"สาธิต" เผยอีอีซีตั้ง คกก.คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน รพ.ปลวกแดง 2 แล้ว มีปลัด สธ.ประธาน เตรียมออกสเปค ทีโออาร์ ประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วม แย้มมีเอกชนสนใจแล้ว 4 ราย ส่วนอาคารหลังแรกด้วยงบ สธ. 230 ล้านบาท ได้ชะลอก่อสร้าง รอการแก้ไขแบบจากทางเอกชน เน้นอีอาร์โอพีดี ตั้งเป้ารักษาโรคจากการประกอบอาชีพ เชื่อมโยงดูแลคนจาก "ซิลิคอนวัลเลย์วังจันทร์"
เมื่อวันที่ 4 ก.พ. นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการโครงการยกระดับ รพ.ปลวกแดง 2 ด้วยรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) เป็นแห่งแรก ว่า เดิมจะมีการนำเสนอเข้า ครม.รับทราบ แต่ล่าสุดไม่ต้องเสนอแล้ว สามารถเดินหน้าได้ทันที โดยรักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้ลงนามในคำสั่งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่ 1/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการยกระดับ รพ.ปลวกแดง 2 ให้มีศักยภาพเป็น รพ.ทั่วไปขนาดเล็ก (M1) และมีมาตรฐาน รพ.คู่สัญญาของประกันสังคมแล้ว โดยมีปลัด สธ.เป็นประธาน ผู้แทนจาก สธ. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการ ซึ่งจะทำหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุน (TOR) ก่อนประกาศเชิญชวน พร้อมคัดเลือกเอกชน เจรจา และจัดทำร่างสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนที่ได้รับการคัดเลือก
"จากหนังสือแต่งตั้งให้คณะกรรมการชุดนี้ กำหนดคุณสมบัติและประกาศเชิญชวน ผมก็จะหารือให้คณะกรรมการชุดนี้ ทำทั้ง 2 เรื่องไปพร้อมกันได้หรือไม่ ถ้าทำคู่ขนานได้จะประหยัดเวลา หากไม่ได้อาจกินเวลาไปถึง มี.ค.-เม.ย. เพื่อกำหนดวันให้เอกชนมาประมูล ซึ่งหลังจากที่มีการแถลงข่าวเรื่องนี้ไปมีเอกชนสนใจจำนวนมากที่จะร่วมประมูล ก็ติดต่อมาประมาณ 4 ราย" นายสาธิตกล่าว
นายสาธิตกล่าวว่า สำหรับการก่อสรางอาคารหลังแรกของ รพ.ปลวกแดง 2 สธ.ได้รับงบผูกพัน 2 ปี จำนวน 230 ล้านบาทในการก่อสร้าง ซึ่งเป็นแบบก่อสร้างของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เหมือน รพ.ทั่วไป ที่จะมีห้องไอซียูจำนวนมาก แต่จากการที่คณะกรรมการอีอีซีได้มีการปรึกษาหารือกับทางเอกชน จะต้องมีการปรับแก้ไขแบบ เพื่อให้สะดวกต่อการบริหารจัดการของภาคเอกชนที่จะเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งเขาจะเน้นการทำอุบัติเหตุฉุกเฉินเป็น ER OPD ขนาดใหญ่ ที่รองรับคนได้จำนวนมาก มีความทันสมัย และคำนึงถึงการใช้พื้นที่พาณิชย์ต่างๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ จึงชะลอการก่อสร้างไว้ก่อน โดยก่อสร้างขึ้นมาเฉพาะตัวโครงสร้าง แต่จะยังไม่มีการกั้นห้องต่างๆ เพื่อรอการแก้ไขแบบจากทางเอกชนที่จะเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งตรงนี้ไม่มีปัญหาในเรื่องของการใช้งบประมาณไม่ตรงตามที่ขอ เนื่องจากเรายื่นแก้ไขแบบ ส่วนปัญหาผู้รับเหมาเนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่ได้ทำตามงวดงาน เมื่อเรามีการฟรีซแล้วเขามาเร่งสร้างก็ทันกัน และรอไว้ก่อนได้จนกว่าจะมีแบบใหม่ ซึ่งตรงนี้เราไม่ต้องเสียงบประมาณเพิ่ม และจะทำให้เขาไม่โดนค่าปรับและทำให้เขาเสร็จตามกำหนดระยะเวลา
"ตึกแรกก็จะเน้นไปที่อุบัติเหตุผู้ป่วยนอก ส่วนไอซียู ผู้ป่วยใน หรือการรักษาโรคซับซ้อนมากขึ้น ก็อาจจะเน้นไปในตึก 2-3 ที่จะก่อสร้างตามมา ซึ่งทางเอกชนที่จะเสนอเข้าร่วมประมูลก็จะต้องมีการเสนอรูปแบบบริหารจัดการงานริการทั้ง 3 อาคารเข้ามา รวมถึงค่าเช่าอัตราที่จะต้องแบ่งปันให้กับรัฐ ซึ่งเรามีตัวเลขขั้นต่ำคือ 567 ล้านบาท หากรายใดให้สูงกว่า คุณสมบัติครบถ้วน ก้จะพิจารณาให้ชนะโครงการ" นายสาธิตกล่าว
นายสาธิตกล่าวว่า รพ.ปลวกแดง 2 เมื่อเปิดเต็มศักยภาพ จะมีความคุ้มค่าอย่างมาก เพราะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากการที่มีเอกชนมาลงทุน ได้สถานพยาบาลที่ทันสมัย ช่วยรักษาคนในพื้นที่ ทั้งสิทธิประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมมี 4 แสนคน มีสิทธิประกะนสังคม 2 แสนสิทธิ ซึ่งจะต้องเดินทางข้ามจังหวัดไปใช้บริการที่ รพ.ชลบุรี หรือไป รพ.ระยอง ทำให้ลดการเดินทาง ลดค่าใช้จ่าย และลดความแออัดของ รพ.ทั้ง 2 แห่ง นอกจากนี้ เราตั้งเป้าหมายให้เป็นศูนย์อาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์ป้องกัน ซึ่งจะมี รพ.มาบตาพุดเป็นพี่เลี้ยง ช่วยรับมือกับโรคจากการทำงาน ส่วนอุบัติเหตุโรงงานอุตสหากรรม ไฟไหม้ สารพิษรั่วต่างๆ นั้นจะมี รพ.ระยองเป็นหน่วยหลักในการดูแลอยู่แล้ว นอกจากนี้ จะเชื่อมโยงกับซิลิคอนวัลเลย์ที่วังจันทร์ ซึ่งบริเวณนั้นมี รพ.วังจันทร์เป็น รพ.ชุมชนเล็กๆ ซึ่ง รพ.ปลวกแดง 2 อยู่ไม่ไกล 30 กิโลเมตรก็จะเชื่อมโยงกับ รพ.วังจันทร์ในการรับดูแลรักษาด้วย ไม่ต้องออกนอกจังหวัด
สำหรับการขยายรูปแบบนี้ไปยังพื้นที่อื่นในเชิงกฎหมายยังทำไม่ได้ง่ายๆ อย่างพื้นที่อีอีซีภาคตะวันออกเอง เราเคยดู รพ.พุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา แต่เข้าไปดูแล้ว สิทธิประกันสังคมไม่มากพอจะลงทุนได้ โรงงานส่วนใหญ่อยู่ฝั่งชลบุรีและระยอง หากจะเกิดขึ้นก็อาจจะเป็นพัทยาแต่ยังต้องติดตามรอดูก่อน อย่างไรก็ตาม หากขับเคลื่อน รพ.ปลวกแดง 2 ประสบความสำเร็จก็จะเป็นโมเดลต้นแบบในการที่คณะกรรมร่วมภาครัฐและเอกชนในการพิจารณาโครงการ PPP ในพื้นที่อื่นๆ ของ สธ.ที่ไม่ต้องผ่านช่องทาง EEC เพราะเกิดขึ้นจริงแล้วก็จะพิจารณาได้ง่าย ซึ่งก่อนหน้านี้เราเคยเสนอทำ รพ.ร่วมทุนของกรมการแพทย์ที่ขอใช้พื้นที่การรถไฟตรงหมอชิต 2 แต่ไม่ผ่านคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน จึงล้มเลิกไป ก่อนที่จะนำประสบการณ์เรื่องนี้มาใช้กับการยกระดับ รพ.ปลวกแดง 2