การส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน สร้างประสบการณ์และแรงบันดาลใจให้กับโรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งภาคเอกชนอย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มีโอกาสร่วมพัฒนาการศึกษาของไทย ด้วยการส่งมอบความรู้ และทักษะด้านอาชีพถ่ายทอดให้กับน้องๆ โรงเรียนในความรับผิดชอบ ภายใต้ "โครงการสานอนาคตการศึกษา คอนน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED)"
โรงเรียนบ้านบุเขว้า จังหวัดนครราชสีมา เป็นโรงเรียนขนาดกลางที่มีจำนวนนักเรียน 126 คน คุณครู 12 ท่าน และเป็น 1 ใน 298 โรงเรียน ที่ซีพีเอฟดูแล โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัทฯ ดำเนินโครงการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ในปีการศึกษา 2562 และดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องด้วยตัวเอง ด้วยเงินทุนหมุนเวียนจากการจำ หน่ายผลผลิตไข่ไก่ในโครงการฯ
ผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินโครงการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ เข้ามาเสริมโครงการยุวเกษตรที่โรงเรียนดำเนินการอยู่แล้วให้แข็งแกร่งและยั่งยืน ส่งผลให้กลุ่มยุวเกษตรของโรงเรียน ได้รับรางวัลที่ 1 สถาบันเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ ประเภทกลุ่มยุวเกษตรกร และได้รับรางวัลที่ 1 บุคคลทางการเกษตรดีเด่นระดับประเทศ ประเภท ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร โดยได้เข้ารับพระราชทานรางวัลในวันพืชมงคล ประจำปี 2565
นายอนันต์ ขำโพธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบุเขว้า กล่าวว่า โรงเรียนฯขอขอบคุณโครงการสานอนาคตการศึกษา คอนน็กซ์ อีดี โดยมีซีพีเอฟเข้ามาสนับสนุนโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ ทำให้นักเรียนได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ และปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเกษตรกรรม สร้างนิสัยรักการทำงานจากการที่นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติจริง ทำให้เกิดทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ก่อให้เกิดรายได้ระหว่างเรียนหรือสามารถนำไปประกอบอาชีพในอนาคตได้ รวมทั้งได้สืบสานตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ กิจกรรมของกลุ่มยุวเกษตรกรใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียน ชุมชน และกลุ่มยุวเกษตรกรเครือข่ายทั้งในอำเภอและจังหวัดนครราชสีมา โดยสมาชิกยุวเกษตรกรสามารถให้ข้อมูลและถ่ายทอดความรู้ในแต่ละกิจกรรมให้กับผู้ที่เข้ามาศึกษาเยี่ยมชมได้
คุณครูประทุมรัตน์ จงคูณกลาง คุณครูที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตร รร.บ้านบุเขว้า เล่าว่า กลุ่มยุวเกษตรของโรงเรียนมีสมาชิก 35 คนเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ที่สนใจกิจกรรมด้านเกษตร โดยที่กลุ่มยุวเกษตรมีการแบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 ส่วน คือ งานรวม ประกอบด้วย ปลูกข้าว ปุ๋ยหมัก สหกรณ์ และออมทรัพย์
งานกลุ่มย่อย อาทิ การเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ เพาะเห็ด เลี้ยงปลาดุก ปลูกไม้ผล และงานส่วนบุคคล เป็นกิจกรรมที่เด็กๆเรียนรู้จากที่โรงเรียน และนำไปใช้ต่อที่บ้าน เช่น การเลี้ยงไก่ นอกจากนี้ เด็กๆ ได้เรียนรู้ช่องทางการจำหน่ายผลผลิต อาทิ ผลผลิตไข่ไก่ ที่นำมาขายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยให้เด็กๆ ไลฟ์ผ่านเพจ เฟซบุ๊กของโรงเรียน https://www.facebook.com/bukwau?mibextid=ZbWKwL
"โรงเรียนนำโครงการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟ เป็นโครงการชูโรงในการเข้าประกวดรางวัลเชิดชูเกียรติเกษตรกร บุคคลทางการเกษตร และสถาบันเกษตรกรดีเด่น ประจำปี 2565 และทำให้โรงเรียนประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัลสถาบันเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ เป็นโครงการที่ทำให้เด็กๆ มีช่องทางในการประกอบอาชีพที่หลากหลาย เด็กนักเรียนได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง และนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง " คุณครูประทุมรัตน์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรของ รร.บ้านบุเขว้า กล่าว
ด.ช. ธณัฐพล บ่อกลาง หรือน้องเนย นักเรียนชั้น ป.6 ประธานกลุ่มยุวเกษตรกร เล่าว่า น้องๆชั้น ป. 5 จำนวน 20 คน ได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ทำให้ได้เรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่ตลอดกระบวนการ ทั้งการให้อาหารไก่ ให้น้ำ สังเกตอาการของไก่ เก็บผลผลิตไข่ไก่ ทำความสะอาดโรงเรือน เก็บมูลไก่เพื่อนำไปทำปุ๋ย รวมไปถึงการถ่ายทอดประสบการณ์ให้น้องๆ เช่น การชั่งน้ำหนักของไข่ตามเบอร์ โครงการนี้่ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบเพื่อนำมาทำอาหารกลางวันให้กับนักเรียน และผมได้นำประสบการณ์เเรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่ไปใช้กับการเลี้ยงไก่ที่บ้าน
ทางด้านด.ญ. ลลิตภัทร โอโน หรือ น้องวิ้ง กำลังศึกษาชั้น ป. 6 เช่นเดียวกับน้องเนย และเป็นเลขาฯกลุ่มยุวเกษตร กล่าวว่า ได้เรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่มาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ป.5 ซึ่งโรงเรียนของเราให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่เปรียบเทียบกันระหว่างการเลี้ยงแบบปล่อยซึ่งมีพี่ๆซีพีเอฟมาให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยง และที่โรงเรียนยังได้เลี้ยงไก่แบบกรงตับด้วย คุณครูเล่าให้ฟังว่าโครงการยุวเกษตรและโครงการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ทำให้กลุ่มยุวเกษตรของโรงเรียนได้รับรางวัลฯ รู้สึกภูมิใจ และคิดว่าหลังจากที่จบการศึกษาจากโรงเรียนนี้ไปแล้ว จะนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้กับเพื่อนๆที่โรงเรียนแห่งใหม่ เป็นตัวอย่างของโรงเรียนอื่นได้และบอกต่อให้คนอื่นๆสามารถนำความรู้ไปใช้ได้
ซีพีเอฟ เป็น 1 ใน 12 องค์กรภาคเอกชนที่ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์ อีดี ยกระดับการพัฒนาการศึกษาของไทย ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งปัจจุบัน มีโรงเรียนในความดูแลของบริษัทฯ 298 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และสระบุรี โดยในปี 2566 นี้ ซีพีเอฟ มีเป้าหมายขับเคลื่อนโครงการคอนเน็กซ์ อีดี โดยเน้นโครงการด้านวิชาการควบคู่กับโครงการที่ส่งเสริมทักษะอาชีพให้กับเด็กๆ โดยนอกจากบริษัทฯ สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของโรงเรียนในความดูแลแล้ว ยังได้สนับสนุนให้พนักงานสมัครเป็นผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษา (School Partner :SP)เพื่อเป็นคู่คิดกับผู้บริหารของสถานศึกษา จัดทำแผนพัฒนาโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดีให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ มุ่งสร้างเด็กดีและเด็กเก่ง เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป