ และเลือกเรียนตามความชอบของตัวเอง คือสาขา “การบริหารจัดการโรงแรม” (Hospitality Management) ที่ควีนส์ทาวน์ รีสอร์ต คอลเลจ เป็นเวลา 2 ปี และจึงมาศึกษาต่อในคณะพาณิชยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโอทาโกจนถึงปัจจุบัน

“ผมโชคดีที่คุณพ่อคุณแม่ให้อิสระในการตัดสินใจและคอยส่งเสริมให้ได้เรียนในสิ่งที่ชอบและใช่สำหรับตัวเรา และการที่ผมได้มีโอกาสเรียนใน College ทางด้านการโรงแรม แล้วค่อยมาเข้ามหาวิทยาลัย ถือเป็นช่วงเวลาในการค้นหาตัวเอง ซึ่งการเรียนที่นิวซีแลนด์ ทำให้เราได้มีโอกาสลองผิดลองถูก เพื่อค้นหาตัวเอง ได้มีโอกาสลองเรียนดีกรีย่อยไปก่อน เพื่อจะดูว่าเราชอบทางด้านไหนจริงๆ ถ้าจะไปต่อ ก็ไปสายมหาวิทยาลัย หรือบางคนก็จะไปสายอาชีพเลย ซึ่งจะสามารถโอนเครดิตได้ด้วย ทำให้ไม่เสียเวลา และเกิดความต่อเนื่องในการเรียนได้”

1 ใน 8 ตัวแทนนักเรียนต่างชาติในนิวซีแลนด์


ปัจจุบัน “น้องเชน” กำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี เรียนอยู่ปี 3 คณะพานิชยศาสตร์ สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2565) น้องเชนได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนนักเรียนไทย เป็น 1 ใน 8 ตัวแทนนักเรียนต่างชาติในนิวซีแลนด์ เพื่อร่วมแคมเปญระดับโลก I AM NEW 2022 ของ Education New Zealand (ENZ) ซึ่งเป็นหน่วยงานการศึกษาของรัฐบาลนิวซีแลนด์ ร่วมกับตัวแทนนักเรียนต่างชาติจากอีก 7 ประเทศ ได้แก่ จีน, สหรัฐฯ, โคลอมเบีย, เยอรมนี, อินเดีย, ญี่ปุ่น และเวียดนาม เพื่อร่วมแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์การศึกษาต่อในประเทศนิวซีแลนด์ และผสมผสานวัฒนธรรมบ้านเกิดกับวัฒนธรรมท้องถิ่นของนิวซีแลนด์

“น้องเชน” บอกว่า ด้วยระบบการศึกษานิวซีแลนด์ที่มีตัวเลือกมากมายให้กับนักเรียนต่างชาติได้เลือกเรียนตามชอบความถนัด ทำให้เขาได้มีโอกาสเลือกเรียนสิ่งที่เหมาะสมกับเขาจริงๆ อันจะเป็นประโยชน์ในการบรรลุเป้าหมายในชีวิตของตัวเองได้ โดยไม่ต้องไปเสียเวลากับวิชาที่ไม่มีความจำเป็นกับเส้นทางของเขาในอนาคต

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษานิวซีแลนด์ ดูได้ที่ www.studywithnewzealand.govt.nz
กำลังโหลดความคิดเห็น